แบน 3 สารเคมีทางการเกษตรพ่นพิษ จ่อฟ้องกันนัว โดย “สุริยะ” อ้าง “บิ๊กตู่” เห็นด้วยให้เลื่อนแบนสารพิษ ลั่น คกก.วัตถุอันตรายลงมติถูกต้อง ท้าเปิดเทปเสียงการประชุม เตรียมฟ้องกลับคนที่ทำให้เสียหาย ยันทำความเข้าใจ “อนุทิน” แล้ว ด้านอธิบดีกรมโรงงานฯขานรับมติชอบด้วยกฎหมายแล้ว ชี้การลงมติทำได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องทำแบบเดิม พร้อมเตรียมนัดประชุมในเดือน ธ.ค. เพื่อ รับรองมติ 27 พ.ย.62 ขณะที่ ผอ.ไบโอไทยบ่ยั่นหากถูกฟ้อง ยินดีพิสูจน์ใครทำให้ฝ่ายใดเสียหาย
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 3 ธ.ค. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าได้รายงานมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เลื่อนการยกเลิกสารพิษทางเกษตร 3 ชนิด ให้นายกฯทราบถึงความจำเป็นต้องการเลื่อนไปอีก 6 เดือน เนื่องจากยังมีอยู่ในมือเกษตรกรและสต๊อกของร้านค้าจำนวนนับหมื่นล้านบาท นายกฯเห็นด้วยที่ต้องเลื่อนไป เพราะถ้าไม่เลื่อนจะนำเงินที่ไหนไปจ่ายให้เกษตรกร รัฐไม่มีเงินจ่ายให้อยู่แล้ว ส่วนที่มีการระบุว่า มติของคณะกรรมการมิชอบนั้น ยืนยันว่าเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายกฎหมายดูแลเรียบร้อย นายกฯ ก็เข้าใจเพราะเป็นเรื่องของคณะกรรมการ ส่วนที่พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยที่จะให้ชะลอนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ไม่ได้พูดอะไรในที่ประชุม ครม. เพราะไม่ใช่เรื่อง การเมือง แต่มองว่าอะไรเกิดประโยชน์กับการแก้ไขปัญหาในภาพรวม นายกฯบอกว่าไม่ใช่การดูแลสุขภาพอย่างเดียว ต้องดูแลเรื่องของรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกรและผู้ใช้ ต้องดูให้ครบทุกภาคส่วน
นายสุริยะยังย้ำกรณีที่นายอนุทินเสนอให้ตีความมติของคณะกรรมการ ล่าสุดถือเป็นมติที่ถูกต้องหรือไม่ว่า ตอนนั้นท่านไม่มีข้อเท็จจริงเรื่องนี้ คือไปฟังคำพูดแล้วจับประเด็นมา แต่ในการประชุมคณะกรรมการ มีการสอบถามกรรมการแต่ละคน ซึ่งนายอนุทินและพรรคภูมิใจไทยเข้าใจเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ถอดเทปเสียงเพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการลงมติอย่างชัดเจน และการลงมติไม่ได้หมายความว่าต้องยกมืออย่างเดียว ไม่ใช่ว่า ต้องทำเหมือนทุกครั้งที่จะต้องมายกมือกัน ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นเป็นแบบนี้ นอกจากนี้ ตนถามย้ำแล้วว่าที่ประชุมมีมติเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีคนมีความเห็นเป็นอย่างอื่นก็ถือเป็นมติได้ และถ้าไปถามคณะกรรมการคนอื่น ทุกคนก็จะยืนยัน ว่ามีมติออกมาชัดเจน
...
ส่วนที่เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร เตรียมฟ้องศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ต่อการเลื่อนแบน 3 สารพิษ นายสุริยะกล่าวว่า ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าในองค์กรที่ระบุว่ามี 686 องค์กร มีจำนวนกี่คน แต่การที่มีการแถลงข่าวออกไปและทำให้ตนได้รับความเสียหายนั้น จะให้นักกฎหมายไปดูเพื่อเตรียมที่จะฟ้องกลับ
ต่อมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า นายสุริยะไม่เคยมาปรึกษาตนในเรื่องดังกล่าวและเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้ยุ่งยากอะไร แค่ไปทำความจริงให้ปรากฏแล้วมาชี้แจง อย่างไรก็ตาม ตนคงจะสอบถามนายสุริยะต่อไป ทั้งนี้ วิธีการควบคุมการประชุมมีหลายวิธีไม่ใช่ต้องให้มีการโหวตทุกครั้ง อย่างการประชุม ครม.ไม่มีการลงมติแบบที่ให้มีการออกเสียง มีเพียงแค่ประธานในที่ประชุมสอบถามว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยหรือไม่ แล้วออกเป็นมติ ส่วนการจะตีความนั้น สามารถนำเรื่องนี้ไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่ไม่จำเป็นต้องส่งไปสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโรงพยาบาลต่างติดป้ายสนับสนุนการแบนและไม่เห็นด้วยกับการชะลอแบนสารพิษว่า เป็นการแสดงความเห็นของเขาเอง เชื่อว่าไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรและไม่จำเป็นต้องส่งสัญญาณใดๆ ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพราะเชื่อว่าทุกคนคงเบื่อกับการรักษาคนไข้ที่ป่วยที่มีสาเหตุมาจากสารพิษ
ขณะที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ไม่มีการนำเข้าสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสแล้ว แต่บริษัทที่มีใบอนุญาตนำเข้าสารเคมีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ยังสามารถนำเข้าสารอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด อาทิ สารกำจัดวัชพืชและแมลง เป็นต้น โดยสารดังกล่าวมีการนำเข้ามาในประเทศแล้วกว่า 6,000 ตัน และยืนยันที่จะใช้แนวทางและมาตรการผลักดันสารเคมีออกไปยังประเทศต้นทางและประเทศที่ 3 ซึ่งล่าสุดมี 60-70 บริษัท แจ้งความจำนงขอส่งออกสารไปยังประเทศที่ 3 แล้วประมาณ 1,700-2,000 ตัน โดยจะเร่งรัดส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์และเมียนมา เพื่อเคลียร์สต๊อกให้เหลือน้อยที่สุด ส่วนกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกรมวิชาการเกษตร ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 เรื่องการแจ้งครอบครองภายใน 15 วัน และอีก 15 วันต้องส่งคืนวัตถุอันตรายนั้น หากยังไม่มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อแบนสามสาร ทั้งหมดถือว่ายังไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
ต่อมานายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวถึงความคืบหน้าการลงมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมาที่ว่านายสุริยะระบุจะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อรับรองมติของวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันนัดประชุม ต้องรอให้กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะต้นเรื่อง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้เสนอเรื่องเข้ามาเพื่อรับรองมติของวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การที่คณะกรรมการฯจะสามารถรับรองมติดังกล่าวได้ต้องให้กระทรวงเกษตรฯ ไปจัดทำร่างประกาศ เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่...) พ.ศ....ให้เสร็จสมบูรณ์ ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติไป จากนั้นให้นำร่างประกาศกระทรวงฯเข้าสู่การพิจารณากลั่นกรองของคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรอง เพื่อตรวจพิจารณาร่างประกาศฯ ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะเป็นประธาน จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อลงราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ต่อไป
นายประกอบยังกล่าวอีกว่า มติคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการฯมีการลงมติในหลายรูปแบบ เช่น ขอมติที่ประชุม หากไม่มีผู้คัดค้าน ถือว่ามีมติเป็นเอกฉันท์ ถ้ามีผู้คัดค้าน ก็จะมีการบันทึกความเห็นไว้ และถือเป็นมติเสียงข้างมาก หรือมีการลงคะแนนโดยการยกมือ หรือใช้ บัตรลงคะแนนก็ได้ และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย มาตรา 12 วรรคสอง มิได้กำหนดว่าการลงมติต้องกระทำโดยยกมือออกเสียง หรือออกเสียงโดยบัตรลงคะแนนเท่านั้น รวมถึงก่อนเริ่มประชุมมีการตรวจสอบองค์ประชุมแล้ว ที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการลงมติโดยให้ความเห็นชอบกับร่างมติที่ฝ่ายเลขานุการนำเสนอ โดยกรรมการแต่ละคนไม่ได้ยกมือออกเสียง หรือลงคะแนนในบัตรลงคะแนน แต่ให้ผู้ไม่เห็นด้วยคัดค้านและบันทึกไว้ การพิจารณาและลงมติโดยเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการฯ จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
วันเดียวกัน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม จะฟ้องกลับว่า คงต้องดูว่าจะฟ้องเรื่องอะไร ส่วนการที่เครือข่ายจะฟ้องนายสุริยะนั้นยังไม่ได้ระบุวัน เนื่องจากจะรอดูว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะมีการเสนอให้มีการตีความมติการเลื่อนแบน 2 สารเคมีอันตรายและไม่แบน 1 สารหรือไม่ เพราะหากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าไม่ชอบ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องฟ้องอีก หากนายสุริยะจะฟ้องก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร และต้องมาพิสูจน์กันว่าใครทำให้ฝ่ายใดเสียหาย แต่ทางเครือข่ายไม่ได้ทำเพื่อปกป้องประโยชน์ตัวเอง แต่ปกป้องประโยชน์สาธารณะและเป็นสิทธิของนายสุริยะที่จะปกป้องสิทธิตัวเอง