ชิงเสนอ ครม. ในช่วง ‘วิกฤติ’ ทร.รีบแจงวุ่น ก่อนถอนวาระ

“กลาโหม” สวนกระแสสงคราม โควิด-19 ชง ครม.ขออนุมัติจัดหา เรือยกพลขึ้นบกวงเงิน 6,100 ล้าน “บิ๊กช้าง” รีบถอนเรื่องออกแทบไม่ทัน กองทัพเรือแจงวุ่นไม่ได้ขออนุมัติใหม่ แต่ผ่าน ครม.และทำสัญญาไปแล้วตั้งแต่ พ.ย.62 เป็นเรือพี่เลี้ยงของเรือดำน้ำจีน ฝ่ายค้านรุมยำเละไม่สมควรทำ “วิโรจน์” ฉะควรเอางบฯ 5,000 ล้าน ไปซื้ออุปกรณ์การแพทย์สู้ไวรัสมรณะ เชิญชวนคนไทยติดแฮชแท็ก “กูสั่งให้มึงเลิกซื้ออาวุธ” สะท้อนใส่หูรัฐบาล “อนุดิษฐ์” ตอกนาทีนี้โควิดเท่านั้น คือเรื่องเร่งด่วน “วิสาร” แซะรีบปล่อยเงินซื้อชุดป้องกัน เชื้อให้หมอ-พยาบาลใส่แทนเสื้อกันฝน “อนุสรณ์” บี้ “ประยุทธ์” ต้องตอบเคลียร์ประชาชน จวกมีปัญหา จัดลำดับความสำคัญมาตลอด กกต.ขบไม่แตกโยนฝ่าย ก.ม.ดูเลื่อนประชุมใหญ่สามัญพรรค

ขณะที่รัฐบาลเร่งหามาตรการและจัดสรรงบประมาณในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยพิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จากทุกกระทรวง 10 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งเร่งดำเนินการออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน แต่กระทรวงกลาโหมกลับสวนกระแสมีการเสนอที่ประชุม ครม.ขออนุมัติจัดซื้อโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ วงเงิน 6,100 ล้านบาท แม้ในที่สุดจะมีการถอนเรื่องออกไป

...

“บิ๊กตู่” วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ถก ครม.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ความเคลื่อนไหวและบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล หลังพบมีบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ฝ่ายประสานงานประจำศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอยู่ระหว่างสอบสวนโรคผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวและพบเดินทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามปกติ เวลา 09.00 น. มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน โดยเป็นการประชุม ครม.ระบบทางไกลผ่านจอภาพหรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 เชื่อมไปยังรัฐมนตรีที่ประจำอยู่แต่ละกระทรวง ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อป้องกันแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ในทำเนียบฯมีเพียง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายสมคิด จาตุ-ศรีพิทักษ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกฯที่เข้ามาทำงาน

สื่อลดฮวบหลังทำเนียบฯคุมสุดเข้ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อมวลชนที่มาปฏิบัติหน้าที่ภายในทำเนียบรัฐบาลว่ามีจำนวนน้อยลงมาก หลังสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกฯ ขอความร่วมมือไปยังผู้บริหารและบรรณาธิการของทุกสำนัก พิจารณาความปลอดภัยในการส่งผู้สื่อข่าวมาปฏิบัติหน้าที่ บางสำนักลดจำนวนส่งผู้สื่อข่าวมาทำหน้าที่ให้สลับกันมา บางสำนักให้ผู้สื่อข่าวทั้งหมดอยู่บ้าน ติดตามทำข่าวผ่านช่องทางสื่อต่างๆของรัฐแทน สื่อโทรทัศน์ลดเหลือเพียงทีมเดียวมาประจำ ควบคู่มาตรการห้ามผู้สื่อข่าวดักหรือรุมสัมภาษณ์ ยกเลิกกำหนดจุดให้สัมภาษณ์ จำกัดบริเวณสื่อมากขึ้นขอให้อยู่เพียงหน้าห้องผู้สื่อข่าวเท่านั้น ส่วนการแถลงข่าวของนายกฯหลังประชุม ครม.ที่ห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 เปลี่ยนเป็นไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า ไม่อนุญาตให้ช่างภาพและผู้สื่อข่าวเข้าทำข่าว แต่ยังเปิดให้ผู้สื่อข่าวส่งคำถามนายกฯผ่านทีมงานนายกฯได้ตามปกติ ภาพดาวน์โหลดผ่านทาง Google Drive ส่วนการแถลงมติ ครม.ทีมโฆษกประจำสำนักนายกฯ จะเปลี่ยนมาแจกเป็นเอกสาร รวมถึงส่งมติผ่านกลุ่มไลน์ผู้สื่อข่าวทำเนียบฯ

นายกฯเผยกำลังทำ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน

ต่อมาเวลา 13.25 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงตอนหนึ่งถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ภายหลังประชุม ครม.ว่า เข้าใจว่าผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นนานพอสมควร เราจะมีมาตรการระยะ 3 ถึง 4 ออกมา ได้ให้มีการพิจารณาในช่วงวงรอบ 3 เดือน ส่วนการใช้จ่ายงบประมาณ รัฐบาลจำเป็นต้องจัดการงบประมาณทั้งภายในและภายนอก ทั้งงบประมาณปี 63 และออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้มีเม็ดเงินเพียงพอ เราพยายามทำอย่างเต็มที่ ทุกมาตรการต้องดูว่าใช้เงินอย่างไร หาเงินจากที่ไหน ให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

กห.ถอนวาระชงซื้อเรือยกพลขึ้นบก

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ใน ระเบียบวาระเพื่อพิจารณาเรื่องที่ 1 กระทรวงกลาโหม ได้เสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ โครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำระยะที่ 1 จำนวน 1 ลำ วงเงิน 6,100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ได้ขอถอนเรื่องดังกล่าวออกจากวาระการพิจารณาไปก่อน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการจับตามองของสังคมถึงความเหมาะสมในการใช้งบประมาณของรัฐบาลในสถานการณ์การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบจนก่อให้เกิดวิกฤติทุกด้านของประเทศ

ทร.ปัดขออนุมัติทำสัญญาแล้ว พ.ย.62

พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกกองทัพเรือ กล่าวชี้แจงกรณี กห.เสนอ ครม.ขออนุมัติจัดซื้อ เรือยกพลขึ้นบกจากประเทศจีน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ในห้วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า ไม่ใช่เป็นการขออนุมัติต่อเรือยกพลขึ้นบก เพราะโครงการนี้ผ่านการอนุมัติ และทำสัญญาไปตั้งแต่เดือน พ.ย.62 แต่เรื่องที่เข้า ครม.วันนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรือ เช่น การส่งคณะกรรมการไปตรวจแบบเรือ การเตรียมส่งทหารไปฝึก เมื่อสถานการณ์โควิดฯคลี่คลาย

เรือลำละ 6 พันล้านพี่เลี้ยงเรือดำน้ำจีน

พล.ร.ท.ประชาชาติกล่าวอีกว่า กองทัพเรือไทยทำสัญญาต่อเรือ LPD ยกพลขึ้นบกลำใหม่จากจีน เพื่อเป็นเรือพี่เลี้ยงให้เรือดำน้ำและเพื่อภารกิจยกพลขึ้นบก บรรเทาสาธารณภัย เสริมภารกิจ เรือหลวงอ่างทอง โดยมี พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ รอง ผบ.ทร.ขณะนั้นเป็นประธานที่ปรึกษากองทัพเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯลงนามกับจีน ในสัญญาการต่อเรือยกพลขึ้นบก LPD จากจีน 1 ลำ เมื่อ พ.ย.2562 วงเงินงบประมาณ 6,100 ล้านบาท

“วิโรจน์” จวกซื้อเรือ ทร.ไม่สมควรทำ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีกระทรวงกลาโหมขออนุมัติงบฯจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบก เข้าสู่การประชุมของ ครม.ว่า ทัศนะของตนคือไม่สมควรเลย เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นและมีสัดส่วนการระบาดไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น การเตรียมความพร้อมให้ระบบสาธารณสุขของประเทศ มีศักยภาพเพียงพอรองรับกับผู้ป่วยที่อาจเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ผ่านมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างสังคมพร้อมการลดหรืองดกิจกรรมที่มีการชุมนุมของมวลชนที่หนาแน่น การสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายประชาชน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนทุกคนควรให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อลดอัตราการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้

