ปิดฉากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แบบไม่ต้องดูผลโหวต เพราะสุดท้ายแล้วรัฐบาลก็ผ่านฉลุย หลังใช้เวลา 4 วัน 3 คืน พร้อมกับหลายๆ ดราม่าตามมา แม้การอภิปรายครั้งนี้อาจดูไม่เร้าใจ สร้างความผิดหวังให้กับเหล่ากองเชียร์เล็กน้อย แต่ยังมีสิ่งที่เกิดขึ้นแบบที่สุดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2563 จนเกือบเป็นเวทีสภาโจ๊กไปแล้ว

  • การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ แน่นอนพุ่งเป้าไปที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาล จึงไม่แปลกจึงโดนฝ่ายค้านรุมซักฟอกนานถึง 2 วัน ท่ามกลางองครักษ์พิทักษ์นายกฯ ลุกขึ้นประท้วงต่อเนื่อง

  • อาการที่เปลี่ยนไปของ พล.อ.ประยุทธ์ เก็บอารมณ์ได้ดี สามารถกำจัดจุดอ่อนของตัวเองที่เคยถูกโจมตีมาโดยตลอด แม้จะถูกระบุไม่เหมาะกับการเป็นนายกฯ ถูกเปรียบเทียบว่าเป็น “มิสเตอร์บีน” ก็ตาม

  • คืนวันสุดท้ายในการอภิปรายฯ ฝ่ายรัฐบาลชิงปิดประชุม อ้างกรอบของเวลาหมด ทำให้ฝ่ายค้านประท้วงด้วยการวอล์กเอาต์ ไม่สรุปญัตติโดยผู้นำฝ่ายค้าน ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยประกาศไม่ลงมติในวันรุ่งขึ้น

  • เมื่อฝ่ายรัฐบาลชิงปิดประชุม ทำให้ 4 ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีโอกาสอภิปราย ทำให้ “บิ๊กป้อม” และ “บิ๊กป๊อก” รอดโดนซักฟอก ซึ่งความผิดพลาดในการประสานเรื่องเวลา อาจเกิดปมขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทย

...

ในมุมมองของนักวิชาการ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประมวลเหตุการณ์ที่สุดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรี ในรัฐบาล “บิ๊กตู่” อย่างน่าสนใจ พร้อมกับการตั้งข้อสังเกตทิ้งท้าย ให้จับตาดูเหตุการณ์ทางการเมืองนับจากนี้ หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

  • 1.การอภิปรายฯ ครั้งนี้ ยิ่งตอกย้ำว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง มีบารมีมากสุด จากคะแนนโหวตมากที่สุด 277 เสียง ทั้งๆ ที่ไม่มีการอภิปราย และไม่ได้ตอบชี้แจงในสภาด้วยซ้ำไป อีกทั้งก่อนมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทางฝ่ายค้านมีการหารือจะยื่นอภิปราย “บิ๊กป้อม” หรือไม่ เพราะเป็นบุคคลที่คนเคารพนับถือ

  • 2.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้คะแนนโหวตน้อยสุด ไม่เหนือความคาดหมาย จากหลายเรื่องทั้งคดีในออสเตรเลีย และวุฒิการศึกษา ส่งผลต่อคะแนนโหวต ส่วนหนึ่งน่ามาจากความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ กับนายวิรัช รัตนเศรษฐ เสนอให้ปลดพ้นตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส ยังโหวตให้ตัวเอง ทั้งที่โดยธรรมเนียมทางการเมืองไม่มีใครทำ ซึ่งดูจากสีหน้าเคร่งเครียดอาจกังวลจะถูกปรับออกจาก ครม.



  • 3.เป็นการอภิปรายที่สร้างความขัดหูขัดตาของประชาชน เพราะฝ่ายค้านไม่สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี จนครบทั้ง 6 คน ตามหลักธรรมาภิบาลทางการเมืองที่ต้องรับฟังให้ครบถ้วนสมบรูณ์ ก่อนจะลงมติ โดยประชาชนต้องการเห็นการอภิปรายที่ครบถ้วน แต่ไม่มีการอภิปราย พล.อ.ประวิตร และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

  • 4.สร้างความฮือฮาจากการใช้นวัตกรรมประกอบการอภิปรายฯของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.อดีตอนาคตใหม่ ด้วยการแฉปฏิบัติการไอโอ (IO) กลางสภาฯ โดยการใช้คิวอาร์โค้ด เชื่อมต่อจากในสภา กับประชาชนที่อยู่นอกสภา ให้มีส่วนร่วมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ





  • 5.มีการเปรียบเทียบ “บิ๊กตู่” เป็น “มิสเตอร์บีน” ทำให้มีทั้งคนสนับสนุนและไม่สนับสนุน แต่กรณีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถเก็บอารมณ์ได้ดี ในเรื่องจุดอ่อนทางอารมณ์จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงที่ผ่านมา แต่การอภิปรายครั้งนี้ถือว่าเรียนรู้ปรับตัว สะท้อนภาพนายกฯ กำลังส่งสารว่าตัวเองอารมณ์ดีในการทำงานการเมือง โดยไม่รังแกใคร แม้โดนซักฟอกมากสุดถึง 2 วัน

