เจอโห่วอล์กเอาต์ 6 ประชาธิปัตย์แหกคอก เทหนุนฝ่ายค้าน พลังประชารัฐขอทักษิณ รับเลี้ยง ‘20งูเห่า’

“เทพไท” มัดคอ “บิ๊กป้อม” ให้รักษาสัจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดิมพันถ้ากล่อม ส.ว.ร่วมสังฆกรรมได้ขอเอาธูปเทียนไปกราบ “สมชัย” เย้ย ปชป.อยู่ไม่เป็น สอนเชิงต่อรองยึดหัวโต๊ะ กมธ.แก้ รธน.ต้องเอาอย่าง ภท. พท.รู้ไต๋ดัน “ไพบูลย์” นั่งเก้าอี้ประธาน กมธ. หวังป่วนอยู่ยาว ด้าน พปชร.ดิ้นเปิดเครื่องดูด 20 งูเห่าเพื่อไทยแก้เสียงปริ่มน้ำ คานพรรคร่วมเล่นเกมต่อรองถอนตัว “ทักษิณ” ไฟเขียวบอกฝากเลี้ยงให้ดีด้วยนะ

ขณะที่ กมธ.ป.ป.ช.ป่วนหนัก “เอ๋” แผลงฤทธิ์ป่วนทุกเม็ด ขอย้ายที่นั่งเบียดไหล่ประธาน แท็กทีม “สิระ” ยั่วโสตประสาท “เสรีพิศุทธ์” จวกจ้องแต่ถ่ายรูปงานไม่ทำ สภาฯถกญัตติตั้ง กมธ.โละ ม.44 วุ่นเจอพิษเสียงปริ่มน้ำ ฝ่ายค้านโหวตชนะรัฐบาลขอนับแต้มใหม่ ประท้วงจนพักการประชุมนับชั่วโมง สุดท้ายปิดเกมองค์ประชุมล่ม เผย ส.ส.ปชป. 6 เสียงยกมือร่วมฝ่ายค้าน

หลังจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติไม่ส่งชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้รับการันตีจะได้เป็นประธาน กมธ.จะกลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมืองอีกปมหรือไม่

“บิ๊กป้อม” ลั่นส่งชื่อ “ไพบูลย์” ไปแล้ว

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคประชาธิปัตย์ไม่เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องของเขาเป็นเรื่องของสภาฯ สื่อจะมาถามอะไรไม่เกี่ยว พปชร.ส่งชื่อไปแล้ว เมื่อถามว่าใคร พล.อ.ประวิตรตอบจริงจังเสียงดังว่า “ไพบูลย์” เมื่อถามย้ำว่า จะเสนอนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร.เป็นประธาน กมธ.ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่าไม่ใช่ ยังไม่รู้แล้วแต่เขา ถามแล้วถามอีก เมื่อวานถามก็ตอบไปแล้ว

...

“วิษณุ” โบ้ยไม่เคยคุยถึงตัว ปธ.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งนายอภิสิทธิ์ เป็น กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตำแหน่งดังกล่าวขึ้นอยู่กับ กมธ. 49 คนจะไปโหวต การเสนอชื่อสัดส่วนของรัฐบาล 6 คน ไม่เคยพูดถึงตำแหน่งประธาน เมื่อถามว่าเหตุใดนายไพบูลย์ถึงมาอยู่ในสัดส่วนของรัฐบาล นายวิษณุตอบว่า เนื่องจากโควตาอื่นเต็ม ชื่อนายไพบูลย์จะอยู่ในสัดส่วน ครม.หรือของรัฐบาลได้ไม่แปลก ส่วนขั้นตอนการตั้งประธานเมื่อได้ กมธ.แล้วต้องมีการประชุมโดยเลือกผู้อาวุโสที่สุดมาทำหน้าที่ประธานก่อน จากนั้นจึงเลือกประธานตัวจริง และสื่อไปให้ความสำคัญเองตนไม่เห็นว่าประธาน กมธ.จะมีอะไรมากโดยเฉพาะกับ กมธ.วิสามัญ แต่ประธาน กมธ.สามัญมีบทบาทต้องนั่งเป็นประธานไปตลอด สมัยก่อนอาจแย่งกันหรือผลัดกันเป็นเพราะจะได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ถ้าเป็น กมธ.วิสามัญมีอำนาจแค่ชี้ให้ไปพูด ไม่มีสิทธิประโยชน์ได้เครื่องราชย์

“ไพบูลย์” จองแก้ปมห้าม ส.ส.ยุ่ง ขรก.