นำ 5 พันล้านซื้ออุปกรณ์แพทย์สู้ไวรัส

นายวิโรจน์กล่าวว่า นอกจากการควบคุมการระบาด สิ่งที่รัฐบาลไม่อาจจะละเลยได้และมีความจำเป็นต้องทำควบคู่กันไปด้วย คือ การยกระดับศักยภาพทางการแพทย์ เพื่อให้ระบบสาธารณสุข มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเครื่องมือที่มีความจำเป็นต่อการรักษาโรคเป็นอย่างมาก เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย นั่นคือเครื่องช่วยหายใจและความพร้อมด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเตียงและเครื่องผลิตออกซิเจนที่มีความจำเป็นในการรักษาโรค ตนขอตั้งข้อสังเกตคือ 1.เครื่องช่วยหายใจที่โรงพยาบาลของรัฐมีอยู่จำนวนเท่าใด รองรับกับจำนวนผู้ป่วยได้กี่ราย และ 2.อยากทราบว่ารัฐบาลมีแผนในการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจเพิ่มหรือไม่ สำหรับงบประมาณหากตั้งสมมติฐานว่าเครื่องช่วยหายใจเครื่องหนึ่งมีราคาประมาณ 850,000 บาท น่าจะใช้ประมาณ 6,000 เครื่อง ใช้งบฯทั้งสิ้น 5,100 ล้านบาท และเครื่องผลิตออกซิเจนเครื่องละ 40,000 บาท 6,500 เครื่อง ใช้งบฯ 260 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 5,360 ล้านบาท ถือว่าไม่ได้แพงเลยกับ การสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข และทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น

ชวนติดแท็ก “กูสั่งให้มึงเลิกซื้ออาวุธ”

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า หากประชาชนจะร่วมกันสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อการซื้ออาวุธของกลาโหมสามารถแท็ก #กูสั่งให้มึงเลิกซื้ออาวุธ #เพราะในสถานการณ์ที่ประเทศต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ และงบประมาณด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 โดยให้รัฐบาลได้ตระหนัก และรัฐบาลควรเอางบประมาณมาเยียวยาประชาชน เอางบฯมาพยุงเศรษฐกิจช่วยเอสเอ็มอี เอางบฯมาซื้ออุปกรณ์การแพทย์ เพิ่มศักยภาพด้านการสาธารณสุขเหมาะกว่าการซื้ออาวุธ

พท.ย้ำนาทีนี้ “โควิด” เท่านั้นเร่งด่วน

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีกระทรวงกลาโหม ถอนวาระขออนุมัติงบฯจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบกออกจากวาระพิจารณาของ ครม.ว่า ขอชมเชยการตัดสินใจดังกล่าวและอยากให้กระทรวงอื่นนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติต่อไป โดยเฉพาะกรอบวงเงินงบฯปี 63 และ 64 ต้องไม่ใช่เรื่องไม่เร่งด่วน เรื่องเร่งด่วนที่ต้องการงบฯที่สุดตอนนี้คือแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 และการฟื้นฟูประเทศ เห็นด้วยที่ถอนวาระจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบก 6,100 ล้านบาทออกไปก่อน ตรงกับที่พรรคเพื่อไทยเสนอรัฐบาลไปก่อนหน้าว่าการจัดซื้อหรือลงทุนอะไรที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนและชะลอไว้ก่อนได้ขอให้เลื่อนไปก่อน จะได้โยกงบฯมาใช้แก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์แพร่ระบาด เพราะประเทศต้องใช้วงเงินมหาศาลฟื้นฟูประเทศหลังการแพร่ระบาดเชื้อโควิด

“บิ๊กตู่” ต้องตอบมีปัญหาจัดลำดับสำคัญ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการที่กระทรวงกลาโหมถอนวาระพิจารณาซื้อเรือยกพลขึ้นบกออกจากการประชุม ครม.ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ควรมีวาระตั้งแต่ต้น รัฐบาลเจอคำถามเรื่องการจัดลำดับความสำคัญการใช้งบประมาณผิดพลาดมาโดยตลอด ทำให้แฮชแท็ก “กูสั่งให้มึงเลิกซื้ออาวุธ” ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ ก่อนหน้านี้มีเสียงบุคลากรทางการแพทย์บอกอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ แต่รัฐบาลบอกว่าพอ ประชาชนเชื่อบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า เมื่อมีคำถามทำไมไม่เอางบฯกลางมาใช้ในส่วนนี้กลับไม่มีคำตอบ ล่าสุดเห็นความพยายามของกระทรวงกลาโหมในการเสนอซื้อเรือยกพลขึ้นบก ทั้งที่ไม่ควร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะ รมว.กลาโหม ต้องตอบคำถามประชาชนว่าในสภาวะที่บุคลากรทางการแพทย์ขาดอุปกรณ์แล้วเสนอของบฯเช่นนี้ได้อย่างไร ยิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลมีปัญหาเรื่องจัดความสำคัญการใช้งบประมาณ

รีบหาชุดป้องกันเชื้อแทนเสื้อกันฝน

นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.เชียงราย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน สร้างความหวั่นวิตกให้ประชาชนในพื้นที่มาก ควรมีโรงพยาบาลที่จะดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ แยกออกจากผู้ป่วยอื่น จะใช้โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่เหมาะสมเป็นโรงพยาบาลสนามเป็นไปได้หรือไม่ เพราะผู้ป่วยเต็มล้นทุกโรงพยาบาลแล้ว ยังมีปัญหาผู้ติดเชื้ออีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ อาจอยู่ในระยะฟักตัว ดังนั้นภาครัฐควรให้ประชาชนตรวจหาเชื้อโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ที่อาจได้รับเชื้อรับการตรวจหยุดการแพร่กระจายโดยไม่ตั้งใจ รัฐบาลต้องรับผิดชอบเพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และที่น่าเป็นห่วงพบว่าตามโรงพยาบาลหลายแห่งในพื้นที่ที่มีปัญหาการระบาด อุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่พร้อม ทั้งหน้ากากอนามัย ชุดป้องกันเชื้อไม่มี แพทย์และพยาบาลต้องซื้อเสื้อกันฝนใส่แทนชุดป้องกันเชื้อ อยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขเร่งแก้ปัญหาเร่งด่วน อย่าปล่อยให้บุคคลเหล่านี้หมดกำลังใจในการทำงาน

โวย กทม.ห้ามฝ่ายค้านพ่นยาฆ่าเชื้อ

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้ร่วมกับ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทยรณรงค์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทุกด้าน แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคและสำนักงานสาธารณสุข กทม.มีประกาศห้ามฉีดละอองพ่นยาป้องกันเชื้อโควิด-19 ระบุว่าเกรงว่าน้ำยาไม่ได้มาตรฐานและจะทำให้เกิดการฟุ้งกระจาย อยากให้ กทม.ตอบให้ชัดว่าอาสาสมัครทุกภาคส่วน จะสามารถพ่นละอองฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่และการพ่นดังกล่าวตามคำแจ้งเตือนจะส่งผลให้เชื้อโรคฟุ้งกระจายหรือไม่ ถ้าใช่กระทรวงสาธารณสุขและ กทม.ต้องออกประกาศห้ามให้ชัดเจนทั้งหมู่บ้าน ชุมชนหรือที่สาธารณะต้องอธิบายให้ชัด เพราะขณะนี้มีนักการเมืองซีกรัฐบาลหลายพื้นที่ออกพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด-19 แต่ซีกฝ่ายค้านกลับต้องขออนุญาต

“กรณ์” จี้ช่วยคนจน 24 ล้านช้ายิ่งเจ็บลึก

นายกรณ์ จาติกวนิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “5,000 บาท สำหรับ 24 ล้านคน” ว่า เมื่อมีผู้ขึ้นทะเบียนเงิน 5,000 บาท ทะลุ 20 ล้านคนแล้วจะทำอย่างไร ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าไม่เกินความคาดหมายเพราะคนที่เดือดร้อนมีมากกว่า 3 ล้านคนแน่นอน ถึงแม้อาจมีคนที่ไม่ควรมีสิทธิแฝงเข้ามาบ้าง คิดว่าผู้ควรได้รับความช่วยเหลืออยู่ที่ประมาณ 24 ล้านคน จาก 1.ผู้มีอาชีพอิสระ 12 ล้านคน ส่วนใหญ่รายได้ต่ำ (สมาชิกประกันสังคมตามมาตรา 39 และ 40 จำนวน 5 ล้านคน และอิสระอื่นๆ 7 ล้านคน) พ่อค้าแม่ขายรายเล็ก หาบเร่แผงลอย เจ้าของธุรกิจ SME ขนาดเล็ก-กลาง หมุนเงินไม่ไหว 2.เกษตรกร 4 ล้านคนที่ไม่อยู่ในโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล ผู้ผลิตอาหาร ข้าว พืชผัก ผลไม้เข้าเมืองและส่งออก จ่อด้วยภาวะภัยแล้งที่จะโถมซ้ำเติม 3.ลูกจ้างรายได้น้อยหรือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ชำระภาษีเงินได้ 8 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทำงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เดือดร้อนหนักมากตอนนี้ ยากลำบากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่แรก วันนี้หากินไม่ได้ มีรายได้ลดลง ทั้งที่รายได้เดิมไม่เยอะอยู่แล้ว จำเป็นต้องช่วยเหลือเร่งด่วนรอช้ากว่านี้จะยิ่งเจ็บลึก

โอนงบฯ 63–พ.ร.ก.กู้เงิน–รื้องบฯ 64

นายกรณ์ระบุต่อว่า วงเงินที่ต้องใช้ทั้งหมดคือ 120,000 ล้านบาทต่อเดือน หากคำนวณสามเดือนคือ 360,000 ล้าน หรือประมาณ 2.1% ของ GDP หลายประเทศมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 10% +ของ GDP ทั้งที่หนี้สาธารณะของเขามีสัดส่วนต่อจีดีพีที่สูงกว่าเรามาก เงินนั้นจะหามาจากไหน คำตอบคือ ได้จาก 3 ส่วนหลัก 1.ปรับโอนงบฯปี 63 ไม่ใช่แค่ขอให้ลดแล้วช่วยแบ่งมาต้องออกกฎหมายเร่งด่วนให้ชัดเจน 2.ออก พ.ร.ก.เงินกู้ในกรณีที่ต้องมีแผนชัดว่าจะช่วยเหลือแบบไหน อย่างไร 3.ปรับ พ.ร.บ.งบฯปี 64 ที่ ครม.อนุมัติขั้นต้นไปเมื่อวันที่ 7 ม.ค. (สามารถใช้ได้ต้นเดือน ต.ค.) ให้ตอบสนองต่อภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19

เพิ่มเงินผู้เฒ่า แม่ลูกอ่อน คนพิการ

“ทีมกล้าคิดไปถึงว่ารัฐบาลควรเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่กลุ่มที่อ่อนแอที่สุดในสังคมอย่างเช่น ผู้สูงอายุ แม่ลูกอ่อน และคนพิการด้วย ปกติต้องพึ่งพาเงินจากสมาชิกในครอบครัวที่ทำมาหากิน ตอนนี้คนวัยทำงานหาเลี้ยงครอบครัวลำบากกันหมด คนกลุ่มนี้จึงยิ่งต้องได้รับการดูแลที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน” นายกรณ์ระบุ

เด็ก ปชป.ชงพักหนี้ กยศ.ช่วยถูกเลิกจ้าง

น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือและเยียวยานักเรียน นักศึกษาที่กู้ยืมเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่จำนวนหนึ่งถูกเลิกจ้าง และนักเรียน นักศึกษา ไม่สามารถทำกิจกรรมจิตอาสาตามเงื่อนไขที่กำหนด ที่ผ่านมา กยศ.กำหนดเงื่อนไขให้นักเรียนนักศึกษาทำกิจกรรมจิตอาสาปีละ 36 ชั่วโมง แต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมจิตอาสาได้ จึงควรพิจารณาลดจำนวนชั่วโมงดังกล่าวและเพิ่มแนวทางทำกิจกรรมเรียนรู้ที่ทำได้ที่บ้านทดแทน อีกทั้งควรผ่อนผันการชำระหนี้หรือพักหนี้สำหรับผู้ที่กำลังชำระหนี้ กยศ.จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย

