ผู้ตรวจการแผ่นดิน เผย คืบหน้า ผลักดันโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ นร.ครอบครัวยากจน ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ หลังลงนามความร่วมมือกับ "มหาดไทย-แรงงาน-สธ.-พม."คาดเปิดหลักสูตรเมษา 63 เตรียมรับ 6,251 ชีวิต

วันที่ 22 ก.พ.นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ปีนี้มีนักเรียนจบการศึกษาภาคบังคับจาก 75 จังหวัด จำนวน 460,190 คน เรียนต่อในระบบโรงเรียน จำนวน 441,298 คน ไม่ได้เรียนต่อในระบบโรงเรียน จำนวน 18,892 คน มีนักเรียนตอบรับเข้าร่วมโครงการฝึกทักษะอาชีพ จำนวน 6,251 คน ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเตรียมไว้เข้าโครงการ ถึงจำนวน 4,731 คน ถือว่าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ที่มีนักเรียนจำนวนมากตอบรับเข้าฝึกอาชีพก่อนก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อพัฒนาทักษะและฝีมือตนเอง เพื่อสร้างอาชีพเลี้ยงครอบครัวและสร้างรายได้ให้มากกว่าอัตราแรงงานขั้นต่ำ

เบื้องต้นสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดได้พานักเรียนเข้าศึกษาดูงาน ดูความพร้อมของสถานที่ฝึก เครื่องมือและเครื่องจักรในแต่ละสาขา มีการแนะแนวและแนะนำ เกี่ยวกับความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละสาขา จำนวนรายได้และความก้าวหน้าในอาชีพ คาดว่าเริ่มเปิดฝึกอบรมในช่วงเดือนเมษายน 2563 ใช้ระยะเวลาการฝึกตามหลักสูตร 2-4 เดือน ฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบกิจการอีก 1-2 เดือน จังหวัดที่มีนักเรียนเข้าศึกษาดูงานแล้ว เช่น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดกำแพงเพชร ในสาขาช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างสีรถยนต์ ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก ช่างเชื่อม ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างซ่อมไมโครคอมพิวเตอร์

...

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนได้อย่างปราศจากอุปสรรคได้ประสานหลายหน่วยเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน สำหรับงบประมาณที่สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานได้รับไม่เพียงพอในปีงบประมาณ 2563 ได้ขอให้กระทรวงมหาดไทยประสานผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชนในจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดให้การสนับสนุนโครงการตามที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุน ในกรณีที่นักเรียนคงเหลือไม่สามารถเข้ารับการฝึกอบรมได้ให้กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ประสานและส่งข้อมูลไปยังสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมอาชีพตามหลักสูตรของ กศน. จังหวัดต่อไป รวมทั้งขอให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดเพื่อให้คำปรึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สำนักงานจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำการบริหารและการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้การสนับสนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและไร้ที่พึ่ง เงินสงเคราะห์กองทุนคุ้มครองเด็ก และเงินสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจน อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่าเพื่อให้โครงการดังกล่าวมีความยั่งยืนจึงมีแนวทางการจัดตั้งงบประมาณในการฝึกอบรมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีงบประมาณต่อ ๆ ไป โดยขอให้สำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และในกรณีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานหรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดร้องขอและเสนอโครงการไปยังสำนักงานจังหวัดให้กระทรวงมหาดไทยและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาสนับสนุนงบพัฒนาจังหวัด รวมถึงเงินอุดหนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดด้วย

“โครงการนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างชีวิตสร้างอนาคตแทนที่จะส่งบุตรหลานของท่านไปทำงานทันทีที่จบการศึกษาขอเวลาให้กับลูกหลานของท่านหน่อยสัก 3-6 เดือน ได้ฝึกอาชีพที่สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งมีทุกจังหวัดแล้วคุณภาพชีวิตของบุตรหลานท่านจะเปลี่ยนไป” นายสมศักดิ์ กล่าว