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ได้รับเลือกให้เป็น กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ส่วนตัวยินดี แต่ตำแหน่งประธาน กมธ.ไม่ขอออกความเห็นขึ้นอยู่กับ กมธ.ทั้ง 49 คน ส่วนข้อวิจารณ์ว่าหากตนได้เป็นประธาน กมธ.โอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นไปได้น้อยนั้น กมธ.ทุกคนมีความเห็นแตกต่างกันอยู่แล้ว ส่วนตัวเห็นว่ามีรัฐธรรมนูญบางมาตราที่จะต้องแก้ไข เช่น มาตรา 185 (1) ว่าด้วยการห้ามไม่ให้ ส.ส.เข้าไปแทรกแซงส่วนราชการโดยไม่มีข้อยกเว้น ทำให้เวลาที่ ส.ส.ได้รับเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนไม่สามารถประสานงานกับส่วนราชการได้โดยตรงเพื่อแก้ไขปัญหาเนื่องจากเกรงว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ

“เทพไท” มัดคอ “ป้อม” รักษาสัจจะ

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ตนเรียกร้องให้มีความจริงใจในการตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้พาดพิงหรือเฉพาะเจาะจงไปถึงพรรคพลังประชารัฐพรรคเดียว แต่เรียกร้องทุกพรรคการเมืองและทุกภาคส่วน เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯออกมารับลูกแทนรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ พร้อมประกาศยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีการแก้ไขอย่างแน่นอนนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดี ขอให้สังคมไทยจดจำและบันทึกไว้ด้วยเพราะถือเป็นการให้สัญญาประชาคมต่อคนไทยทั้งประเทศ ขอให้ พล.อ.ประวิตร รักษาคำพูดผลักดันให้เป็นจริงตามที่ประกาศไว้ ตนขอขอบคุณในคำยืนยันของพล.อ.ประวิตรไว้ล่วงหน้า หวังว่าคงรักษาสัจจะของลูกผู้ชายชาติทหาร

ท้าถ้าดึง ส.ว.ร่วมแก้จะขอกราบ

นายเทพไทกล่าวอีกว่า ถ้าเป็นความตั้งใจจริง เชื่อว่า พล.อ.ประวิตรสามารถผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน เพราะเพียงแค่ส่งสัญญาณไปยังสมาชิกวุฒิสภา ที่ได้รับแต่งตั้งจาก คสช.ทุกคนรอฟังสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์หรือ พล.อ.ประวิตรกันตลอดเวลา ต้องยอมรับความจริงว่า การเมืองในวันนี้อำนาจสูงสุดถูกรวมศูนย์อยู่ที่พี่น้อง 3 ป.เปิดไฟเขียวเมื่อไหร่ทุกอย่างจะราบรื่นง่ายดายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก และจะได้รับเสียงชื่นชมแซ่ซ้องสรรเสริญจากทุกภาคส่วน ยิ่งถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จได้จริงภายใน 1 ปีด้วยฝีมือและการสนับสนุนของ พล.อ.ประวิตรจะขออาสาเป็นตัวแทนของทุกคนที่รักประชาธิปไตย นำดอกไม้ธูปเทียน ไปกราบขอบพระคุณถึงห้องทำงาน ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาลทันที

“จุรินทร์” อุบเซฟ “มาร์ค” ไว้ยกร่าง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งชื่อนายอภิสิทธิ์ เป็น กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตอนที่มีชื่อนายอภิสิทธิ์ยังเป็นเพียงมติเบื้องต้นที่ให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปพรรคไปหารือกับวิปรัฐบาล เห็นว่าหากเสนอชื่อไปแล้วไม่ได้รับเลือกก็ไม่คุ้มจึงต้องรักษานายอภิสิทธิ์ไว้ เมื่อถามว่า หมายความว่าพรรคจะไม่ส่งคนอื่นชิงตำแหน่งประธานแล้ว นายจุรินทร์ตอบว่า ประชาธิปัตย์ไม่ส่งใครไปเป็นประธานแล้ว เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่จะเก็บนายอภิสิทธิ์ไว้ไปเป็นตัวจริงเมื่อมีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายจุรินทร์หัวเราะก่อนตอบเพียงว่า “ขอเท่านี้ก่อน”

“สมชัย” เย้ยอยู่ไม่เป็นเหมือน ภท.

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.และอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ไม่เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า 1.กมธ.พลาดโอกาสที่จะดึงคนที่เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญที่มีเวลาทุ่มเททำเรื่องนี้ได้เต็มที่ไปอีกคนหนึ่ง 2.การอ้างแค่ว่าถึงเสนอนายอภิสิทธิ์ คงไม่มีโอกาสเป็นประธาน กมธ.ราวกับว่าถ้าเข้ามาต้องเป็นประธานเท่านั้นไม่ได้เป็นประธานก็ไม่ต้องเข้า ตนไม่คิดว่านายอภิสิทธิ์จะคิดเช่นนั้น 3.การอ้างว่าเกรงจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล สะท้อนถึงอำนาจการเจรจาต่อรองของพรรคประชาธิปัตย์น้อยมากหรืออย่างไร ควรใช้โอกาสจากการเป็นพรรคที่มีจุดยืนที่ชัดเจนเคยประกาศต่อประชาชน และเป็นพรรคหลักที่ต่อรองจนการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ในนโยบายเร่งด่วนข้อ 12 ของรัฐบาล เจรจาขอให้พรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนหรือหากแสดงจุดยืนที่มั่นคงชัดเจน การได้เสียงสนับสนุนจากฝ่ายค้านน่าจะเกิดขึ้นได้ 4.ถ้าเป็นพรรคภูมิใจไทยคงพูดไปแล้วว่าไม่ได้เป็นประธาน กมธ.จะทบทวนการอยู่ร่วมรัฐบาลเพราะเป็นนโยบายสำคัญของพรรค อยู่เป็นต้องต่อรองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

“เจิมศักดิ์” ซัดเกาะ รบ.เหนือคำมั่น

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการ โพสต์เฟซบุ๊กหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งชื่อนายอภิสิทธิ์ ชิงตำแหน่งประธาน กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญสั้นๆว่า “ประชาธิปัตย์ยุคนี้ก็แค่นี้ มารยาทและการอยากร่วมรัฐบาลอยู่เหนือมติพรรคและอยู่เหนือสัญญาประชาคม”

จับไต๋ดัน “ไพบูลย์” หวังป่วนอยู่ยาว

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐ เตรียมเสนอชื่อนายไพบูลย์ นิติตะวัน ชิงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแทนนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯว่า หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งชื่อนายอภิสิทธิ์ ลงชิงตำแหน่งประธาน เพราะกลัวขัดแย้งกับพรรคพลังประชารัฐ สังคมตั้งคำถามว่า เป็นการอยากอยู่ร่วมรัฐบาลให้นานที่สุดกับมติพรรคและสัญญาประชาคม พรรคประชาธิปัตย์เห็นอย่างใดสำคัญกว่ากัน ไม่มีความจำเป็นพายเรือให้ใครนั่ง การจงใจส่งนายไพบูลย์ ที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดยืนชัดไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญมา เจตนาชัดว่าจะยื้อเวลาและปั่นป่วนไม่ให้การทำงานศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถขับเคลื่อนได้ เป็นการส่งสัญญาณอยากอยู่ยาว พอได้อยู่ยาวก็อยากอยู่ต่อให้นานที่สุดโดยไม่สนใจว่าประชาชนจะเดือดร้อนอย่างไร

“บิ๊กป้อม” ไม่หวั่นโดนซักฟอก

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้กำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 พ.ย.ให้ทุกกระทรวงเตรียมพร้อมรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลและนโยบายต่างๆไม่ได้มีปัญหาทุกคนอยู่ในรัฐบาล ส่วนตัวไม่มีอะไรต้องกังวล ที่ฝ่ายค้านจะล็อกเป้าไว้ที่ 3 ป.ก็ทำไปเถอะไม่เห็นว่าจะมีเรื่องอะไร เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันก่อนที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า ฝ่ายค้านยังไม่ได้ยื่นญัตติเลยยังไม่รู้รายละเอียดจะอภิปรายใครบ้าง ส่วนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลยืนยันมีเอกภาพไม่มีจะอยู่กันได้อย่างไร ตลอด 3 เดือนของการทำงาน รัฐบาลมีความตั้งใจทำ งานตามกฎหมาย ไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดความขัดข้องใจ ทำงานเต็มที่ร่วมมือกันทุกฝ่าย

พปชร.ดิ้นเปิดเครื่องดูด 20 งูเห่า

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า จากปัญหาความไม่ลงตัวภายในและเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล สะท้อนออกมาให้เห็นจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สืบเนื่องมาจากมีพรรคร่วมหลักๆ 3 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย มีความขัดแย้งขึ้นหลายครั้ง ต่างคนต่างทำงานของตัวเองเป็นหลัก ทั้งยังมีการข่มขู่จะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลด้วย ทำให้พรรคพลังประชารัฐจำเป็นต้องหาหลักประกันการขับเคลื่อนงานในสภาฯ ด้วยการติดต่อ ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยมาสนับสนุน หากพรรคร่วมรัฐบาลเล่นเกมการเมืองโดยใช้เสียง ส.ส. มาต่อรอง โดยขณะนี้แกนนำพรรคพลังประชารัฐได้ติดต่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ให้ยกมือสนับสนุนรัฐบาลในบางเรื่องได้แล้วประมาณ 20 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ภาคอีสาน

