รมว.เกษตรฯ สั่งการด่วนสุด ประสานฝ่ายความมั่นคง-ศุลกากรนำเข้า เข้มงวดจับกุมลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม มะพร้าว กาแฟ เหตุประเทศเพื่อนบ้านส่งออกตลาดจีนไม่ได้ เร่งแก้ไขป้องกันกระทบซ้ำเกษตรกรไทย
วันที่ 18 มี.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้สินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง กาแฟ ถั่วเหลือง และมะพร้าว มีปริมาณการผลิตไม่เพียงพอ ต่อความต้องการใช้ในประเทศทั้งการบริโภคโดยตรงและใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สินค้าบางชนิดราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้มีการลักลอบการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสวมสิทธิ์เป็นสินค้าเกษตรของไทยหรือหลีกเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปาล์มน้ำมัน จึงประสานขอความร่วมมือหน่วยงานความมั่นคง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศุลกากรให้เข้มงวดตรวจสอบ จับกุมการลักลอบการนำเข้า โดยเฉพาะตามแนวชายแดน นอกจากนี้เห็นสมควรให้ทบทวนข้อตกลงทางการค้าภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และองค์การการค้าโลก (WTO) ใหม่ ตลอดจนมาตรการทางการค้าอื่นๆ เช่น มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (safe guard) และมาตรการปกป้องพิเศษการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (special safeguard)
สำหรับปาล์มน้ำมันนั้น ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ของไทย ช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 36.19 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบตลาดมาเลเซียเฉลี่ยกิโลกรัมละ 21.05 บาท ซึ่งต่ำกว่าไทยกิโลกรัมละ 10 - 15 บาท ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทั้งระบบอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งให้กรมการค้าภายในติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ถังเก็บให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยอนุมัติงบประมาณ จำนวน 372.516 ล้านบาท
...
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) กำหนดให้นำเข้าได้ที่ด่าน 3 ด่านเท่านั้น ได้แก่ ด่านศุลกากรมาบตาพุด สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ และสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนด่านนำผ่านสินค้าน้ำมันปาล์มได้กำหนดด่านต้นทาง เพียงด่านเดียว คือ สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งมอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เลขานุการ กนป. ติดตามผลการดำเนินงานตามมติ ครม. อย่างใกล้ชิด
ขณะที่ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการ สศก. กล่าวถึงการป้องกันการลักลอบนำเข้ามะพร้าว โดยจากการจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตและต้นทุนการผลิตมะพร้าวในอ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบว่า มีการลักลอบนำเข้ามะพร้าวผล ซึ่งสศก. เร่งประสานกรมศุลกากร เพื่อตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังพบว่า การนำเข้าน้ำกะทิส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการและราคามะพร้าวในประเทศ ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ดังนั้นควรเข้มงวดมาตรการการนำเข้ามะพร้าวและน้ำกะทิ โดยกำหนดช่วงเวลาและปริมาณการนำเข้ามะพร้าวผลที่เหมาะสมภายใต้กรอบการค้า AFTA และ WTO การตรวจสอบและควบคุมการนำเข้ากะทิ การกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายมะพร้าวผลนำเข้าน้ำหนักตั้งแต่ 4 ตันขึ้นไป ซึ่งได้ประสานกรมการค้าภายในเพื่อทบทวนมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายแล้ว รวมทั้งประสานกรมวิชาการเกษตรให้ทำลายมะพร้าวซึ่งลักลอบนำเข้าตาม พ.ร.บ. กักพืช
สินค้าอีกชนิดที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านคือ กาแฟ โดยผ่านมาช่องทางด้านตะวันออกของไทย สาเหตุหนึ่งมาจากเกษตรกรบางรายนำเข้ากาแฟมาสวมสิทธิ์เป็นกาแฟไทยแล้วจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการโดยตรงซึ่งได้ราคาสูงกว่าจำหน่ายแก่สหกรณ์ ดังนั้นภาครัฐควรคุมเข้มเกี่ยวกับการนำเข้าในทุกรูปแบบ โดยกำหนดช่วงนำเข้ากาแฟได้หลังเดือนพฤษภาคมของทุกปีเนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตกาแฟของเกษตรกรในประเทศเริ่มจำหน่ายหมดแล้ว กาแฟเป็นสินค้าควบคุม ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรแจ้งกรมศุลกากรถึงปัญหาการลักลอบนำเข้า รวมถึงแจ้งข้อมูลช่วงเวลาที่ผลผลิตกาแฟออกสู่ตลาด และช่วงเวลาที่ห้ามนำเข้า ให้กรมศุลกากรรับทราบเพื่อจะได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป.