วันนี้ที่รอคอย บอร์ดค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-6 บาท ทั่วประเทศ "กทม.- ปริมณฑล และปราจีนบุรี" รวม 9 จังหวัด ได้ปรับ 6 บาท อีก 68 จังหวัด ได้เท่ากัน 5 บาท ส่งผลให้ค่าจ้างใน ภูเก็ต-ชลบุรี ขยับขึ้นสูงสุด 336 บาท เตรียมเสนอ ครม.ให้มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.63 เป็นของขวัญปีใหม่ผู้ใช้แรงงาน

วันที่ 6 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บอร์ดค่าจ้างมีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2562 ในทุกจังหวัด หลังจากยื้อปรับขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี โดยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดค่าจ้าง แถลงผลการประชุมบอร์ดค่าจ้างไตรภาคี หลังจากใช้เวลาประชุมพิจารณาปรับค่าจ้าง 2 ชม. ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาตัวเลขที่เหมาะสม ทั้งจากอัตราเดิมที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอปรับขึ้น 2-10 บาท รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ การว่างงาน ข้อมูลจากฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ตัวแทนรัฐจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน ในการกำหนดตัวเลขที่เหมาะสมเพื่อให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายและไม่กระทบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยได้มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างทุกจังหวัดทั่วประเทศที่อัตรา 5-6 บาท แบ่งเป็น 10 กลุ่มจังหวัด

...

สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ อัตราใหม่ที่ให้ปรับขึ้น 5 – 6 บาท แบ่งเป็น 10 กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย 313 บาท มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา 315 บาท มี 22 จังหวัด คือ สิงห์บุรี ตรัง ลำปาง ลำพูน ตาก ราชบุรี ระนอง ชุมพร สตูล หนองบัวลำภู พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย เชียงราย อุทัยธานี ศรีสะเกษ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช มหาสารคาม 320 บาท มี 21 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พะเยา ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี อุตรดิตถ์

323 บาท มี 6 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สมุทรสงคราม สกลนคร 324 บาท มี 1 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี 325 บาท มี 14 จังหวัด คือ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย อุบลราชธานี 330 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา 331 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร 335 บาท มี 1 จังหวัด คือ ระยอง และ 336 บาท มี 2 จังหวัด คือ ชลบุรี ภูเก็ต

นายสุทธิ กล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างได้ใช้สูตรการคำนวณที่เหมาะสมในแต่ละจังหวัดในเชิงคุณภาพ ทำให้ 9 จังหวัด ได้ปรับขึ้นสูงสุด 6 บาท คือ กทม. ชลบุรี ภูเก็ต นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และปราจีนบุรี โดยจังหวัดในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกมีชลบุรี ที่ปรับ 6 บาท ส่วนระยอง และฉะเชิงเทรา ปรับเท่ากัน 5 บาท ส่วนปราจีนบุรี ปีนี้ได้ปรับขึ้นในกลุ่มสูงสุด 6 บาท เป็นที่น่าสังเกตว่าจะมีการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น หลังจากนี้จะสรุปรายละเอียดต่างๆ เสนอ รมว.แรงงาน ลงนาม ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขอความเห็นชอบในสัปดาห์หน้า หรือถ้าไม่ทันก็จะเป็นวันที่ 17 ธ.ค. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นของขวัญปีใหม่ผู้ใช้แรงงาน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีปัจจัยอะไรที่ทำให้อัตราค่าจ้างที่อนุกรรมการค่าจ้าง เคยเสนอไว้ที่ 2-10 บาท ปรับเหลือ 5-6 บาท หรือเป็นเพราะฝ่ายผู้ใช้แรงงานเรียกร้องให้ปรับอัตราเดียวกัน นายสุทธิ ตอบว่า บอร์ดเห็นว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสม ไม่กระทบมากเกินไป หากมีการปรับขึ้นสูงมากจะส่งผลกระทบจึงต้องดูภาพรวมทางเศรษฐกิจและการส่งออก อัตราที่ปรับขึ้นเป็นไปตามสูตรการคำนวณและพอดีกับที่ทางผู้ใช้แรงงานขอให้ปรับอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เพราะราคาสินค้า ราคามาม่า ในร้านสะดวกซื้อก็ราคาเดียวกันทั้งประเทศ และอัตรา 5-6 บาท ก็ไม่ห่างกันเกินไป จึงทำให้ยอมรับได้

ด้าน นายสุชาติ ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ กรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ปรับ 5-6 บาท เป็นอัตราที่ลูกจ้างพอใจ ไม่กระทบการจ้างงานและเศรษฐกิจ ที่ประชุมก็ได้ทบทวนตัวเลข 2-10 บาท แต่นายจ้างค้านว่าสูงเกินไปเมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศโดยรวม จึงได้เสนอให้ลดจาก 10 บาท ลงมาที่อัตรา 6 บาท ส่วน  2 บาท มันน้อยเกินไป ไข่ฟองเดียวยังซื้อไม่ได้ จึงปรับขึ้นเป็น 5-6 บาท ซึ่งในขณะที่บอร์ดค่าจ้างยังไม่ได้พิจารณา ก็มีการปิดโรงงานไปก่อนแล้วกว่า 3 พันแห่ง สะท้อนว่ามีปัญหาของการบริหารจัดการ และสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการปรับหรือไม่ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้นการเพิ่มค่าจ้าง