“วราวุธ” เคลียร์ดราม่าเบลอภาพถุงพลาสติกในทีวี ชม คนไทยปรับตัวเก่งและสร้างสรรค์ พร้อมเร่งหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องหยุดการนำเข้าขยะ
เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 3 ม.ค. 2563 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโลกออนไลน์มีประเด็นดราม่าวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกผ่านสื่อโทรทัศน์ด้วยการเบลอภาพพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในรายการโทรทัศน์ ว่า การที่สถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งจะดำเนินการอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสถานีนั้น และเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2562 มี 8 สถานีโทรทัศน์ ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ได้แสดงความจำนงให้ความร่วมมือลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก หากเราย้อนกลับไป การเบลอถุงพลาสติกนั้นก็ไม่ต่างจากการเบลอภาพบุหรี่ สุรา หรือปืน แต่วันนี้พอมาพูดถึงการเบลอถุงพลาสติกก็ต้องมองอีกมุมหนึ่งว่าไม่สามารถลดได้ แต่อย่างน้อยการดราม่าทำให้สังคมรับรู้ว่า 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ประเทศไทยเลิกใช้ถุงพลาสติก และสังคมไทยโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ การที่จะติติงหรือการทำอะไรแล้วเกิดการดราม่าเป็นเรื่องที่ง่าย จึงอยากฝากถึงประชาชนที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกออนไลน์ว่า อยากให้ดูถึงเจตนารมณ์ของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ว่าเขามีเจตนาดีที่อยากจะแสดงให้สังคมเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะลด เลิก การใช้ถุงพลาสติก
จากนั้นผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีประชาชนบางส่วนนำอุปกรณ์อย่างอื่น เช่น กระสอบ ถุงปุ๋ย ถังไปใส่สิ่งของแทนถุงผ้า โดย นายวราวุธ เผยว่าเห็นภาพแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระโถน ถังน้ำ รถซาเล้ง หรือรถขนปูน สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่สร้างสรรค์ สร้างรอยยิ้ม ต้องขอบคุณประชาชนคนไทยที่มีอารมณ์ขัน แฝงด้วยความรักในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพราะวันนี้แน่นอนว่าการที่จะหาอะไรมาแทนถุงพลาสติกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ไม่มีแล้ว เชื่อว่าทุกคนจะดิ้นรนหาอะไรมาแทน เช่น ถุงข้าวสาร กระสอบปุ๋ย หรืออะไรมาก็ได้ เพราะในเมื่อไม่มีถุงพลาสติกแล้ว ท้ายที่สุดแล้วไม่เกินฝีมือคนไทยที่จะหาทุกอย่างมาใส่ได้ เพราะคนไทยเก่งและไม่แพ้ชาติใดที่จะปรับตัว เพียงแค่ผ่านไป 3 วัน เราก็เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การนำเอาชั้นตากเนื้อแดดเดียวมาใส่สิ่งของ
...
ส่วนกรณีมีการตั้งโรงงานขยะพิษที่เป็นของประเทศจีนกว่าพันโรงงานในประเทศไทย นายวราวุธ ระบุว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลก็ขอน้อมรับไว้ และไม่ขอแก้ตัวว่าเป็นบทบาทหน้าที่ของกรมหรือกระทรวงใด ทั้งนี้ กระทรวงจะมีการเร่งประชุมเรื่องดังกล่าวเพื่อหยุดการนำเข้าขยะพิษและขยะอิเล็กทรอนิกส์ แม้บางฝ่ายจะอ้างว่าการนำเข้าเพื่อรีไซเคิล แต่เป็นการนำขยะเข้ามาทิ้งในบ้านเรา ประเทศไทยไม่ใช่ถังขยะของบ้านอื่น ฉะนั้น ต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วน
“การตั้งโรงงานเราไม่อยากจะไปโบ้ยว่าเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงอื่น แต่เราจะทำให้ดีที่สุด ไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะผมตั้งปณิธานเอาไว้ว่าปี 63 จะเป็นปีแห่งการลดมลพิษของประเทศไทย และผมจะทำให้ดีที่สุด ส่วนได้พูดคุยกับกระทรวงอุตสาหกรรมหรือไม่นั้น เรื่องการหารือข้ามหน่วยงานมีการพูดคุยกันแน่นอน ส่วนการตั้งโรงงานต่างๆ ที่จะให้เศรษฐกิจบ้านเราพัฒนาไปข้างหน้าเราก็สนับสนุน แต่ทุกโรงงานต้องมีการบำบัดของเสีย ส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม”
(ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา)