นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ พรุ่งนี้ เตรียมเปิดข้อมูลเด็ด ปัจจุบันมีพรรคการเมืองไหนกู้เงินบ้าง ชี้ กกต.หากเลือกปฏิบัติเฉพาะบางพรรค เลือกปฏิบัติหรือไม่
วันที่ 13 ม.ค. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊ก สมชัย ศรีสุทธิยากร ระบุ พรุ่งนี้เตรียมเปิดข้อมูลเด็ด ปัจจุบันมีพรรคการเมืองไหนกู้เงินบ้าง ชี้ กกต.หากเลือกปฏิบัติเฉพาะบางพรรค เลือกปฏิบัติหรือไม่
พรรคการเมืองกู้เงินไม่ได้จริงหรือไม่
คดีเงินกู้ ธนาธร-อนาคตใหม่ กำลังงวดเข้ามาทุกที หลายคนบอกอาจจะเร็วกว่าปกติอีก หากศาลรัฐธรรมนูญเลือกแนวทางการวินิจฉัยโดยไม่มีการไต่สวนเพิ่มเติมแบบเดียวกับคดีอิลลูมินาติ ที่จะมีการอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 21 มกราคม 2563 นี้
1. ผมพยายามเปรียบเทียบ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ฉบับปัจจุบัน 2560 และฉบับปี 2550 ในหมวดที่ว่าด้วยรายได้ของพรรคการเมือง ปรากฏว่า แม้จะมีหัวข้อและลักษณะการเขียนต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ ไม่มีรายการ "เงินกู้" ในหมวดรายได้
2. เมื่อเงินกู้ไม่ใช่รายได้ เงินกู้จึงมีสถานะเป็น "หนี้สิน" ที่พรรคการเมืองต้องชำระคืน และสามารถกู้จากใครก็ได้
3. ในอดีต มีพรรคการเมืองที่กู้เงินมาใช้ในกิจการทางการเมืองหรือไม่ ผลการค้นข้อมูลย้อนหลัง พบว่าจากงบการเงินของพรรคการเมืองที่ส่งให้ กกต. ประจำปี 2556 มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่กู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นมาใช้ในกิจกรรมทางการเมือง อาทิ
- พรรคพลังชล ระบุว่า มีเจ้าหนี้เงินยืมทดรองจ่าย
- พรรคมาตุภูมิ ระบุว่า มีเงินกู้ยืมกรรมการ
- พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า มีเจ้าหนี้เงินกู้ระยะสั้น
- พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า มีเจ้าหนี้เงินยืมทดรองจ่าย
...
ซึ่งรายการส่วนใหญ่ จะกู้ยืมเงินจากคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อนำไปใช้จ่ายในการบริหารกิจการของพรรค เช่น ค่าเช่าสำนักงาน เป็นต้น
4. หากอดีต มีพรรคที่เคยกู้เงินไม่ผิด และ กกต.ไม่เคยดำเนินการใดๆ หากเลือกที่ดำเนินการเฉพาะบางพรรคการเมือง จะถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่
5. อาจมีคนโต้แย้งว่า นั่น กฎหมายเก่า นี่ กฎหมายใหม่ มีเจตนาการบังคับใช้ต่างกัน อยากดูไหมครับ ข้อมูลเด็ดๆ ว่า ในปัจจุบันมีพรรคการเมืองไหนกู้เงินบ้าง พรุ่งนี้ เฉลยครับ.