“อนุพงษ์” ลั่น อุบัติเหตุ-คนตายช่วง 7 วันอันตราย ต้องลดลงมากกว่านี้ พร้อมนำตัวเลขวิเคราะห์มาตรการไหนได้ผล เผย เร่งเตรียมการก่อนเลือกตั้งท้องถิ่น

วันที่ 2 ม.ค. 63 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงการรณรงค์ 7 วันอันตราย “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” ว่า ต้องนำสิ่งที่เกิดขึ้นไปวิเคราะห์ว่ามาตรการใดที่ทำแล้วเกิดผลให้จำนวนในอุบัติเหตุลดลง โดยเฉพาะจำนวนของผู้เสียชีวิต ซึ่งจะต้องไปหามาตรการที่ต้องทำต่อเนื่องให้ลดลงได้มากกว่านี้ พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายและอำนวยความสะดวกในทุกด้านด้วยการปรับแผนให้สอดคล้องกับพื้นที่ มาตรการในถนนสายรองจากนี้กระทรวงมหาดไทยจะต้องนำตัวเลขอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไปวิเคราะห์ก่อนว่าระหว่างสายหลักกับสายรองส่วนใดมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นน้อยกว่ากัน และต้องไปดูว่าเกิดจากมาตรการใด

ส่วนพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งใน 13 จังหวัดและลูกเห็บตก ทุกภาคส่วนต้องเตรียมการรับมือโดยเฉพาะกับปัญหาภัยแล้งเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อทำการเกษตรด้วยการกักเก็บน้ำให้เพียงพอ โดยการประสานไปยังการประปาทั้งส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นต้องหาแหล่งน้ำสำรอง โดยได้ดำเนินการสั่งการไปแล้ว แต่ในพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากต้องนำน้ำไปเติมที่เก็บน้ำของหมู่บ้าน ในส่วนของวาตภัยและลูกเห็บตกนั้น กระทรวงมหาดไทยต้องประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปเยียวยาซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย รวมถึงปัญหาภัยหนาวใน 6 จังหวัด รวมถึงต้องเตรียมการรับมือในเรื่องของปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะการเข้มงวดห้ามเผาในที่โล่งแจ้งซึ่งเป็นต้นเหตุหลัก และหามาตรการหาวิธีทดแทนแทนการเผาเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยภาพรวมยังเป็นไปตามมาตรการและกลไกที่เตรียมไว้ สิ่งสำคัญคือสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนด้วย

...

สำหรับการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า เรื่องแรกที่กระทรวงมหาดไทยต้องทำคือให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจจำนวนของประชาชนที่สิ้นสุดไปตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2562 และต้องรีบดำเนินการในขั้นตอนต่อไปให้เรียบร้อยเพื่อจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน ม.ค. ให้ทัน เพื่อประกาศให้ได้ตามหลักเกณฑ์ ส่วนพื้นที่ใดมีจำนวนประชากรไม่ถึง 25 คน จะต้องไปรวมกับหมู่บ้านอื่นเพื่อประกาศเลือกตั้งต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนงานรับผิดชอบพื้นฐานของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องทำคู่ขนานไปคือสำรวจจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพื่อให้ทันกับประกาศเลือกตั้ง ขณะที่ในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดูเรื่องระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ และแบ่งเขตให้เสร็จสิ้น และกระทรวงมหาดไทยจะต้องไปดูในส่วนเรื่องของงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีที่จะต้องนำเข้าที่ประชุมต่อไปเพื่อพิจารณาและกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป.

(ภาพประกอบจาก thaigov.go.th)