“ทักษิณ” ไฟเขียวฝากเลี้ยงให้ดี

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การประสานครั้งนี้จะเป็นในลักษณะการฝากเลี้ยงคือ ให้พรรคพลังประชารัฐดูแล ส.ส.ที่ติดต่อไว้เพียงแค่ช่วยขับเคลื่อนงานในสภาฯโดยไม่ต้องย้ายพรรค เรื่องนี้ทางแกนนำพรรคพลังประชารัฐได้ประสานไปยังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เป็นบุคคลที่พรรคเพื่อไทยให้ความเคารพเชื่อฟังรับทราบแล้ว ซึ่งนายทักษิณไม่ได้ขัดข้องอะไร สอดคล้องกับการวางตัวของนายทักษิณ ในช่วงหลังที่โลว์โปรไฟล์ ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองโดยนายทักษิณถึงกับบอกผู้ที่ไปประสานว่า “ฝากเลี้ยงไปแล้ว ก็ขอให้เลี้ยงให้ดีด้วยนะ”

“พิชัย” แนะหนทางฟื้นเศรษฐกิจ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า การที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนักแต่ดูเหมือนเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น และเกรงจะไม่เพียงพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เพราะการบริหารที่ผิดพลาดมาตลอด 5 ปี ที่ผ่านมาทีมเศรษฐกิจไม่ได้เตรียมพร้อมให้ดีคิดเพียงการแจกเงิน ผลจากจีดีพีที่ตกต่ำแสดงชัดเจนถึงความล้มเหลวของการแจกเงินสะเปะสะปะโดยประเทศไม่ได้พัฒนา ขนาดประชุม ครม.เศรษฐกิจ ยังไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาใดๆออกมา ตนต้องไปถามข้าราชการประจำ แสดงว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลหมดสภาพแล้ว อยากขอเสนอแนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน โดยต้องยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ เลิกโกหกประชาชน เร่งเจรจาการค้า ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี ทำเงินบาทให้อ่อนค่าลง เร่งทุ่มเงินพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันที่เริ่มถดถอยมาตลอด ลดค่าใช้จ่ายเพิ่มรายได้ของประชาชนและเร่งสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

“เอ๋” แผลงฤทธิ์ป่วน “เสรีพิศุทธ์”

อีกเรื่อง เมื่อเวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร โดยมี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ประธาน กมธ.ป.ป.ช. เป็นประธานที่ประชุม ปรากฏว่าก่อนเข้าสู่วาระการประชุม น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ยกมือประท้วง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวขึ้นมาทันทีว่า ไม่ควรให้ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ที่ปรึกษาประธาน กมธ.ไปนั่งข้างๆเพราะธรรมเนียมปฏิบัติที่นั่งข้างประธาน กมธ.ควรเป็นของรองประธาน กมธ. ที่ปรึกษาต้องนั่งต่อจาก กมธ. ทั้งนี้ไม่มี กมธ.คนใดถือสาระโต้เถียงใดๆเพราะจะนั่งกันตามความอาวุโสทางการเมืองมากกว่า แต่ น.ส.ปารีณายังไม่ยอมจบ กล่าวต่อว่า “จะให้ ส.ส.สอบตกนั่งตรงนั้นไม่ได้ เนื่องจากไม่ให้เกียรติ กมธ.ท่านอื่น” ทำให้เจ้าหน้าที่สภาฯ ต้องชี้แจงว่า ตามระเบียบข้อบังคับไม่มีการกำหนดไว้ว่าใครต้องนั่งตรงไหน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์จึงกล่าวตัดบทว่า ใครนั่งตรงไหนก็ได้ น.ส.ปารีณาจึงกล่าวว่า “ดิฉันขอไปนั่งข้างประธาน” ก่อนจะคว้ากระเป๋าลากเก้าอี้ไปนั่งบริเวณหัวโต๊ะข้างๆชนิดไหล่แทบเบียด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ต้องกล่าวว่า “เอ้า! นักข่าวถ่ายหน่อย ผมได้นั่งใกล้คนสวย อย่ากอดผมแล้วกันนะ”

แท็กทีม “สิระ” ยั่วโสตประสาท

ต่อมาที่ประชุมเข้าสู่วาระเสนอปลด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แต่ประชุมต่อได้ไม่นานเกิดการปะทะคารมอีกครั้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้หันไปต่อว่า น.ส.ปารีณาว่า กำลังพิมพ์อะไรบางอย่างในโทรศัพท์มือถือเพื่อรายงานใคร ส่วน น.ส.ปารีณาชี้แจงว่า “กำลังเสิร์ชกูเกิลข่าวนายชวน หลีกภัย ปลดเสรีพิศุทธ์ อยู่ค่ะ” บรรยากาศจึงวุ่นวายขึ้นอีกครั้ง โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้ยกข้อบังคับห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารในห้องประชุมมากล่าวเตือน ถ้าไม่หยุดใช้โทรศัพท์มือถือจะฟ้องนายชวน เพราะรบกวนโสตประสาทการทำหน้าที่ประธาน กมธ. ขณะที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ได้กล่าวขึ้นมาว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ที่ระบบโสตประสาทถูกรบกวน ไม่ได้มองจอโทรศัพท์ของ น.ส.ปารีณา แต่มองอย่างอื่นของ น.ส.ปารีณามากกว่า ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์โต้กลับว่า “ผมจะไปมองอะไรปารีณา มีอะไรให้ผมน่ามอง” ทำให้นายสิระกล่าวต่อว่า “นี่หรือคำพูดของอดีต ผบ.ตร.”

ลงมติ 7 ต่อ 2 ไม่ปลด ปธ.กมธ.

ท้ายที่สุด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวตัดบท และเข้าสู่วาระการประชุมเสนอปลดตนเองออกจากตำแหน่งประธาน กมธ.โดย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เสนอให้ทำเรื่องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ว่า กมธ.จะลงมติปลดประธาน กมธ.ได้หรือไม่ แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ฟังเสียงทักท้วง ให้ที่ประชุมดำเนินการต่อจนกระทั่งมีการลงมติ ผลปรากฏว่าที่ประชุม กมธ.มีมติ 7 ต่อ 2 งดออกเสียง 4 เสียง ไม่เห็นด้วยที่จะนำเรื่องลงมติปลดประธาน กมธ.ได้หรือไม่มาพิจารณาในที่ประชุม แต่ให้นายสิระไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งหนึ่งในที่ลงมติเสียงข้างมากมี พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ด้วย ขณะที่ 2 เสียงข้างน้อยคือนายสิระและ น.ส.ปารีณา นอกจากนี้ช่วงก่อนที่จะมีการลงมติ นายสิระได้ชักชวน กมธ.ฝ่ายของรัฐบาลให้วอล์กเอาต์แต่ไม่มี กมธ.คนใดสนับสนุน

จวกจ้องแต่ถ่ายรูปงานไม่ทำ

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนมอบงานให้ น.ส.ปารีณาทำงาน แต่ก็ไม่ทำงาน คอยแต่ถ่ายรูปรายงานพรรคและนายกฯว่าใครยกมือหรือไม่ยกมือสนับสนุนเอาการเมืองเข้ามายุ่ง งานไม่ทำ ถ้าจะให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน เข้ามาเป็น กมธ.อีกก็ดูเอาเองว่าจะเป็นอย่างไร ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ เมื่อตำแหน่ง กมธ.ว่างลง เป็นหน้าที่ประธาน กมธ.จะเสนอไปยังประธานสภาฯเพื่อแต่งตั้ง กมธ.แทนตำแหน่งที่ว่าง หากยังไม่ได้เสนอเรื่องต่อประธานสภาฯ ก็ยังตั้ง กมธ.ไม่ได้ ตนจะบรรจุวาระเรื่องนี้ในวันใดก็เป็นเรื่องของตน แต่นายสิระเป็นใครมาระบุเสนอบรรจุเรื่องที่จะให้นายไพบูลย์มาเป็น กมธ.หรือเรื่องใดเข้าสู่วาระหรือไม่ การจัดวาระเป็นหน้าที่ของตน

“สิระ” ไม่รามือให้ “ชวน–ป.ป.ช.” สอย

นายสิระกล่าวว่า แม้ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากไม่ปลด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไปแล้ว แต่จะไม่หยุดอยู่แค่นี้จะดำเนินการต่อไปใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.เสนอเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบพฤติกรรม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่ร่วมลงมติในที่ประชุม กมธ.กรณีจะปลดตำแหน่งประธาน กมธ.ได้หรือไม่ 2.ในวันที่ 2 ธ.ค. เวลา 10.00 น. จะไปยื่นหนังสือให้ประธานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ว่า มีพฤติกรรมโดยมิชอบ 3.หารือในที่ประชุมสภาฯ จะสอบถามว่าตำแหน่ง กมธ.มีอำนาจแค่ไหน

“จิรายุ” โวย รมต.ชิ่งตอบกระทู้

เมื่อเวลา 13.30 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธาน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้หารือที่ประชุมว่า ขอให้สภาฯกำหนดมาตรการกรณีที่นายกฯ หรือรัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ถามสดกรณี ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้งบฯกว่า 1.4 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายได้รับแจ้งว่ารัฐมนตรีไม่สามารถมาตอบกระทู้ได้ ขอเสนอให้สภาฯหามาตรการว่า หากรัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ขอให้ปลดหรือไล่ออกจากตำแหน่ง โดยนายชวนชี้แจงว่า เป็นสิทธิของ ครม.หากไม่พร้อมหรือติดภารกิจขอเลื่อนได้ เหมือนสมัยรัฐบาลสมัยนายจิรายุที่เป็นแบบเดียวกัน ดังนั้น อย่าตำหนิกัน ตนได้ประสานแล้วให้รัฐมนตรีมาตอบในวันที่ 4 ธ.ค.ทั้งนี้ นายจิรายุกล่าวต่อว่า อย่างน้อยควรมอบให้ ครม.คนอื่นมาชี้แจง อย่างนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม และนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่อยู่ในห้องประชุมควรชี้แจงได้ หรือทั้ง 2 คนตอบไม่ได้เพราะเป็นคนละพรรค ทำให้งานไม่มีเอกภาพ เศรษฐกิจถึงดิ่งขนาดนี้

“ถาวร” สวน นักโทษชายหญิงก็หนี

จากนั้นนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ชี้แจงว่า เหตุผลที่รัฐมนตรีกระทรวงอื่นตอบไม่ได้เพราะ ครม.แบ่งงานทำ ถ้าไม่มาตอบกระทู้โดยไม่มีเหตุผลสามารถใช้มาตรการอื่นได้ เช่น การยื่นถอดถอนจากตำแหน่ง การที่ผู้อภิปรายพูดและชี้หน้ามายังพวกตน เวลาชี้นิ้วด่าคนอื่น อีก 3 นิ้วนั้นชี้เข้าหาตัวเอง สิ่งที่เป็นมามักลืม อย่างนักโทษหญิงนักโทษชาย ยังไม่เคยมาตอบสภาฯ ขอเปรียบเทียบให้เห็นเท่านั้น ทำให้บรรยากาศในห้องประชุมทำท่าจะตึงเครียด จนนายชวนต้องกล่าวตัดบทว่า ทุกสมัยมีขอเลื่อนตอบแต่รัฐมนตรีหนีไม่พ้นต้องมาตอบ กรณีกระทู้ของนายจิรายุเรื่องเศรษฐกิจ ตนจะติดตามให้มาตอบในสัปดาห์หน้า

“ปิยบุตร” ทวงสำนึก ส.ส.ตั้ง กมธ.ม.44

ต่อมาเวลา 16.50 น.เข้าสู่วาระการพิจารณาญัตติด่วน เรื่องการให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของ คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า หากมีการตั้งกมธ.วิสามัญฯชุดนี้จะมาศึกษาว่าคำสั่งหรือประกาศ คสช.ฉบับใดดีจะเปลี่ยนมาเป็น พ.ร.บ. ส่วนคำสั่งใดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนควรยกเลิก หรือฉบับใดยกเลิกไปแล้วแต่ผลร้ายยังดำรงอยู่ ควรหามาตรการเยียวยาให้ผู้เสียหาย ที่สำคัญการตั้ง กมธ.ชุดนี้ เป็นการแก้ปัญหาวัฒนธรรม การพ้นผิดลอยนวล ต่อไปใครทำรัฐประหารจะย่ามใจ ทำแล้วนิรโทษกรรมตัวเอง ทำให้ประเทศไม่พ้นจากวงจรอุบาทว์ มีรัฐประหารซ้ำซาก

รัฐบาลแพ้แต่ไม่ยอม ขอโหวตใหม่

จากนั้นได้มีการลงมติว่าจะให้ตั้ง กมธ.วิสามัญหรือไม่ ทันทีที่ผลคะแนนปรากฏ มีเสียงเฮลั่นจากฝ่ายค้านในห้องประชุมเพราะผลคะแนนเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.ด้วยคะแนน 236 ต่อ 231 งดออกเสียง 2 อย่างไรก็ตาม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล รีบแก้เกมเสนอให้นับคะแนนใหม่ โดย ส.ส.ฝ่ายค้านพากันส่งเสียงโห่ดังลั่น แต่นายชวนชี้แจงว่า ตามข้อบังคับข้อ 85 กรณีมีคะแนนแพ้ชนะกันไม่เกิน 25 เสียง แต่การลงคะแนนใหม่ต้องใช้วิธีการขานชื่อทีละคน โดยมี ส.ส.รัฐบาลยกมือรับรอง ท่ามกลางการประท้วงวุ่นวายของฝ่ายค้าน โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวว่า หากให้นับคะแนนใหม่ต้องนับใหม่ทุกครั้งที่มีการร้องขอ ขณะที่นายปิยบุตรกล่าวว่า ขอให้ประธานวิปรัฐบาลใจเย็นๆ หวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจว่าแพ้ก็คือแพ้อย่าให้มีปัญหากับสภาฯแห่งนี้ มิเช่นนั้นสภาฯจะทำงานต่อไม่ได้

ฝ่ายค้านท้วงแหลกต้องพักประชุม

อย่างไรก็ตาม นายชวนยืนยันว่า เป็นสิทธิของสมาชิกที่ขอให้นับคะแนนใหม่ ตนไม่มีทางหลีกเลี่ยง ถ้าไม่ให้นับใหม่ตนก็ทำผิดข้อบังคับ ในฐานะประธานไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ต้องวางตัวเป็นกลาง จากนั้นขอให้ตั้งคณะกรรมการนับคะแนนจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่ฝ่ายค้านไม่ยอมส่งตัวแทนเป็นคณะกรรมการนับคะแนน และฝ่ายค้านยังคงรุมประท้วงต่อเนื่อง บางคนตะโกนเสียงดังต่อว่าด้วยความไม่พอใจ เช่น “ไปกล้วยไป” บางคนตะโกนไล่นายชวน จนนายชวนต้องบอกว่าให้รักษามารยาท สภาฯไม่ใช่โรงเหล้าเถื่อน ทั้งนี้ ฝ่ายค้านรุมประท้วงกว่า 30 นาที ในที่สุดนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เสนอให้พักการประชุม 5 นาที นายชวนจึงอนุญาตให้พักการประชุมเป็นเวลา 15 นาที

“ชลน่าน” ติงนับใหม่สภาฯเสียหาย

ต่อมาเวลา 18.50 น. หลังพักการประชุมไปเกือบ 1 ชั่วโมง ได้กลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง โดยนายชวน ยังคงยืนยันจะวินิจฉัยตามข้อบังคับการประชุมสภาที่ 85 เมื่อมีการเสนอให้นับคะแนนใหม่ต้องนับใหม่โดยการขานชื่อโดยเปิดเผย ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีเสียงในสภา 498 เสียง เป็นฝ่ายรัฐบาล 254 เสียง ฝ่ายค้าน 244 เสียง ห่างกัน 10 เสียง ดังนั้นการลงมติจะมีผลต่างไม่เกิน 25 เสียง ถ้าใช้บรรทัดฐานเช่นนี้ ต่อไปต้องนับคะแนนใหม่ทุกครั้ง การจะใช้ข้อบังคับการประชุมข้อ 85 ต้องใช้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่ใช้ทุกกรณี ถ้าทำแบบนี้สภาฯ เสียหาย แทนที่ฝ่ายค้านจะใช้แต่กลับกลายเป็นฝ่ายเสียงข้างมากใช้วิธีนี้ ขอให้ทบทวนใหม่ ถ้ายังยืนยันจะให้นับคะแนนใหม่ฝ่ายค้านจะไม่ขออยู่ร่วมประชุม

ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ไม่เคยคิดจะใช้ข้อบังคับข้อ 85 นับคะแนนใหม่แต่หากดูรายละเอียดผลคะแนนที่ออกมา หลายคนอยู่ในห้องประชุม แต่มีรายชื่องดออกเสียง หรือคะแนนออกมาตรงข้ามกับที่กดลงคะแนนจึงจำเป็นต้องขอนับคะแนนใหม่

องค์ประชุมล่มฝ่ายค้านวอล์กเอาต์

จากนั้นนายชวน ขอให้ใช้ข้อบังคับข้อที่ 85 ขานชื่อลงคะแนน แต่ระหว่างนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านพากันวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมกันหมด ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้เสนอนับองค์ประชุมทันที ทำให้นายวิรัชลุกขึ้นกล่าวว่า ตอนนี้มีการนับองค์ประชุม แต่ฝ่ายค้านได้ลุกออกจากห้องประชุมหมด ดังนั้นขอให้เลื่อนญัตติดังกล่าวออกไปก่อนเพราะในวันที่ 28 พ.ย.จะมีการประชุมสภาฯ อยู่ดี แต่ในที่สุด เมื่อมีการนับองค์ประชุมแล้ว ผลปรากฏว่ามีเสียงเพียง 92 เสียง ถือว่าองค์ประชุมไม่ครบ นายชวนจึงสั่งปิดประชุมในเวลา 19.20 น. โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะนั้นมี ส.ส.อยู่ในห้องประชุมมากกว่า 92 คน แต่ไม่ยอมกดบัตรแสดงตน

เผย ปชป.โหวตร่วมกับฝ่ายค้าน 6 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเสียงโหวตสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของ คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ที่ฝ่ายค้านโหวตชนะ พบว่ามี ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ 6 คนโหวตสนับสนุนคือ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช และนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยนายสาทิตย์โหวตในฐานะเป็นผู้ยื่นญัตติดังกล่าว ส่วนอีก 5 คน โหวตในฐานะผู้ลงนามสนับสนุนให้ยื่นญัตติ นายเทพไท กล่าวว่า เป็นหนึ่งใน ส.ส.ที่โหวตเพราะก่อนหน้าเคยหารือในวิปรัฐบาลแล้วเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรตั้งกรรมาธิการชุดนี้ แต่เรายืนยันว่าจะอภิปรายและขอใช้เอกสิทธิ์ในฐานะผู้เสนอและผู้สนับสนุนญัตติ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนมาจากประชาชน และกระแสสังคมในสื่อโซเชียลสะท้อนมา ตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่ถือว่าสร้างความเสียหายอะไรให้รัฐบาล

เสียงรัฐบาลหาย 18 ชิ่งไม่โหวต

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ผลโหวต 236 ต่อ 231 งดออกเสียง 2 นั้น นอกจากมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 6 เสียง ไปร่วมโหวตเห็นด้วยแล้ว ยังปรากฏว่ามี ส.ส.อีก 33 คน ไม่ได้เข้ามาร่วมโหวต ประกอบด้วย พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคประชาธิปัตย์ 6 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน ขณะที่มีฝ่ายค้าน 15 คน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 10 คน พรรคอนาคตใหม่ 2 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน เสรีรวมไทย 1 คน ประชาชาติ 1 คน

“โรม” จ่อเรียก ผบ.ทบ.แจงสภาฯ

ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน แถลงว่า กมธ.ได้พิจารณาศึกษากรณีการดำเนินคดีโดยรัฐเพื่อกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง ตามที่ทางกลุ่มผู้ร้องเรียน อาทิ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว อดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นายธนวัฒน์ วงไชย นักกิจกรรมทางการเมือง และ น.ส.ณัฏฐา มหันทนา หรือ “โบว์” ร้องเรียนมายัง กมธ. โดยตัวแทนของฝ่ายรัฐที่มาชี้แจงคือ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และ พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี ผบ.กรมทหารพรานที่ 22 โดยอธิบายกับทาง กมธ.ว่า เป็นเพียงแค่ผู้ปฏิบัติหน้าที่จะฟ้องใคร ข้อหาอะไรล้วนเป็นคำสั่งจาก คสช.ทั้งสิ้น ทำให้เข้าใจปัญหามากขึ้น เชื่อว่าทางฝ่ายรัฐน่าจะกลับไปมองถึงสิ่งที่ทำ และเกิดการถกเถียงกรณีที่ผ่านมาว่ามีคนถูกฟ้องร้องมากมายขนาดนี้ ทางผู้ร้องเตรียมจะเดินหน้ายื่นกรณีนี้เพื่อนำไปสู่การเชิญ ผบ.ทบ.ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาชี้แจงกับ กมธ.

แขวนงบฯกรมวิชาการเกษตร

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณางบประมาณด้านการฝึกอบรมสัมมนาประชาสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า งบฯของกรมวิชาการเกษตรพบความผิดปกติเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารของบฯจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งงบฯเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ 87 เครื่อง ราคาเครื่องละ 60,000 บาทต่อเครื่องต่อปี ถือเป็นการใช้งบฯ ที่ส่อทุจริต ทั้งที่สำนักงบประมาณเคยมาชี้แจงว่า หากซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้จะอยู่ที่ราคาเครื่องละ 17,000 บาท และตรวจสอบพบว่ากรมวิชาการเกษตรดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมาก่อนแล้วหลายปี ได้ขอเรียกดูทีโออาร์ไปแต่อธิบดีกรมวิชาการฯตอบเพียงว่า ไม่มี ที่ประชุมจึงมีมติให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ รวมทั้งให้แขวนงบฯทั้งกรมในปีนี้

นายกฯประชุมร่วมน้ำโขง-เกาหลี

สำหรับภารกิจวันสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษครั้งที่ 3 และประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลีครั้งที่ 1 ที่นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 พ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่นเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง) ที่ห้องประชุมผู้นำชั้น 3 ศูนย์การประชุมนูริมารู เอเปก เฮาส์ พล.อ.ประยุทธ์ร่วมประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลีครั้งที่ 1 กับนายมุน แช-อินและผู้นำกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม โดยที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาแม่น้ำโขง-แม่น้ำฮัน และแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ต่อการกำหนดกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการฉบับที่ 3 ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2564 โดยเน้นหลัก 3P ได้แก่ พัฒนาประชาชน พัฒนาคุณภาพชีวิต แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ดูแลสุขภาพประชาชนด้วยระบบสุขภาพถ้วนหน้า ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง แบ่งปันประสบการณ์ ภาคธุรกิจ โดยไทยเตรียมพร้อมโครงการอีอีซีสนับสนุน และส่งเสริมสันติภาพ

ยินดีความสำเร็จอาเซียน-เกาหลี

จากนั้นเวลา 11.40 น. ที่อาคารการประชุม ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ นครปูซาน พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานแถลงร่วมกับนายมุน แช-อิน โดยนายกฯกล่าวว่า ทุกประเทศสมาชิกยืนยันสนับสนุนความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ขอชื่นชมสาธารณรัฐเกาหลีที่ประกาศเพิ่มเงินทุนในกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลีเป็น 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2563 และขอบคุณเกาหลีที่เป็นประเทศแรกประกาศสนับสนุนเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในกองทุนเพื่อการพัฒนาของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่น้ำโขง ACMECS จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์เดินทางกลับถึงประเทศไทยในเวลา 18.00 น. โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวสั้นๆกับผู้สื่อข่าวว่า วันที่ 28 พ.ย.จะเดินทางไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราช การตำรวจ (ก.ตร.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