เรื่องราวของการดำเนินการตาม พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรมในส่วนของข้าราชการทั่วไปทุกประเภทนั้น ว่าที่จริงแล้วการดำเนินการในด้านต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเตรียมการทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายนั้นก็มิได้ล่าช้าเสียทีเดียว

ถึงแม้ว่าจะมีข้อติดขัดในเรื่อง คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม หรือ ก.ม.จ. มีองค์ประกอบไม่ครบเพราะความล่าช้าของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จนบัดนี้ยังไม่ส่งชื่อ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ทำให้จัดการประชุม ก.ม.จ.อย่างเป็นทางการไม่ได้จนแล้วจนรอด

ที่ผ่านมาการทำความเข้าใจเรื่องนี้ที่ดีที่สุดคือคำชี้แจงของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่เป็น ประธาน ก.ม.จ. ซึ่งเป็นการชี้แจงต่อหัวหน้าส่วนราชการในเรื่องนี้โดยตรง มาฟังความโดยละเอียดกันอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการที่ไม่มีโอกาสได้ฟังในคราวนั้น ก็ขอให้ติดตามในคราวนี้

รองนายกฯ วิษณุ เริ่มเรื่องว่า “ผมขอใช้โอกาสนี้มาพบกับท่านทั้งหลาย เพื่อชี้แจงเรื่องสําคัญเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันได้กําหนดไว้ว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญร่วมกับองค์กรอิสระทั้งหลาย จัดทํามาตรฐานทางจริยธรรมขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือและแนวทางในการกํากับดูแลจริยธรรมของบุคคลระดับสูงบางประเภท คือ บุคคลที่อยู่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไล่ลงมาจนกระทั่งถึงคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวก็ได้มีมาตรฐานทางจริยธรรมกําหนดไว้และประกาศใช้ไปแล้ว

...

แต่ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญยังได้กําหนดไว้ด้วยว่า สําหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับอื่นๆที่ลดหลั่นลงมาก็จําเป็นต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือและเป็นแนวทางในการกํากับดูแลเป็นการเฉพาะด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐธรรมนูญกําหนดไว้ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดทํามาตรฐานทางจริยธรรมสําหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป

ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลชุดที่แล้วจึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายขึ้นฉบับหนึ่งซึ่งเรียกว่าเป็นกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญด้วยก็ว่าได้ เสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้ประกาศใช้ไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2562 กฎหมายนั้นมีชื่อว่า พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 ที่กําหนดให้มีคณะกรรมการกลางระดับชาติขึ้นชุดหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม เรียกกันโดยย่อว่า “ก.ม.จ.” ที่จะเป็นตัวตั้งตัวตี หัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ ในการกําหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลาย โดยคณะกรรมการชุดนี้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นแบ่งออกเป็นหลายประเภท หลายฝ่าย มีทั้งตํารวจ ทหาร พลเรือน ซึ่งพลเรือนเองก็มีทั้งที่เป็นข้าราชการพลเรือนทั่วไป ข้าราชการครู ข้าราชการมหาวิทยาลัย และข้าราชการประเภทอื่นๆ

คณะกรรมการกลางคือ คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม หรือ ก.ม.จ.นั้นเป็นหน่วยกําหนดทิศทางหรือนโยบายส่วนรายละเอียดก็ให้คณะกรรมการกลางหรือองค์กรกลาง หรือที่เรียกกันย่อๆว่า ก.ทั้งหลายไปกําหนดกันขึ้นเอง โดยหัวใจหลักใหญ่ใจความสําคัญๆนั้น ได้กําหนดเอาไว้ในพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ไว้แล้ว โดยจะมี ก.ม.จ. เป็นผู้คอยกํากับสอดส่องดูแล ตลอดจนแก้ปัญหาให้แก่ ก.ต่างๆ

นี่คือคำอธิบายเบื้องต้นถึงที่มาที่ไปของการเร่งรัดกวดขันเจ้าหน้าที่ของรัฐในเรื่องจริยธรรม แล้ววันพรุ่งนี้จะลงในรายละเอียดที่ข้าราชการทุกคนต้องรับรู้.

“ซี.12”