‘สมศักดิ์’ ทำนายอยู่ได้ครบเทอม วอนอย่าก่อม็อบ ฝ่ายค้านโหมโรง จับ 7 รมต.ซักฟอก
พปชร.โวลั่นปี 63 รัฐบาลแกร่งทั่วแผ่น “สนธิรัตน์” มั่นใจแน่นปึ้ก หมดปัญหาเสียงปริ่มน้ำ “สมศักดิ์” โอ่เป็นไปได้สูงอยู่ครบเทอม ป้อง “บิ๊กตู่” ไม่ใช่ขาลง “ธนกร” เย้ย “ธนาธร” ก็แค่นายกฯในโพล ท้าฝ่ายค้านซักฟอกของจริง อย่าแค่ราคาคุย “เฉลิมชัย” ยัน ปชป.ร่วมรัฐบาลยังมีความสุขดี “สาธิต” ไม่ประมาท ขออย่าป้ายสี ชี้ “ประยุทธ์” จะอยู่หรือไปอยู่ที่ประชาชนไม่ใช่ฝ่ายค้าน กิจสังคมใหม่รอเก็บตกเด็กอนาคตใหม่รวมเสียง 20 ส.ส.ค้ำเรือแป๊ะทะลุ 260 เสียง “พิเชษฐ” โอ่รัฐบาลต้องเหลียวตามองมากขึ้นแน่ เพื่อไทยจ่อเปิดเวทีเชือด 7 รัฐมนตรีปลาย ม.ค. “สุทิน” เผย “บิ๊กป้อม” ไม่รอดโดนด้วย “จิรายุ” โหมโรงจัดหนักลากไส้คนโกง “เสรีพิศุทธ์” ขู่ฟ่อรัฐบาลจวนไปไม่รอดต้องโค่นให้ได้ กมธ.งบฯปิดจ๊อบตัดงบฯ ปี 63 ลงได้ 1.6 หมื่นล้าน “เรืองไกร” จองกฐินหั่นทิ้งงบกลาโหมเพิ่มอีก 15 เปอร์เซ็นต์
พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แกนนำรัฐบาล มั่นใจการทำงานในปี 2563 จะราบรื่นเพราะรัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น หลักจากพรรคฝ่ายค้านอิสระกลับมาร่วมงานกับรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลได้เสียง ส.ส.งูเห่าจากพรรคอนาคตใหม่เข้ามาเสริม โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ประเมินว่ารัฐบาลจะเข้มแข็งขึ้น ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แกนนำกลุ่มสามมิตร ระบุเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม
...
“สนธิรัตน์” ฟุ้งปี 63 ดัน พปชร.เข้มแข็ง
เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว. พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการทำงานของพรรคในปี 2563 ว่า จากการที่พรรคได้ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อเดินหน้าในการทำงาน ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ในพื้นที่ที่มี ส.ส.ของพรรค เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นเลขาธิการพรรค ปีหน้าจะมีอะไรที่เป็นมิติใหม่ นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่ก่อตั้งใหม่และมีสมาชิก ส.ส.จำนวนมาก แน่นอนว่าช่วงต้นต้องปรับตัวกันมาก เพราะเราเติบโตเร็ว ดังนั้นในปี 2563 การบริหารพรรคจะเป็นมิติของการยกระดับการบริหารจัดการ ทั้งระบบพรรคและยุทธศาสตร์พรรค ต้องเร่งทำให้พรรคเข้มแข็ง ขณะที่การเลือกตั้งซ่อมที่ จ.กำแพงเพชรและสมุทรปราการ มั่นใจรักษาเก้าอี้ทั้ง 2 พื้นที่ไว้ได้ เพราะเป็นพื้นที่เดิมของพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว
เชื่อมั่นฝั่งรัฐบาลเสียงมั่นคงพอ
นายสนธิรัตน์กล่าวอีกว่า สำหรับเสียงรัฐบาลในฐานะพลังประชารัฐเป็นแกนนำนั้น ปัจจุบันคิดว่าเสียงรัฐบาลดีขึ้นเรื่อยๆ เราเพิ่งได้เสียงเพิ่มจากการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.ขอนแก่น โดยประชาชนเลือกพรรครัฐบาล ถือเป็นสัญญาณที่ดี เสถียรภาพรัฐบาลอยู่ที่ความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน กับความเข้มแข็งของตัวพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐเอง จึงเชื่อว่าเสียงที่มีอยู่ในปัจจุบันทำให้เสียงของรัฐบาลมีความมั่นคงเพียงพอในการบริหารประเทศ แม้บางช่วงจะมีภาวะปริ่มน้ำบ้าง อันเกิดจากสมาชิก ส.ส.ของพรรคติดภารกิจกันบ้าง แต่ความมั่นคงของรัฐบาลในเชิงของเสียงดีขึ้น อีกทั้งถ้ารัฐบาลเดินหน้ามุ่งมั่น และได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน จะมีโอกาสที่เสียงจะมีความมั่นคงมากขึ้น
“สมศักดิ์” จับพรรคร่วมฯพบปะมากขึ้น
เมื่อเวลา 10.05 น. ที่ร้านโกลเด้น เพลส ถนนงามวงศ์วาน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมและแกนนำพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงเสียง ส.ส.ของรัฐบาลที่ยังปริ่มน้ำว่า อาจต้องพบปะพูดคุยกันมากขึ้นก่อนที่จะพิจารณาญัตติสำคัญ ส่วนเรื่องงูเห่ามองเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อรัฐบาลเกิดเสียงที่ปริ่มน้ำที่ผ่านมาทุกรัฐบาลเคยเกิดขึ้น อย่างสหรัฐอเมริกาการถอดถอนประธานาธิบดีอาจจะมีงูเห่า เพื่อนฝูงต่างพรรคอาจช่วยกัน เมื่อถามถึงเสียงวิจารณ์รัฐบาลยังไม่ได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อเป็นรัฐบาลผสมนโยบายจะต้องมาแลกเปลี่ยนกัน อาจทำนโยบายของแต่ละพรรคไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากทำเต็มที่แล้วเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจ โดยประชาสัมพันธ์ผลงานที่ทำไปแล้ว
เป็นไปได้สูงรัฐบาลอยู่ครบเทอม
เมื่อถามว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือปัญหาต่างๆ จะเป็นผลให้เกิดการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมาหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า การปรับ ครม.ไม่น่าตกใจเพราะเป็นไปตามสถานการณ์ เมื่อถามว่า รัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปีหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า เป็นสูตรตายตัวไม่ได้ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม และฝ่ายค้านเองก็อาจเห็นว่าหากเลือกตั้งบ่อยๆก็อาจบอบช้ำไปด้วย จึงควรใช้เวลานี้ให้ทำประโยชน์ก่อน เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นไปได้ที่ผู้บริหารอาจจะอยากอยู่นานหรือไม่นานได้ทั้งนั้น
ดักคอรื้อทั้งฉบับแก้ รธน.ไม่จบแน่
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านต้องการแก้ไขทั้งฉบับ ขณะที่บางส่วนฝ่ายรัฐบาลเสนอให้แก้เป็นรายมาตรานั้น ต้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พิจารณาดูก่อนจะพิจารณาประเด็นไหนก่อนหลัง แต่ช่วงนี้ยังพิจารณาศึกษา การแก้ไขเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าอะไรคิดว่าพอไปได้ต้องยอมกันบ้าง บางทีต้องยอมเสียแขนขาเพื่อรักษาชีวิต ยอมเสียบางเรื่องเพื่อให้เรื่องใหญ่ๆผ่านไปได้ หากจะเอาทั้งหมดเราต้องดูว่าตัวเราเองมีความแข็งแรงขนาดไหน ถ้าแข็งแรงไม่มาก เราจะไปเอาทั้งหมดก็ไม่จบ จะเอามันเอาสะใจอย่างเดียว หรือพูดให้เกิดความคิดเห็นต่างทั่วบ้านทั่วเมือง แล้วเกิดความเสียหายตามมากับประเทศและประชาชน ไม่เกิดประโยชน์อะไร ส่วนจะใช้เวลาสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะต้องอย่างโน้นอย่างนี้
เตือนอย่าก่อม็อบทำ ปท.บอบช้ำอีก
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องเศรษฐกิจในปีหน้า ประเทศได้รับผลกระทบทั้งภายในและนอกประเทศมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา อย่างผลกระทบจากประเทศอังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรปจะส่งผลกระทบ แต่เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ผ่านสภาฯ ใช้ได้ช่วงต้นปี 63 เบาใจขึ้น เรามีรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจช่วยกันทำงาน ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เกิดจากความคิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่อย่าทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก ทำประเทศชาติชะงัก เมื่อถามถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กังวลลัทธิชังชาติ จะเป็นชนวนขัดแย้งขึ้นอีกหรือไม่ นายสมศักดิ์ตอบว่า ประชาชนพบกับปัญหามามากแล้ว ความเห็นต่างอยากให้เแสดงออกทางวิชาการมากกว่า รวมเป็นกลุ่มก้อนแล้วก่อม็อบจะทำให้สถานการณ์หนักกว่าที่เป็นอยู่ เรามีประสบการณ์มาแล้ว มีหลายคนถูกจองจำ ถามว่าได้ประโยชน์อะไร ขอว่าอะไรที่จะทำให้ขัดแย้งอย่าไปทำตาม ต้องคิดว่ากว่าจะได้รัฐธรรมนูญกลับคืนมา ต้องต่อสู้และบอบช้ำกันเท่าไหร่
