ข่าวฉาวโฉ่กรณี ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว แต่ในสภาผู้แทน ราษฎรยังมีเรื่องราวบานปลายต่อไป เมื่อชื่อของนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย หายไปจากคำร้องที่ยื่นต่อศาล มีเสียงวิจารณ์เสียงแซวตามมาว่า มีการ “เล่นของ” เสกเป่าคาถาล่องหนหายตัวหรือไม่
ยิ่งกว่านั้น สอง ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ และนายธีรัจชัย พันธุมาศ ร่วมกันแถลงข่าว ระบุว่ามีหลักฐานเป็นคลิปที่แสดงว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 2 คน เกี่ยวข้องกับเรื่องการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน คนหนึ่งเป็น ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ อีกคนหนึ่งเป็น ส.ส. พรรคพลังท้องถิ่นไท เหตุเกิดในรัฐสภา
การเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ซึ่งเป็นข่าวอื้อฉาวในขณะนี้ ประเด็นที่ทุกฝ่ายกังวลที่สุด คือปัญหาที่ว่าจะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท เป็นโมฆะหรือไม่ จะเสียไปเพียงบางส่วน หรือตกไปทั้งฉบับ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงแค่ไหน ถ้ารัฐบาลไม่มีงบ 6 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา
แต่ถ้าย้อนกลับไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในอดีต 2 คำวินิจฉัย จะพบว่าการเสียบบัตรแทนกันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นเรื่องสำคัญระดับคอขาดบาดตาย สำหรับประเทศ และตัว ส.ส.ผู้กระทำอย่างไร้ความรับผิดชอบ คำวินิจฉัยของศาลทั้ง 2 ฉบับ นอกจากจะทำให้ร่างกฎหมายตกไปแล้ว ยังกระทบถึง ส.ส.
คำวินิจฉัยที่ 15–18/2556 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบอบการได้มาซึ่ง ส.ว. ระบุว่าการออกเสียงลงคะแนน ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของสมาชิกรัฐสภา จะต้องมาแสดงตนในที่ประชุม มีสิทธิออกเสียงได้ครั้งละหนึ่งเสียง มิฉะนั้นย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภา ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริต
...
ศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริต มิอาจถือได้ว่าเป็นมติที่ชอบของรัฐสภา คำวินิจฉัยอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อปี 2557 ระบุว่าการออกเสียงแทนกันของ ส.ส. ละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. คือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นการออกเสียงที่ไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย
การเสียบบัตรแทนกันจึงเป็นความผิดของ ส.ส. ด้วย และเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องดำเนินการตามกระบวนการต่อไป และต้องปฏิบัติต่อ ส.ส.จากทุกพรรค และทุกฝ่ายโดยเสมอหน้า อาจร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวนและส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง หรือส่งศาลฎีกาพิจารณาตัดสินต่อไป.