ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องพื้นที่ป่าอันเป็นกรณีขัดแย้งทางความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บุกรุกเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ ที่จังหวัดราชบุรีได้รับการวินิจฉัยแล้วโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีหน้าที่ ให้คำแนะนำปรึกษาทางกฎหมายแก่รัฐบาลและส่วนราชการที่มีข้อสงสัย

เป็นเรื่องของพื้นที่ป่าซึ่งก่อนหน้านี้เป็นป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ได้มีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติเมื่อปี 2527

ต่อมาปี 2536 กรมป่าไม้ ได้ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. นำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดิน โดยปี 2554 ส.ป.ก.จัดทำเป็นเขตปฏิรูปที่ดินฯ แต่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ

เรื่องที่เกิดขึ้นเพราะนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐนำ ภบท.5 ระบุพื้นที่ตรงนั้นไปยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย จึงเป็นที่มาให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ขึ้น

แล้วเกิดข้อสงสัยในแง่มุมของกฎหมายในพื้นที่ 682 ไร่ ระหว่าง ส.ป.ก.กับกรมป่าไม้ จึงมีการส่งเรื่องไปหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือว่าพื้นที่ที่ยังไม่ได้จัดการปฏิรูป ยังคงสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ

นั่นหมายความว่าใครเข้าไปถือครองทำประโยชน์ในพื้นที่ตรงนั้นย่อมเป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง

การวินิจฉัยเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 7 ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คณะกรรมการชุดนี้มี นายสรรเสริญ ไกรจิตติ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ (ชื่อตำแหน่งสมัยก่อน ปัจจุบันคือ ประธานศาลอุทธรณ์ ตำแหน่งหมายเลขสองในวงการตุลาการศาลยุติธรรม) เป็น ประธานกรรมการ

...

ส่วนกรรมการประกอบด้วย นายเคียง บุญเพิ่ม อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เช่นกัน นายประสิทธิ์ โฆวิไลกูล อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายธรรมนิตย์ สุมันตกุล อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายจรูญ อินทจาร อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อดีตอธิบดีกรมที่ดิน นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการ คณะรัฐมนตรี

ชื่อชั้นและภูมิหลังของ คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 7 ทั้ง 9 ท่านนี้มั่นใจได้เต็มร้อยถึงความรอบรู้โดยกระจ่างในข้อกฎหมาย ตลอดจนประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องป่าไม้ เรื่อง ส.ป.ก. เรื่องที่ดิน และที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องความถูกต้องในสังคม

โดยสรุปการบุกรุกพื้นที่ป่า 665-1-53 ไร่ แยกเป็น 3 คดี คือ คดีที่ 1 แปลงที่ 1 พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในเขต ส.ป.ก. เนื้อที่ 387-0-80 ไร่ เป็นบริเวณฟาร์มไก่เขาสน มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ทำฟาร์มไก่ พื้นที่อยู่ในเขตรั้วลวดหนาม มีโรงเรือน มีอาคาร

คดีที่ 2 แปลงที่ 2 พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในเขต ส.ป.ก. เนื้อที่ 207-2-41 ไร่ เป็นพื้นที่ติดกันนอกรั้วใกล้เคียงต่อเนื่อง สภาพพื้นที่เป็นที่เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนเก่า มีความต่อเนื่องกับเขาสน

คดีที่ 3 แปลงที่ 3 พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในเขต ส.ป.ก. เนื้อที่ 70-2-32 ไร่ เป็นพื้นที่ติดต่อกัน สภาพเป็นป่ายูคาลิปตัส

สบายใจแทนกรมป่าไม้ที่มีผนังทองแดงกำแพงเหล็กไว้ต่อกรดำเนินคดีกับท่าน ส.ส.ผู้ทรงเกียรติเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคแกนนำรัฐบาล.

“ซี.12”