  • 6.ฝ่ายค้านแตกหักกัน ระหว่างพรรคเพื่อไทย และส.ส.อดีตอนาคตใหม่ โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจในการบริหารเวลาของพรรคเพื่อไทย จากข่าวปล่อย ข่าวจริง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน จากความสงสัยว่าเพื่อไทยร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ จนกินเวลาอภิปรายของ ส.ส.อดีตอนาคตใหม่ ซึ่งแม้ไม่มีข้อพิสูจน์ แต่ได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อฝ่ายค้านที่มีอุดมการณ์เหมือนกันมากที่สุดจะแตกหัก

  • 7.อีกที่สุดในการประชุมสภาฯ จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้กระทบต่อบรรยากาศในการอภิปรายฯ เป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นว่าการอยู่ในสภาวะการระบาดของโรค ทำให้คนทั่วไปหวาดกลัว รวมถึงในสภาเกิดความแตกตื่น นำหน้ากากอนามัยมาใส่ หลังรู้ว่าพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น



  • 8.เกิดดาวสภาคนใหม่ เมื่อวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.อดีตอนาคตใหม่ ออกมาแฉปฏิบัติการไอโอ (IO) ของกองทัพ หลังจากก่อนหน้านั้นเคยอภิปรายงบประมาณ และประเด็นการเลือกนายกฯ แต่ขณะนั้นอาจไม่โดดเด่นเท่า ปิยบุตร แสงกนกกุล และช่อ-พรรณิการ์ วานิช อีกทั้งวิโรจน์ เป็นวิศวกร จึงทำให้การพูดเป็นระบบ นำเอาคิวอาร์โค้ด ใช้ในการอภิปราย และเคยเป็นนักโต้วาที จึงมีความโดดเด่น

  • 9.เมื่อมีดาวสภา ก็ต้องมีดาวร่วง ยกให้ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย น่าจะอภิปรายได้ดีกว่านี้ จากเคยเป็น ส.ส.มาหลายสมัย และเคยเป็นรัฐมนตรี จนถูกวิพากษ์วิจารณ์มากสุด มีการพูดวกวน พาดพิงบุคคลนอกสภาจนถูกชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ตำหนิ และไม่พยายามเชื่อมต่อประเด็นซื้อขายที่ดินบิดา พล.อ.ประยุทธ์ แต่กลับพูดถึงการเอื้อกลุ่มนายทุน กลายเป็นข้อกล่าวหาลอยๆ ทั้งๆ ที่ฝ่ายค้านให้พูดเป็นคนแรก จนน่าเสียดาย ทำให้ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ดี

  • 10. องครักษ์พิทักษ์นายกฯ ลุกขึ้นทำหน้าที่ประท้วงฝ่ายค้าน และใช้เทคนิคมากจนเกินไป แม้ว่าประธานในสภา มีข้อยุติไปแล้ว ก็ยังมีการประท้วง เช่น กรณีการเรียก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคุณประยุทธ์ และนายประยุทธ์ ทั้งๆ ที่ควรประท้วงในประเด็นที่จำเป็นเท่านั้น

ท้ายสุด รศ.ดร.ยุทธพร ได้ให้คะแนนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน 7 คะแนนจากเต็ม 10 แม้มีการพูดวกวนก็ตาม แต่มีหลายเรื่องนำไปสู่การเปิดประเด็นตามต่อ จากกรณีออกมาแฉปฏิบัติการไอโอของกองทัพ และถือเป็นการเปิดพื้นที่ในสภาเป็นครั้งแรกของฝ่ายค้านในรอบ 6 ปี ส่วนการชี้แจงของฝ่ายรัฐบาลให้ 5-6 คะแนน เพราะหลายประเด็นถูกตอบและชี้แจงโดยรัฐมนตรีที่ไม่ถูกอภิปรายในครั้งนี้ โดยเฉพาะรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ ได้ลุกขึ้นตอบแทนพล.อ.ประยุทธ์ และภายหลังการจบอภิปราย ไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกได้มีส่วนร่วม เนื่องจากไม่มีการอภิปรายที่เชื่อมต่ออย่างกันอย่างจริงจัง

สรุปโจทย์ใหญ่นับจากนี้ หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษา หลังจากการเมืองในสภามีความล้าหลังมีการพูดถึงแต่การซื้อตัว ส.ส. ไม่สามารถตอบสนองคนนอกสภาได้ แตกต่างกับการเมืองนอกสภา ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้า มีกลุ่มนักศึกษาออกมาเรียกร้องให้ปรับปรุงโครงสร้างต่างๆ ในสังคม

"ทำให้มีโอกาสจะเกิดเหมือนเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 หรือ “ฮ่องกง โมเดล” ก็อาจเป็นไปได้ แม้ขณะนี้การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษายังเป็นเครือข่าย หรือแฟชั่น ยังไม่มีการตกผลึกร่วมกัน คาดว่าสักระยะหนึ่งจะมีการเรียกร้องให้นายกฯลาออก หรือยุบสภา และแก้รัฐธรรมนูญ เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียกร้องความไม่ยุติธรรมของกลุ่มแฟลชม็อบ จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างแน่นอนต้องติดตาม".