ขอผู้นำสั่ง อย.ปลดล็อกนำเข้าเวชภัณฑ์

นายประมวล เอมเปีย อดีต ส.ส.ชลบุรี กล่าวว่า ได้รับร้องเรียนจากผู้นำเข้าเวชภัณฑ์ และส่งออกทั้งบริษัทและบุคคลทั่วไปว่า การนำเข้าเครื่องมืออุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถูกกักที่ด่านสินค้า แม้กรมศุลกากรประกาศลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% แต่ยังนำเข้าไม่ได้ ยังติดขั้นตอนขอใบอนุญาตจากสำนักงานอาหารและยา (อย.) สังกัด สธ. แม้ได้ผ่อนผันหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาต อย.รวดเร็วขึ้นตามคำสั่งนายกฯ ที่ต้องการกระจายหน้ากากอนามัยแบบ N 95 ชุด PPE และเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย แต่มาตรการปลดล็อกของ อย. ยังมีข้อจำกัดด้านการปฏิบัติหลายเรื่อง ควรให้ อย.ปลดล็อกโดยไม่มีเงื่อนไข สำหรับการนำเข้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ กรณีการป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้เวชภัณฑ์จำเป็นทางการแพทย์มีใช้เพียงพอ ไม่ขาดแคลน ปิดช่องทางการลักลอบนำเข้า ให้เหมือนกับที่กรมศุลกากรดำเนินการแล้ว อย่าปล่อยให้คนเห็นแก่ได้บางกลุ่มได้ผลประโยชน์ด้านธุรกิจบนความเจ็บป่วยของเพื่อนร่วมชาติ

“ชวน” ชี้ รบ.หั่นงบ 10% สู้โควิดทำได้เลย

เมื่อเวลา 11.00 น. ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะงาน มอบเงิน 100,000 บาท ให้โรงพยาบาลรามาธิบดี มี นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทย-ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รับมอบ โดยนายชวนกล่าวถึงกรณีรัฐบาลเตรียมตัดงบประมาณแต่ละกระทรวง ร้อยละ 10 มาไว้ที่งบฯกลางเพื่อแก้ปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า เป็นสิทธิของรัฐบาลจะตัดสินใจดำเนินการ ถือว่าสภาฯให้ความเห็นชอบงบฯปี 63 ไปแล้ว จึงเป็นอำนาจรัฐบาลจะดำเนินการได้ การจะนำงบฯร้อยละ 10 ไปใช้ ทำได้ ถือเป็นการบริหารงบประมาณ ไม่จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายเพิ่มเติม เว้นแต่จะกู้เงินหรือขอตั้งงบฯเพิ่มเติมจึงต้องออกเป็นกฎหมาย

“พรเพชร” แจกข้าว–หน้ากาก ขรก.วุฒิฯ

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่อาคารสุขประพฤติ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา รับมอบข้าวสาร 2,055 ถุง รวม 4,110 กิโลกรัมจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ส.ว.ในฐานะประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เพื่อนำไปแจกข้าราชการ และบุคลากร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ไปบริโภคช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากนั้นนายพรเพชรรับมอบหน้ากากผ้ามัสลิน 2,500 ชิ้นจาก พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ประธานกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา ที่ร่วมกับบริษัท โรงงานฟุตบอลไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด และสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย นำมามอบให้ เพื่อนำไปแจกบุคลากรของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 โดยนายพรเพชร กล่าวว่า หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 เป็นหนึ่งวิธีป้องกันตัวเองเบื้องต้น วุฒิสภาตั้งเป้าหมายว่าในการประชุมของวุฒิสภา การประชุม กมธ.ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

กกต.โยนฝ่าย ก.ม.ดูประชุมใหญ่พรรค

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สำนักงาน กกต. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.เป็นประธานการประชุมพิจารณากรณีพรรคการเมืองมีหนังสือหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะเลื่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคตามที่มาตรา 37 มาตรา 43 และมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องจัดประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อรับรองรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองประจำปีและรับรองงบการเงินของพรรคที่ต้องจัดทำภายในเดือน เม.ย.ของทุกปีออกไปโดยไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายหลังการประชุม พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะ กกต. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต.มีคำสั่งให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ปรึกษากฎหมายโดยด่วนภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากเห็นว่ามีความสำคัญต้องพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ ก่อนทำความเห็นส่งกลับมาให้ กกต.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวพรรคการเมืองส่งหนังสือมาสอบถาม กกต. ถึงเรื่องการจัดประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองตามกฎหมาย โดยจะครบกำหนดกรอบ 30 วัน ที่ กกต.จะตอบข้อซักถามตามอำนาจหน้าที่มาตรา 23 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ในวันที่ 16 เม.ย.