ปัด “บิ๊กตู่” ขาลงผลโพลแพ้ “ธนาธร”
นายสมศักดิ์กล่าวถึงกรณีนิด้าโพลสำรวจความเห็นประชาชนเรื่องนายกฯในใจประชาชนพบว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีคะแนนเป็นอันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม มาอันดับ 2 ถือว่ารัฐบาลขาลงหรือไม่ ว่า ไม่หรอก เพราะโพลส่วนใหญ่ที่สำรวจในช่วงที่รัฐบาลบริหารงาน ส่วนใหญ่นายกฯไม่ค่อยได้เป็นที่หนึ่ง และโพลอาจจะถามในกลุ่มเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง เช่น ไปทำในกลุ่มที่สนับสนุนนายธนาธร อาจจะได้ความนิยมเยอะแต่ถ้าเป็นโพลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถามทีละ 5-6 หมื่นคนจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าถามถึง 300-400 คนแล้วมาชี้ว่าเป็นความคิดเห็นของคนทั้งประเทศไม่ได้ เรื่องนี้คงไม่มีปัญหาอะไร ตนเคารพในสิทธิการทำโพลและคำวิพากษ์วิจารณ์ของทุกคน
“ธนกร” ท้าฝ่ายค้านอย่าแค่ราคาคุย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า การทำงานของพรรคพลังประชารัฐในปี 63 เป็นการสานต่อนโยบายเดิมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ พัฒนาต่อยอดเป็นนโยบายใหม่เพื่อคนไทยทั้งประเทศ แม้หลายฝ่ายคาดการณ์การเมืองปี 63 จะเข้มข้นมากขึ้น เพราะฝ่ายค้านประกาศว่าจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และบางพรรคการเมืองพยายามเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนออกมาชุมนุมบนท้องถนนก็ตาม แต่พรรคพลังประชารัฐจะไม่หลงกลเกมยั่วยุ เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ที่พยายามอดทนอดกลั้น ไม่หลงเกมยั่วยุของฝ่ายตรงข้าม เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้ามีหลักฐานจริงก็ว่ากันไป ขอแค่ว่าอย่าเป็นราคาคุยเหมือนที่ผ่านๆมาแล้วกัน โหมโรงไปเรื่อย แต่พอถึงเวลาจริงกลับน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง ยืนยันรัฐบาลพร้อมชี้แจงทุกประเด็น และมั่นใจการชี้แจงของรัฐมนตรีทุกท่าน
เหน็บ “ธนาธร” แค่นายกฯในโพล
นายธนกรกล่าวอีกว่า ส่วนนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความนิยมทางการเมืองยกให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรี มาอันดับ 1 ร้อยละ 31.42 อันดับ 2 เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 23.74 ว่ากันไปตามผลโพล อยู่ที่มุมมอง หลายสำนักโพลแตกต่างกันไปขึ้นบ้างลงบ้าง ไม่ได้มีปัญหาอะไร นายธนาธรเป็นนายกฯโพลไป ส่วน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯในใจคนไทยต่อไป คนรักคนไม่รักเป็นเรื่องปกติในสังคม แต่ พล.อ.ประยุทธ์รักคนไทยทุกคน พล.อ.ประยุทธ์ จะมุ่งมั่นทำงานให้พี่น้องคนไทยทุกคนต่อไป
“เสี่ยต่อ” ยัน ปชป.ร่วม รบ.ยังสุขดี
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานในปี 2563 ว่า พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป็นภาพที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าการทำงานของรัฐมนตรีทุกคนเป็นการทำงานในฐานะเป็นรัฐบาล และมีความสุข ส่วนการขับเคลื่อนพรรคเป็นการบริหารจัดการภายใน ซึ่งทุกพรรค การเมืองต้องขับเคลื่อนอาจจะโดยกระบวนการหรือกลไกต่างๆที่พรรคมี และยืนยันประชาธิปัตย์เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคทั่วประเทศ พื้นที่ไหนที่มีความพร้อมดำเนินการจัดตั้งได้เลยทันที
แทงกั๊กส่งคนชิงผู้ว่าฯกทม.
นายเฉลิมชัยกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งท้องถิ่นในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ทีมยุทธศาสตร์แต่ละภาค และทีมยุทธศาสตร์ของพรรค ซึ่งตนเป็นผู้ดูแล จะมีวิเคราะห์สถานการณ์ก่อน พื้นที่ไหนที่มีความพร้อม พรรคจะส่งบุคคลลงสมัคร แต่คงไม่ส่งลงทุกพื้นที่ ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ขอให้ถึงเวลาใกล้ๆก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่รู้ว่าผู้ว่าฯกทม.จะเลือกตั้งเมื่อไหร่
“สาธิต” ไม่ประมาทแต่อย่าป้ายสี
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านว่า เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกลไกหลักสำคัญของประชาธิปไตย เป็นหลักการสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ หากการเมืองไม่มั่นคงชาวบ้านจะเบื่อหน่ายคิดว่าเสียเวลาทุกอย่างจะถอยหลังไป การอภิปรายที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องสำคัญประชาชนต้องติดตาม เหมือนคนดูการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ผู้แสดงเองต้องเล่นให้สมบทบาทบนพื้นฐานคุณธรรมจริยธรรม ต้องวิพากษ์วิจารณ์ตามข้อมูลจริงตามกฎหมาย ไม่ใช่พูดเพื่อสนุกเอามัน ใส่ร้ายป้ายสี ส่วนรัฐบาลต้องตอบชี้แจงให้ได้ทุกข้อติติง เมื่ออภิปรายจบจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี หรือเปลี่ยนตัวนายกฯหรือไม่ ตนไม่กังวลพร้อมเต็มที่ เรื่องนี้ไม่สำคัญเท่ากับเมื่อเทียบกับข้อมูลในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นข้อมูลดิบสำหรับชาวบ้านว่าจะเลือกใครเป็นผู้แทนฯในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ขอให้ทุกฝ่ายทำเต็มที่สร้างสรรค์ ตนไม่ประมาทจะเตรียมข้อมูลเต็มที่ให้สมกับที่ประชาชนไว้ใจให้ทำหน้าที่นี้
“บิ๊กตู่” อยู่หรือไปอยู่ที่ ปชช.ตัดสิน
นายสาธิตกล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ มีใบเสร็จถึงขั้นต้องไปโหวตเลือกนายกฯกันใหม่ ว่า ไม่แปลกใจเพราะเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านต้องเชิญชวนติดตามการทำหน้าที่เขาในสภาฯ แต่สุดท้ายอยู่ที่ข้อมูลที่จัดเตรียมมาอภิปรายจะเป็นอย่างที่บอกหรือไม่ ขอย้ำว่าการปรับเปลี่ยนตำแหน่งหรือไม่ปรับ รวมถึงนายกฯจะอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่อยู่ที่ฝ่ายค้านหรือรัฐบาลเป็นคนตัดสิน
49 อรหันต์ศึกษา รธน.คือความหวัง
นายสาธิตกล่าวถึงการตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ว่า ปี 2563 มีความหวังกับคณะ กมธ.ชุดนี้ ทั้ง 49 คนมาจากทุกฝ่าย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะ กมธ.ฯ เป็นคนมีประสบการณ์ทางการเมืองคงสร้างสมดุลได้ เชื่อว่า กมธ.จะเห็นสภาพการเมืองไทยว่าเป็นสภาพการเมืองค่อนข้างเผชิญหน้า เงื่อนไขแก้รัฐธรรมนูญแม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะเป็นฉบับที่ทุกฝ่ายรู้ดีว่ามีล็อกอยู่หลายชั้น แต่ถ้า กมธ.มองดีๆ ร่วมกันหาช่องทางได้สำเร็จจะเป็นทางออกของทุกฝ่ายทำให้การเมืองเดินไปข้างหน้าได้ด้วยระบอบประชาธิปไตยเอง ทุกฝ่ายจะมีความหวังกับ กมธ.ชุดนี้ เพราะหากเดินหน้าได้สำเร็จจะเป็นทางออกของการเมือง ที่ไม่ทำให้เกิดการเผชิญหน้า การเมืองไม่ต้องลงไปบนท้องถนน ส่วนรัฐบาลจะบริหารงานได้ราบรื่น แต่ถ้าตั้ง กมธ.มาแล้วใช้เวลา 120 วัน ไปกับการวนถกเถียงด้วยข้อมูลเก่าๆ ไม่มีข้อมูลใหม่ที่มองไปข้างหน้า จะเสียเวลาเปล่า จะทำให้ประชาชนไม่มีความหวังไปด้วย
“เทพไท” ย้ำกระเเสพ่อฟ้าแรงขี่ “ลุงตู่”
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลายคนในสังคมคงแปลกใจผลสำรวจนิด้าโพล ที่คะแนนนิยมการเป็นนายกฯของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนาคตใหม่ แซงหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องยอมรับความจริงว่ากระแสสังคมที่มีต่อนายธนาธรยังร้อนแรง ใช้การขับเคลื่อนผ่านสังคม สื่อโซเชียล ยิ่งตราบใดที่ผู้คนในสังคมรู้สึกว่านายธนาธรหรือพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมากเท่าไหร่ กระแสความเห็นใจและสนับสนุนนายธนาธรหรือพรรคอนาคตใหม่ยิ่งมากขึ้น ยิ่งตอนนี้นายธนาธรไม่ได้เป็น ส.ส.เหมือนปิดกั้นการเคลื่อนไหวในสภาฯ เป็นโอกาสจะสร้างความชอบธรรมให้เคลื่อนไหว นอกสภาฯได้อย่างเต็มที่ เห็นจากแฟลชม็อบหรือการเคลื่อนไหวในเทศกาลปีใหม่กับกลุ่มชาติพันธุ์แล้วใช้สื่อโซเชียลกระพือข่าว ทำให้กระแสความนิยม ยิ่งเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบทบาทและท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ยังติดกับดักกับการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ การลงพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิตช่วงเทศกาลปีใหม่ เกิดภาพผู้หญิงคนหนึ่งเบื่อหน่ายนายกฯ สื่อโซเชียลนำไปขยายผลด้านลบ ทำให้ภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ลดลงโดยปริยาย
แก้ปากท้องเหลว รบ.จอดเร็วขึ้น
นายเทพไทกล่าวอีกว่า กระแสความนิยมของนายธนาธรต้องตั้งคำถามกับ คสช.ว่า 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารประเทศแบบเบ็ดเสร็จ คสช.ได้ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์หรือมาตรา 44 แก้ปัญหาประเทศอะไรได้บ้างจากระบอบทักษิณ แม้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ข้อเท็จจริงคือเป็นผลิตผลจาก คสช.จึงทำให้คนส่วนใหญ่ที่ยึด หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยแท้จริงยอมรับไม่ได้ รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจะอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยคือ 1.ความซื่อสัตย์สุจริตของนายกฯ รัฐมนตรีและบริวารคนรอบข้าง 2.ความสามารถการแก้ปัญหา ปากท้องประชาชน ถ้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจล้มเหลวจะพบกับจุดจบเร็วขึ้น 3.เสถียรภาพของรัฐบาล ความสามัคคีในพรรคร่วมรัฐบาล
กิจสังคมใหม่รอเก็บตกเด็ก อนค.
นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธรรมไทย กล่าวว่า หลังจากที่พรรคประชา–ธรรมไทยและพรรคไทยศรีวิไลย์ ประกาศสลายการเป็นพรรคฝ่ายค้านอิสระในวันที่ 6 ม.ค.แล้ว เพื่อไป ทำงานเป็นฝ่ายรัฐบาลในนามกลุ่มกิจสังคมใหม่ร่วมกัน 4 พรรค ได้แก่ พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรค รักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคประชาธรรมไทย และพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่จะขับเคลื่อนการทำงานและมีมติ เรื่องใดไปในทางเดียวกันตลอด ขณะนี้กลุ่มกิจสังคมใหม่ มีอยู่ 8 เสียง แต่มั่นใจว่าเร็วๆนี้กลุ่มกิจสังคมใหม่อาจมีเกือบ 20 เสียง หากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบจะมี ส.ส.อนาคตใหม่บางส่วนมาอยู่ร่วมสังกัดกับกลุ่มกิจสังคมใหม่ เท่าที่ทราบมีการหารือพูดคุยกันไว้บ้างแล้ว เพราะการมาอยู่กลุ่มกิจสังคมใหม่ถือว่าช่วยลดแรงเสียดทาน ไม่ต้องไปเผชิญหน้ากับใคร ไม่ใช่พรรคใหญ่ และไม่ใช่พรรคเล็กเกินไป จึงไม่มีแรงกดดันในการทำงาน
โอ่ รบ.ต้องเหลียวมามองมากขึ้น
นายพิเชษฐกล่าวอีกว่า ที่สำคัญกลุ่มกิจสังคมใหม่ ไม่ได้มีจุดยืนจะต้องสนับสนุนรัฐบาลในทุกเรื่อง หากเรื่องใดที่รัฐมนตรีมัวหมองในเรื่องการทุจริต ยาเสพติด หรือการบุกรุกพื้นที่ป่า และไม่สามารถตอบ คำถามให้สังคมหายสงสัยได้ กลุ่มกิจสังคมใหม่จะไม่ ยกมือสนับสนุนให้ ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกลุ่มกิจสังคมใหม่ รวมเสียง ส.ส.ได้มากขึ้น จะไปต่อรองเก้าอี้ ครม.กับ รัฐบาลหรือไม่ นายพิเชษฐตอบว่า ไม่ได้เป็นการต่อรอง อะไร แต่เขาจะเริ่มมองเรามากขึ้น ส่วนจะมีโอกาสได้เข้า ไปเป็นฝ่ายบริหารหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม แต่สำหรับตนเฉยๆ เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว
ชี้ รบ.ทำงานง่ายขึ้น ส.ส.เกิน 260 เสียง
“ส่วนการทำงานของรัฐบาลหลังจากปีใหม่เชื่อว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะมีเสียงห่างจากฝ่ายค้านมากขึ้น ถ้ารวมพรรคฝ่ายค้านอิสระ ส.ส.งูเห่า พรรคอนาคตใหม่ 4 เสียง และ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ บางส่วนแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลจะมีเสียงเกิน 260 เสียง ไปเล็กน้อย ถือว่ากำลังดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะถ้ามากเกินไปก็ไม่ดี” นายพิเชษฐกล่าว
พท.คาดเปิดเวทีซักฟอกปลาย ม.ค.
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรค ร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงความคืบหน้า การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า ในวันที่ 3 ม.ค. 2563 คณะทำงานพรรคเพื่อไทยจะประชุมกันอีกรอบ เพื่อวางแนวทางการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ดูแล้วน่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ประมาณกลางเดือน ม.ค.ปีหน้า คาดว่าจะเข้าสู่วาระการอภิปราย ไม่ไว้วางใจได้ในปลายเดือน ม.ค. หรือต้นเดือน ก.พ.2563 แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้เลี่ยงช่วงเทศกาลตรุษจีนปลายเดือน ม.ค. ส่วนรัฐมนตรีที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น คงไม่หนีไปจากรายชื่อที่ปรากฏเป็น ข่าวไปแล้ว 5 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ถือว่ามีความชัวร์แล้ว 80%
ล่อเป้า 7 รมต. “บิ๊กป้อม” ไม่รอดสันดอน
นายสุทินกล่าวอีกว่า ส่วนคนที่จะถูกยื่นอภิปราย เพิ่มเติม ต้องรอฟังจากพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย อย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อยากให้ยื่นอภิปราย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯ มีความเป็นไปได้ที่จะยื่นซักฟอก พล.อ.ประวิตร เพิ่มอีกคน หรือนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค ประชาชาติ มีบุคคลที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่ ดังนั้น ต้องรอการสรุปมติจากพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย คาดว่าภายในวันที่ 20 ม.ค. น่าจะปิดสำนวนได้ว่า จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งหมดกี่คน ประเด็นใดบ้าง แต่ดูแล้วคงไม่เกิน 7 คน
โหมโรงจัดหนักถล่มแหลกคนโกง
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอบคุณประชาชนกรณีผลสำรวจดุสิตโพลที่ตนได้อันดับ 3 ในเรื่องความชื่นชอบพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ถือเป็นการโหวตให้กับฝ่ายค้านและ ส.ส.พรรคเพื่อไทยทุกคนที่ทำงานกันเป็นทีมในการติดตามตรวจสอบรัฐบาลที่ยังมีรากอำนาจมาจากเผด็จการ หลังวันหยุดปีใหม่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น ตรวจสอบรัฐบาลที่ใช้อำนาจรัฐทำนโยบายเอื้อทุจริตให้พวกพ้อง รัฐมนตรีหลายคนใช้คนใกล้ชิดเก็บต๋งทุกเม็ด เกือบร้อยละ 50 ทุกนโยบายดินน้ำลมไฟ ในช่วง 7-10 ม.ค.2563 แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน
เย้ยฉายาสะท้อนความเป็นจริง
นายจิรายุกล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่ารัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ทำไมอยู่มาถึง 6 ปี กลับไม่สามารถพัฒนาประเทศ และทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ ประชาชนมีแต่จนลงจนลง แต่ยังห่วงอำนาจ วันนี้ควรจะปล่อยให้ประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั่วโลกมีตัวอย่างให้เห็นเสมอว่าการฝืนธรรมชาติทางการเมืองมีผลอย่างไร ไม่มีประเทศไหนเจริญจากการฝืนธรรมชาติของประชาธิปไตย ฉายาต่างๆที่สะท้อนออกมาล้วนเป็นความจริงทั้งสิ้น เพราะกว่า 7 ปีมานี้ประเทศไทยหยุดอยู่กับที่จนกลายเป็นประเทศผู้ป่วยแห่งเอเชียไปแล้ว
“เสรีพิศุทธ์” ชี้ รบ.จวนล่มต้องโค่นให้ได้
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวอวยพรปีใหม่ 2563 ว่า เนื่องในวารดิถีขึ้นปีใหม่ ขอให้พี่น้องประชาชนพยายามอดทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศบ้านเมืองเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือเรื่องต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง เชื่อแน่ว่าปีใหม่นี้ รัฐบาลซึ่งทำในสิ่งไม่ถูกต้องชอบธรรม ทำให้บ้านเมืองมีปัญหามาโดยตลอด จวนจะอยู่ไม่ได้ ฝ่ายค้านจะพยายามอย่างยิ่งในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบสุข ให้เดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดนี้ให้ได้
กมธ.ปิดจ๊อบตัดงบฯ 63 ลง 1.6 หมื่นล้าน
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.วิสามัญฯได้พิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท จำนวน 55 มาตรา ที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นประธาน กมธ. เสร็จเรียบร้อยแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รอนำเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2-3 ระหว่างวันที่ 8-9 ม.ค.2563 โดย กมธ.ได้พิจารณาปรับลดงบลงไปทั้งสิ้น 16,231 ล้านบาท
พท.จ้องหั่นรายกระทรวงเพิ่มอีก 15%
นายเรืองไกรกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ กมธ.สัดส่วนพรรคเพื่อไทยหลายคนขอสงวนความเห็นในฐานะ กมธ.เพื่อนำไปอภิปรายวาระ 2-3 ในภาพรวม โดยจะขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงต่างๆลง 10-15% แต่จะไม่ปรับลดงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหมวดของสถาบัน เนื่องจากเห็นว่า งบประมาณรายจ่ายปี 2563 กว่าจะผ่านขั้นตอนความเห็นชอบจากวุฒิสภา และรอดูจะมีผู้ร้องว่ามีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดูแล้วน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ประมาณปลายเดือน ก.พ.หรือต้น มี.ค.2563 เท่ากับมีระยะเวลาการใช้งบประมาณเหลือแค่ 7 เดือน จึงไม่สมควรตั้งงบไว้ตามปกติ จะต้องปรับลดงบลงมาตามระยะเวลาการใช้งบประมาณที่ลดลง ในส่วนของตนจะขอสงวนความเห็นตัดลดงบประมาณในส่วนเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจาก 96,000 ล้านบาท เหลือ 56,000 ล้านบาท ตัดงบไปทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาทเนื่องจากเหลือระยะเวลาการใช้งบรายจ่ายปี 2563 แค่ 7 เดือน จึงไม่ควรตั้งงบไว้เต็มจำนวนที่ 9.6 หมื่นล้านบาท
กองทัพถูกเฉือนมากสุด 1.5 พันล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระ 2-3 มี กมธ.สงวนความเห็น 25 คน และมี ส.ส.สงวนความเห็น 146 คน โดยหน่วยงานที่ถูก กมธ.ปรับลดงบประมาณรายจ่ายปี 2563 มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.กระทรวงกลาโหม ถูกตัดลดงบประมาณ 1,518,272,500 บาทจาก 125,918,522,500 บาท เหลือ 124,400,250,000 บาท 2.กระทรวงสาธารณสุข ถูกตัดงบฯ 1,318,310,800 บาท จาก 28,049,048,300 บาท เหลือ 26,730,737, 500 บาท 3.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ถูกตัดลดงบประมาณ 1,147,479,100 บาท จาก 49,037,823,700 บาท เหลือ 47,890,344,600 บาท ทั้งนี้ กมธ.ตั้งข้อสังเกตการใช้งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมว่า ควรให้ความสำคัญกับกำลังพลในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยควรใช้วิธีรับสมัครแทนการเกณฑ์ทหาร เพื่อให้คัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถ มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการกำลังพล
“สมเจตน์” รับได้สื่อตั้งฉายาสะท้อน ส.ว.
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ตั้งฉายาให้วุฒิสภาเป็นสภาฯ ทหารเกณฑ์ ว่า เรื่องฉายาไม่ว่าจะตั้งอย่างไรเป็นเรื่องปกติ การทำหน้าที่ใครๆก็เชื่อว่าตัวเองทำดีทั้งนั้น หายากที่ใครจะคิดว่าตัวเองทำไม่ดี เพราะจะทำอะไรเชื่อว่าต่างมีเหตุผลในการกระทำทั้งสิ้น ไม่มีใครเห็นตัวตนได้ชัดเจน ต้องมีคนอื่นหรือกระจกเงามาสะท้อนการกระทำนั้น และกระจกเงานี้มักสะท้อนไม่ค่อยพลาดจากภาพที่ปรากฏ จึงควรจะนำภาพสะท้อนนั้นมาทบทวน หากผิดพลาดก็แก้ไขให้ดีขึ้น หากไม่ได้เป็นไปตามที่เขาตั้งฉายาต้องมาทบทวนตนเองว่าเหตุใดเขาจึงตั้งฉายาไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงเช่นนั้น ไม่เห็นแปลกประหลาดอะไร หากเขาไม่ตั้งฉายาถึงจะเรียกว่าเป็นเรื่องแปลก เหมือนกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่สื่อไม่มีการตั้งฉายา
ยุคสื่อทรุดหนัก–ฝ่ามรสุมสู่โอกาส
วันเดียวกัน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2562 สถานการณ์ด้านสื่อมวลชนไทยในรอบปีปรากฏว่า เป็นปีแห่งการ “ทรุดหนัก ฝ่ามรสุม สู่โอกาสใหม่” เพราะเทคโนโลยีได้เข้ามาทำให้ข่าวสารมีปริมาณมาก นำเสนอฉับไว ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมุ่งหน้าเสพข่าวสารผ่านออนไลน์มากขึ้น อุตสาหกรรมสื่อตกอยู่ในสภาพย่ำแย่อย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี ยุคดิจิทัลดิสรัปชัน สื่อทุกแขนงเร่งปรับตัวขนานใหญ่ ต้องแปรวิกฤติให้เป็นโอกาสแห่งความท้าทาย เชื่อมโยงทุกแพลตฟอร์มสู่กลุ่มเป้าหมาย จับมือพันธมิตรทางธุรกิจสู่โมเดลธุรกิจสื่อใหม่ เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจกับมาตรฐานคุณภาพ เรียกความน่าเชื่อถือของวิชาชีพกลับมาอย่างยั่งยืน
โดนอำนาจแทรกแซงซับซ้อนพลิกแพลง
“แม้กฎหมายพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อยกเลิก มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 และได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี แต่การแทรกแซงมีความซับซ้อนพลิกแพลงมากขึ้น เช่น เดิมมีการกดดันโดยโทรศัพท์ไปถึงผู้บริหารสื่อแขนงนั้นที่เสนอข่าวกระทบต่อผู้มีอำนาจ ตอนนี้ได้เพิ่มช่องทางโดยโทรศัพท์หรือประสานไปที่นักข่าวภาคสนามโดยตรง ท่ามกลางมีข่าวปลอมระบาด หลังได้รัฐบาลใหม่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอมบนความหวาดระแวงของประชาชนและองค์กรสื่อ ที่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน” รายงานสถานการณ์สื่อ มวลชนฯระบุ