‘วิษณุ’โบ้ยยื่นตีความ เอ็นจีโอนัดรวมพลสู้

“สุริยะ” ลั่นมั่นใจมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายทุกอย่าง และไม่ได้เข้าใจผิด ด้าน “ภักดี โพธิศิริ” เผยรายละเอียดการประชุมยืดแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ไปอีก 6 เดือน ส่วน “ไกลโฟเซต” ยังไม่แบนแต่จำกัดการใช้ อ้างกระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่ให้รายงานการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบทุก 3 เดือน ขณะที่ “หมอจุฬาฯ-มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ตั้งข้อสังเกตในตัวประธาน-ผลประชุม ส่อไม่ชอบธรรม จี้ผู้นำรัฐบาลออกมาแสดงจุดยืนเพื่อสุขภาพประชาชน พร้อมแนะทำฉลากให้ชัดเจนสินค้ายี่ห้อไหนมีไกลโฟเซต เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค

จากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา กลับลำไม่แบน 3 สารเคมีทางการเกษตร “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” ที่จะมีผลในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ แต่ให้ยืดอายุการใช้งานของสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือน ส่วนไกลโฟเซตให้ควบคุมการใช้ ต่อมา รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ได้ประกาศลาออกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมแย้งการแถลงข่าวของนายสุริยะ โดยยืนยันไม่ได้มีการลงมติอย่างชัดเจน เพราะไม่มีการนับองค์ประชุม และไม่สามารถเรียกว่าเป็นมติเอกฉันท์นั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขอยืนยันว่ามติการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ที่มีตนเป็นประธานเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นมติที่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย และไม่ได้เข้าใจผิดตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวอ้าง เนื่องจากได้ตรวจสอบจากฝ่ายกฎหมายที่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวแล้วว่าที่ประชุม ได้ปฏิบัติตามระเบียบและขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ จึงขอยืนยันอีกครั้งว่ามติดังกล่าวถูกต้อง

...

นายสุริยะกล่าวอีกว่า มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดที่มีตนเป็นประธานเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้กำหนดวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้ที่เลื่อนจากวันที่ 1 ธ.ค.นี้ เป็นวันที่ 1 มิ.ย.2563 ส่วนวัตถุอันตรายไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561 พร้อมทั้งมอบให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปจัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นๆที่เหมาะสม รวมถึงลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไป และให้นำเสนอคณะกรรมการฯพิจารณาภายใน 4 เดือน นับจากวันที่มีมติดังกล่าว

ด้านนายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. อดีตเลขาธิการสำนักงานอาหารและยา (อย.) ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ตนเห็นด้วยกับที่ประชุม ซึ่งการประชุม ดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย อยากให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายรับฟังข้อมูลให้รอบคอบ

นายภักดีกล่าวว่า เดิมปลัดกระทรวงเกษตรฯ นำเสนอความคืบหน้าการออกประกาศกำหนดให้สารทั้ง 3 ตัวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 ว่าได้ไปจัดเตรียมการสำหรับการแบนตามกำหนดแล้ว แต่พบอุปสรรคไม่สามารถดำเนินการได้ทันเนื่องจากการยกเลิกสารทั้ง 3 ตัวมีผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมาก ทำให้รัฐต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการแก้ปัญหาทั้งระบบ จึงเสนอในที่ประชุมขอใช้มาตรการจำกัดการใช้ทั้ง 3 สารเช่นเดิม แต่ขอลดระยะเวลาการจำกัดการใช้จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 ปี เป็น 1 ปี ประธานเปิดโอกาสให้กรรมการทุกท่านแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ และกรรมการส่วนใหญ่เสนอให้ออกประกาศโดยปรับพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แต่ให้ขยายเวลาในการยกเลิกไปอีก 6 เดือน ซึ่งน่าจะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้กรมวิชาการเกษตรไปเร่งรัดการเตรียมความพร้อมของสารทดแทนหรือวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสม และมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

“สำหรับไกลโฟเซต ที่ประชุมเห็นว่ายังไม่สมควรประกาศเป็นชนิดที่ 4 และขอให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ไปก่อน เนื่องจากสารดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรติดตามเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และนำมารายงานคณะกรรมการฯทุก 3 เดือน โดยเฉพาะข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงของไกลโฟเซตในสหรัฐอเมริกา โดย EPA มีค่า LD50 oral มากกว่า 5,000 mg/kg และจัดเป็นสารก่อมะเร็ง ประเภท 2A คือยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ และสหรัฐอเมริกายังคงอนุญาตให้ใช้ได้ เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่ดี มีการควบคุม และให้ความรู้ให้เกษตรกรได้ใช้อย่างถูกต้อง เนื่องจากไกลโฟเซตเป็นของแข็ง ไม่มีการระเหย จึงไม่มีการแพร่กระจายในอากาศ จัดว่ามีความเป็นพิษต่ำถ้าไม่มีการสัมผัสโดยตรง อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรต้องไปศึกษาเรื่องสารทดแทนและนำมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป” นายภักดีกล่าว

นายภักดีกล่าวอีกว่า ช่วงท้ายการประชุม ฝ่ายเลขานุการได้พิมพ์ร่างมติเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาปรับแก้ร่างมติ จนเป็นที่พอใจในระดับหนึ่ง และประธานได้สอบถามกรรมการว่าเห็นด้วยหรือไม่ กรรมการส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่มีกรรมการบางคนแจ้งว่าไม่เห็นด้วยสำหรับมติที่จะกำหนดให้แบนสาร 2 ตัว ภายใน 6 เดือน เนื่องจากเห็นว่าระยะเวลาที่จะกำหนดควรต้องให้กรมวิชาการเกษตรไปศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน จึงค่อยนำมาพิจารณากำหนด และมีกรรมการบางคนขอตั้งเป็นข้อสังเกต ซึ่งฝ่ายเลขาฯขอให้ที่ประชุมรับรองมติด้วย

วันเดียวกัน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า เครือข่าย 686 องค์กรจะประชุมกันถึงกรณีที่เกิดขึ้นในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ แต่ยืนยันว่าเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ไม่ใช่มติเอกฉันท์แน่นอน และเบื้องต้นสิ่งที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายทุกคนต้องแสดงจุดยืน คือผลที่ออกมาเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ไม่ใช่มติเนื่องจากเป็นเพียงความเห็นจากสมาคมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีเท่านั้น และที่สำคัญคือการจะมีมติใหม่ได้ต้องมีหลักฐานชัดเจนว่าใครที่โหวตและลงมติอย่างไรบ้าง นอกจากนี้อีกสิ่งที่สำคัญ คือจะต้องมีการลงมติคัดค้านมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมาก่อน เพราะมติดังกล่าวมีหลักฐานชัดเจนว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด มีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

“ประชาชนมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาลกำลังลอยตัวเหนือปัญหา ทั้งๆที่เป็นเรื่องของสุขภาพประชาชนที่มีหลักฐานจากกระทรวงสาธารณสุขที่ชัดเจนว่ามีทั้งผู้ป่วยและเสียชีวิต ทั้งยังพบว่าเกิดการตกค้างในมารดาและทารก ซึ่งมีผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกอย่างชัดเจน หากยืดออกไปอีก 6 เดือน จะต้องมีเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติอีกกี่รายที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมี ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลออกมาแสดงจุดยืนเรื่องนี้ให้ชัดเจน และจากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น ขอตั้งข้อสังเกตในตัวของประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่าน่าจะมีความปกติเกิดขึ้นหรือไม่” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิ เพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ให้ยืดเวลาการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือน และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ขอตั้งคำถามต่อว่า มันไม่ชอบธรรม และเป็นมติจริงๆหรือไม่ เหตุผลเรื่องการไม่แบนฟังไม่ขึ้นเลย ดังนั้น ข้ออ้างทั้งหลายในการยกเลิก หรือยืดการแบนสารเคมีเหล่านี้ไม่น่าจะมีความชอบธรรม จึงเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำงานไปข้างหน้า โดยให้มีหน่วยสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น ทำฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้ชัดเจนถึงแหล่งที่มาของอาหารหรืออาหารต่างๆ มีการใช้สารเคมีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เหมือนกับที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำฉลากสินค้า ที่บอกว่ามีสารกันบูด มีวัตถุเจือปนอาหารอะไรบ้าง เป็นต้น และขอให้ มีหน่วยงานสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ที่ชัดเจน

ส่วนที่มีการตั้งข้อสงสัยว่า การยืดการแบนสารเคมีเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ถือเป็นมติได้หรือไม่นั้น น.ส.สารีกล่าวว่า คิดว่ารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องตอบคำถามให้ชัด เพราะมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ยังไม่ได้ออกประกาศ การประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ควรเป็นการพิจารณารับรองประกาศที่จะออก แต่กลับเป็นการพิจารณามติที่ไม่ชอบ ซึ่งเหตุผลที่บอกว่ามีคนไม่เห็นด้วยเยอะกว่านั้น คิดว่าตัวเลขก็ไม่ถูกต้อง จริงๆ คนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจำนวนใกล้เคียงกัน นั่นแสดงว่าต้องการกลับมติ และถ้าดูจากการต่อสู้ของ รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เห็นชัดว่าไม่ได้มีการลงมติที่ชัดเจนเพราะมติวันที่ 27 พ.ย.ไม่ชอบธรรม ดังนั้นต้องกลับไปใช้มติเมื่อวันที่ 22 ต.ค.คือการแบนสารเคมี ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ต้องไปจัดทำประกาศให้ชัดเจน และพิจารณาประกาศเพื่อเดินหน้าเรื่องนี้ แม้ว่าถึงกำหนดวันที่ 1 ธ.ค.แล้วก็ตาม และทำฉลากให้ชัดเจนว่าสินค้ายี่ห้อไหนบ้างที่มีไกลโฟเซต อย่างน้อยเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อถกเถียงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็น ประธาน จะสามารถลบล้างมติเดิมที่ประชุมกันก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ว่า ต้องเข้าใจว่าการที่คณะกรรมการฯ ชุดเดิมมีมติไปเมื่อเดือน ต.ค.เป็นกรรมการตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับเก่า แต่ต่อมา พ.ร.บ.ฉบับใหม่ มีผลประกาศใช้บังคับออกมา องค์ประกอบกรรมการเก่ากับองค์ประกอบกรรมการใหม่เปลี่ยนไป ฉบับใหม่ มี รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน การประชุมครั้งล่าสุด เขาสามารถเปลี่ยนมติได้ แต่จะเปลี่ยนหรือไม่ตนไม่ทราบ ส่วนการที่จะมีมติใหม่ออกมา จำเป็นต้องยกเลิกมติเก่าก่อนหรือไม่นั้น ไม่เป็นไร เพราะมติเก่ายังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และหากใครสงสัยสามารถส่งให้มีการตีความได้ โดยยื่นสอบถามไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา