รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ยืนยัน ไม่ขาดแคลนน้ำ สำหรับการอุปโภค-บริโภค อย่างแน่นอน  

วันที่ 2 ก.พ. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ณ สำนักงานชลประทานที่ 9 จ.ชลบุรี ว่า การบริหารจัดการน้ำในเขตภาคตะวันออก ได้แก่ จ.นครนายก ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด และสระแก้ว ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ม.ค. 63) มีน้ำใช้การได้ 945 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 40 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้มีแผนการบริหารจัดการน้ำในเรื่องของการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม รักษาระบบนิเวศ ด้านการเกษตร และอื่นๆ รวม 610 ล้านลบ.ม. 

อย่างไรก็ตาม ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการช่วยกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะเร่งด่วน อาทิ ได้รับความร่วมมือจากบริษัท East Water และการประปาส่วนภูมิภาค ในการสนับสนุนน้ำเข้ามาเสริมในระบบปริมาณกว่า 20 ล้านลบ.ม. อีกทั้งสถาบันน้ำและพลังงานเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังได้ร่วมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรม ลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10 และสำหรับในส่วนของกรมชลประทานได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ โดยขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด และเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย และให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

...

สำหรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2579 จะพัฒนาแหล่งน้ำได้รวม 754 โครงการ สามารถเพิ่มปริมาณการเก็บน้ำได้อีก 1,621 ล้านลบ.ม. และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 1,507,813 ไร่ รวมในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีพื้นที่ชลประทานในภาคตะวันออกเพิ่มเป็น 3.7 ล้านไร่ ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาค และบริษัท East Water ได้ประเมินว่าในปี 2569 จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากเดิม 350 ล้านลบ.ม.เป็น 750 ล้านลบ.ม. ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้สำรองน้ำไว้แล้วจำนวน 781 ล้าน ลบ.ม. และในอีก 20 ปีข้างหน้า (ปี 2579) คาดว่าความต้องการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและการประปา จะมีการใช้น้ำรวม 1,000 ล้านลบ.ม. ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าทั้ง 8 จังหวัด จะมีน้ำใช้เพียงพอและไม่เกิดการแย่งน้ำกันระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมและพื้นที่การเกษตรอย่างแน่นอน

 "การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อมาติดตามการบริหารจัดการน้ำของภาคตะวันออก ยอมรับว่าน้ำต้นทุนในปีนี้มีน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่จากการรับฟังการรายงานจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ และหลังจากนี้จะมีน้ำต้นทุนมารองรับกรณีฝนทิ้งช่วงด้วย จึงขอยืนยันว่าจะไม่ขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ต้องมีแผนการดำเนินการที่พร้อมปฏิบัติ อีกทั้งทุกภาคส่วนต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาชน และเกษตรกร ต้องมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า ก็จะทำให้ผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งไปได้" นายเฉลิมชัย กล่าว.