"เลขาฯ ศาลยุติธรรม" เผยปี 62 ตำรวจศาลผลงานเยี่ยม ตามจับผู้หนีหมายศาล 61 หมาย-อายัดตัว 14 หมาย เม.ย.ปีหน้าพร้อมเพิ่มจาก 35 ให้ได้ 309 คน กระจายกว่า 200 ศาลทั่วประเทศ ย้ำความปลอดภัยในศาลต้องเข้มงวดกวดขันสม่ำเสมอ
29 ธ.ค.62 "นายสราวุธ เบญจกุล" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงผลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจศาล (คอร์ทมาแชล Court Marshal) หรือตำรวจศาล รุ่นแรก ทั้งชาย-หญิง 35 คน ที่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.62 ที่ผ่านมาว่า ภารกิจหลักๆ ของ ตำรวจศาลก็จะมี 2 ส่วน คือนอกจากจะดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณศาลแล้ว ก็ต้องดำเนินการตามหมายจับของศาล ซึ่งการกวดขันดูแลความเรียบร้อยและมาตรฐานความปลอดภัยบริเวณศาลนั้น จากที่ตนออกมาตรการเร่งรัด และกวดขัน กำชับการตรวจค้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบริเวณศาล ซึ่งเดิมมีแต่ รปภ.ที่จ้างมาจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ (อผศ.) ขณะนี้คอร์ทมาแชล ก็มาร่วมดูแลความปลอดภัยให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
โดยสิ่งแรกที่สุด ตนสั่งการให้เจ้าพนักงานตำรวจศาล ที่มีขณะนี้ทั้งหมด 35 คน ลงพื้นที่ศาลแต่ละแห่งทำการรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน เช่น อาคาร สถานที่ โดยคอร์ทมาแชล 1 คน ตอนนี้จะรวบรวมข้อมูลศาล 5 หรือ 7 หรือ 10 แห่ง ซึ่งหากเกิดเหตุในศาลใดก็จะต้องรายงานได้ทันทีว่า มีปัญหาเกิดจากอะไร และระบบรักษาความปลอดภัย-เครื่องมือมีพอหรือไม่ มีการกระทำใดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดละหลวมหรือไม่ จากที่ตนได้ออกหนังสือเวียนแผนฉุกเฉิน ปี 2562 มาแล้วถึง 2 ครั้ง เกี่ยวกับการปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยที่ประกาศเป็นเหมือนคู่มือ
นอกจากนี้ ในเรื่องที่มีผู้หลบหนีหมายจับของศาล ก็มีสถิติที่คอร์ทมาแชร์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการติดตามจับกุม ผู้หลบหนีหมายของศาล โดยรายงานผลการจับกุมผู้ต้องหา/จำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยศาลแล้วหนีหรือจะหลบหนีตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.-30 พ.ย.62 แจ้งดำเนินการจับกุมตัว-แจ้งอายัดตัว-เพิกถอนหมายจับ 136 หมาย โดยจับกุมตัวได้ 61 หมาย, แจ้งอายัดตัว 14 หมาย, เพิกถอนหมายจับ 61 หมาย ซึ่งจำแนกได้ดังนี้เดือน ส.ค.สามารถจับกุมตัวได้ 21 หมาย-แจ้งอายัดตัว 8 หมาย-ขอเพิกถอนหมายจับ 24 หมาย , เดือน ก.ย.จับกุมได้ 8 หมาย-แจ้งอายัดตัว 3 หมาย-ขอเพิกถอนหมายจับ 13 หมาย, เดือน ต.ค.จับกุม 23 หมาย-ขอเพิกถอนหมายจับ 20 หมาย, เดือน พ.ย.จับกุม 9 หมาย-แจ้งอายัดตัว 3 หมาย-ขอเพิกถอนหมายจับ 4 หมาย
...
ขณะที่ในการติดตามจับกุมผู้หนีหมาย ตนก็ให้นโยบายกับคอร์ทมาแชลว่า จากเดิมที่ไม่เคยมีเจ้าภาพจากศาลในการจับกุมตัวซึ่งจะเป็นความแตกต่างระหว่างอดีตกับปัจจุบันที่มีกฎหมายรองรับให้คอร์ทมาแชลดำเนินการได้ ดังนั้นคอร์ทมาแชล ที่แบ่งเป็น 5-6 ทีมแต่ละทีมก็ต้องประชุมปรึกษาหารือกัน และมีคณะกรรมการกำกับการบริหารเจ้าพนักงานตำรวจศาล (ที่ประกอบด้วย ผู้พิพากษาในสำนักงานศาลยุติธรรม, ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานศาลฯ, นายเหรียญทอง เพ็งพา ผอ.ศูนย์รักษาความปลอดภัย ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจศาล สำนักงานศาลยุติธรรม) ร่วมกำกับดูแลนำหมายจับทั้งหมดของศาลมาวิเคราะห์ว่าส่วนไหนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่สามารถจับกุมตัวแล้วทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่ผ่านมา ก็ได้รับรายงานทุกวันเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้ ขณะที่เรามีตัวชี้วัดการติดตามจับกุมตามหมายศาลของทีมคอร์ทมาแชล 5-6 ทีมซึ่งแต่ละทีมก็ต้องไปบูรณาการการทำหน้าที่ในส่วนนี้ด้วย ขณะเดียวกันเรามีคณะกรรมการกำกับการบริหารเจ้าพนักงานตำรวจศาล และคณะอนุกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (อ.ก.ศ.) เกี่ยวกับการติดตามประเมินระบบของเจ้าพนักงานตำรวจศาล ที่มี พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา อดีตรอง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก.ศ. เป็นประธานกรรมการนั้นพิจารณาประเมินคอร์ทมาแชลด้วยว่าจะพัฒนาระบบทำงานอย่างไร โดยเหตุที่เรานำบุคคลภายนอกเข้ามาเพื่อให้มีมุมมองที่แตกต่างและประเมินประสิทธิภาพดูว่ามีสิ่งใดต้องปรับปรุงแก้ไข ตรงไหนบ้างเพื่อให้ระบบเจ้าพนักงานตำรวจศาลของเรามีมาตรฐานที่ดีขึ้น
นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงอัตรากำลังคอร์ทมาแชลที่จะต้องปรับเพิ่มว่า ภายในเดือน เม.ย.63 ก็จะจัดให้มีอัตรากำลังคอร์ทมาแชล เพิ่มจาก 35 คน ให้เป็น 309 คน (แผนเดิมตั้งเป้าดำเนินให้ได้ภายใน 5 ปี) หลังจากที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) และประธานศาลฎีกาแล้ว ซึ่งจะได้นำมาจัดสรรไปประจำศาลในพื้นที่ กทม., ศาลจังหวัด, ศาลแขวง, ศาลเยาวชนและครอบครัว, ศาลแรงงานภาค, ศาลอาญาคดีทุจริตภาค ทั่วประเทศ 280 แห่งๆ ละ 1-2 คน ด้วยหลังจากที่มีการฝึกอบรมคอร์ทมาแชลแล้วก็คาดว่าภายใน 3 เดือนหลังจากนั้นก็จะกระจายส่งไปยังศาลต่างๆ ได้ ซึ่งจะเป็นเหมือนกันมีตัวแทนส่วนกลางไปดูระบบมาตรฐานความปลอดภัย กำกับ ติดตาม จับกุมตัวผู้หลบหนีหมายศาลจากเดิมที่ไม่เคยมีคอร์ทมาแชลดูแลเลย
ทั้งนี้ "เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม" ยังตอบคำถามถึงการประเมินผลวางมาตรการความปลอดภัยเข้มงวดมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุทำร้ายยิงกันในศาล ที่มาตรการบางข้ออาจกระทบเรื่องสิทธิการเยี่ยมผู้ต้องหา / จำเลย ขณะควบคุมตัวในห้องขังศาล มีผู้เสนอแนะข้อที่อยากให้ปรับทบทวนมาตรการใดบ้างหรือไม่ อย่างไรว่า ที่ผ่านมาก็มีข้อเสนอแนะ จากภายนอกเข้ามาแต่ก็มีจำนวนไม่มาก โดยสิ่งที่เราดำเนินการปรับปรุงและให้มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาก็เกิดจากที่เราตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรที่ให้ระบบดีขึ้น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในศาลจังหวัดยะลา (ผู้พิพากษายิงตัวเองในห้องพิจารณา) ศาลจังหวัดจันทบุรี (จำเลยยิงทนายความในห้องพิจารณาคดี) ศาลจังหวัดพัทยา (จำเลยที่ถูกคุมขังใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในศาลเพื่อหลบหนีจากห้องคุมขัง) ก็ดีเป็นโจทย์ว่า เราจะมีวิธีการป้องกันแก้ไขความรุนแรงอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต เราก็ช่วยกันคิดโดยตนพยายามกระตุ้นให้มีระบบบริหารจัดการที่ดีขึ้นโดยเฉพาะระบบข้อมูลในแต่ละศาล และประสิทธิภาพในการมีระเบียบวินัย รวมทั้งเรื่องบุคลากร
"เรื่องความปลอดภัย ต้องมีความเข้มงวดสม่ำเสมอ เพราะถ้าหย่อนยานเมื่อใดความเสียหายก็จะเกิดขึ้น เราต้องทำเพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก เกิดที่เราก็จะตรวจตราด้วยการสุ่มตรวจ เราจะไม่บอกล่วงหน้าว่าจะเข้าไปตรวจเมื่อใดศาลไหน เพื่อจะดูว่าศาลนั้นๆ มีมาตรฐานหรือปล่อยปละละเลย ไม่กวดขันหรือไม่ เพราะจะกลายเป็นความเสี่ยงขององค์กรที่เกิดเหตุร้ายขึ้นมาได้" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวและว่า ในเรื่องของความเสี่ยงที่เกิดจากการบริหารงานนั้นก็มีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของศาลที่มีตนเป็นประธานดูทั้งหมดทั่วประเทศเพื่อป้องกันการกระทบภาพลักษณ์องค์กรได้
ส่วนเรื่องของการให้ญาติ นำอาหารหรือของเยี่ยมผู้ต้องหาหรือจำเลยผ่านทางเรือนจำเท่านั้นไม่ให้ผ่านทางศาล จริงๆ แล้วโดยหลักการเรื่องความปลอดภัยของสถานที่เยี่ยมเขาก็ไม่ให้เยี่ยมในศาล ซึ่งระบบการเยี่ยมผู้ต้องหา/จำเลย หรือผู้ต้องขังต้องไปเยี่ยมที่เรือนจำเพราะจะมีมาตรการกำกับดูแล เช่น การห้ามนำสิ่งผิดกฎหมายเข้าไป ดังนั้นในเรื่องความปลอดภัยของสังคมกับเรื่องสิทธิต้องสร้างสมดุลให้พอดี ซึ่งเราไม่ได้ตัดสิทธิในการเยี่ยม แต่ช่องทางในการเยี่ยมต้องมีการดูแลในระบบที่ปลอดภัยด้วย โดยเวลาผู้ต้องหา/จำเลยมาศาล หากไม่เข้มงวดก็อาจจะมีผลตามมา