ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร จากการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อยกระดับควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ 26 มี.ค. ถึง 30 เม.ย. 2563 โดยยังไม่ประกาศ ”เคอร์ฟิว” ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมา

เหตุใดทำไมจึงเป็นเช่นนี้? ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ผ่าน ”ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ดังกล่าว อ้างอิงและเกิดขึ้นเมื่อปี 2548 ทำให้คนมองว่า "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" จะต้องใช้เฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับการเมือง และการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น

  • ความจริงแล้วกฏหมายฉบับนี้ครอบคลุมในการนำมาใช้ได้มากกว่านี้ นอกจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐบาล และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภัยร้ายแรง ที่ไม่สามารถใช้กลไกปกติมาควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพได้

  • คนไม่คุ้นชิน ยังคงมองว่าต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองและความมั่นคงเท่านั้น แต่ครั้งนี้เป็นการต่อสู้กับภัยรูปแบบใหม่ จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นครั้งแรกในไทย ต้องใช้กลไกจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

  • การประกาศ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ครั้งนี้เป็นแบบทั่วไปไม่ร้ายแรง ครอบคลุมทั่วราชอาณาจักร ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงสถาการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรงอยู่ โดยนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งการ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ได้รับมอบอำนาจ

  • นายกรัฐมนตรี สามารถออกข้อกำหนดต่างๆ เช่น ห้ามออกนอกสถานที่ ห้ามเสนอข่าว ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามใช้อาคารสถานที่ หรืออพยพคน รวมถึงมีอำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้ สามารถสั่งควบคุมตัวคนที่ฝ่าฝืนได้ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลการสื่อสารต่างๆ หรือการควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภค และอื่นๆ

  • การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้ ยังไม่มีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องข้อห้ามต่างๆ ครอบคลุมในระยะเวลา 30 กว่าวันเท่านั้น จากปกติสามารถใช้ได้สูงสุด 3 เดือน หากจะประกาศใช้ต่อ ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. หรือนายกรัฐมนตรีอาจประกาศใช้ได้ทันที และขอความเห็นชอบจาก ครม.ภายหลัง ภายใน 3 วัน

  • การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับควบคุมโควิด มีคนมองว่าควรมีความพร้อมมากกว่านี้ จนมีคนถามว่าจะทำตัวและเตรียมพร้อมอย่างไร เพราะยังไม่มีความชัดเจน คาดว่าในวันที่ 26 มี.ค.นี้ จะมีอะไรออกมาเพิ่มเติมอย่างแน่นอน

...

"คาดว่าสาเหตุไม่ออกข้อห้ามต่างๆ ในทีเดียว อาจเพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคม หรือต้องมีการหารือในทางการแพทย์ รวมถึงจะให้เป็นหน้าที่ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินโรคระบาด โควิด-19 จึงทำให้ดูเหมือนว่าขณะนี้ไม่มีความชัดเจนในสายตาของประชาชน" รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว.