นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

อีกมิติการเมือง

ห่วงโซ่การเมืองที่ผูกติดกันอย่างแยกไม่ออกนั้นมีอยู่หลายประเด็นที่เชื่อมต่อกันเพื่อเป็นเงื่อนไขการเมืองลูกแล้วลูกเล่า

เรื่องใหญ่ๆอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่พลาดแน่

หลังจากมีการตั้ง กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 49 คน เรียบร้อยไปแล้ว โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน กมธ.

ถือว่าพรรคการเมืองให้การสนับสนุนจึงผ่านไปได้

เนื่องจากต้องมีการประชุมเพื่อพิจารณางบประมาณปี 2563 วาระ 2-3 ในวันที่ 8-9 ม.ค.63 ก่อน จึงต้องไปประชุมเพื่อเข้าสู่สาระสำคัญในวันที่ 14 และ 17 ม.ค.63

แม้จะเป็นการเดินหน้าเพื่อแก้ไขกันนั้นดูเหมือนจะเกิดความเห็นต่างระหว่าง 2 ฝ่าย ที่ชัดเจนแล้วว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

คือจะแก้ไขทั้งฉบับหรือแก้ไขเป็นรายมาตรา

ฝ่ายรัฐบาลนั้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐในฐานะรอง กมธ.ฝ่ายรัฐบาลนั้น ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการตั้ง ส.ส.ร. เพราะขาดเหตุผลและความจำเป็นและจะสร้างปัญหามากกว่าประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ

ประชาธิปัตย์นั้นถือว่ามีความมุ่งมั่นที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญท่าทีที่มุ่งไปสู่การแก้ไข ม.256 เพื่อไขประตูทำให้การแก้ไขง่ายเข้า จากนั้นก็ไปว่ากันในรายละเอียด

ย่อยลงไปอีกนิดในฝ่ายรัฐบาล เริ่มจากนายชวน หลีกภัยประธานสภาผู้แทนฯ แม้จะเห็นด้วยว่ายังควรมีวุฒิสภาเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกับ ส.ส.

แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการตั้ง ส.ว. โดยตำแหน่งจาก 6 ผบ.เหล่าทัพ ควรจะตัดทิ้งไป เพราะไม่เหมาะสม

พลันความเห็นของนายชวนที่แสดงออกมา ส่วนหนึ่งเห็นด้วย แต่อีกส่วนไม่เห็นด้วย ไล่ตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ อ้างว่าจะได้นำความเห็นและการดำเนินการต่างๆไปบอก “ลูกน้อง”

...

แต่บรรดา ส.ว.ก็แน่นอนว่ามากันเป็นแผง เพราะไม่เห็นด้วย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วยังไม่ต้องการให้เข้าไปแตะกับการดำรงอยู่ของ ส.ว.

อ้างด้วยว่าเมื่อครบวาระ 5 ปีตามบทเฉพาะกาลก็จบแล้ว

ทว่าที่อยู่ตรงกันข้ามและมีบทบาทโดยตรงน่าจะเป็นประเด็นใหญ่ ก็คือความเห็นที่ต่างกันอย่างชัดเจน

คือเพื่อไทยและอนาคตใหม่ที่ดูเหมือนว่าได้คิดสูตรสำเร็จเอาไว้เรียบร้อยแล้ว และมีรายละเอียดที่ไม่ต่างกัน

อนาคตใหม่นั้นนอกจากการให้ตั้ง ส.ส.ร.แล้วยังมุ่งหวังไปสู่การทำประชามติด้วยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

มาอีหรอบเดียวกับเพื่อไทยที่ต้องการยกร่างใหม่เพื่อแก้ไขยกร่างทั้งฉบับ

คงพอจะมองภาพความเป็นไปต่อการแก้ไขที่มีการตั้งป้อมกัน ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นด้วยซ้ำไป ทั้งรูปแบบการแก้ไขและรายละเอียดเนื้อใน

ความยากง่ายมันจึงอยู่ตรงนี้แหละ...

เว้นแต่ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งหากประนีประนอมกันได้พอสมควรการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะมีความเป็นไปได้ เพียงแต่เน้นไปในประเด็นการเลือกตั้ง การนับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ เป็นต้น

แต่นั่นแหละ ว่าไปแล้วก็เป็นเพียงการซื้อเวลาเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ เพียงแต่ไม่สนองกัน อีกฝ่ายที่ต้องการรื้อทั้งฉบับด้วยเจตนารมณ์ที่ต่างกัน ทำไปทำมาจะเป็นว่าแก้ไขครั้งนี้เพื่อแก้ไขครั้งต่อไป

หรือไม่ก็จะกลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งที่รุนแรงได้.

“สายล่อฟ้า”