รัฐบาลไทยจัดพิธีรับเสด็จ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่ทำเนียบรัฐบาล ประทานสุนทรพจน์ เรียกร้องประชาคมโลกร่วมแก้ปัญหาการอพยพย้ายถิ่น ทรงชื่นชมไทยแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

วันที่ 21 พ.ย. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ร่วมพิธีรับเสด็จ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยระหว่างวันที่ 20-23 พ.ย. 2562 ตามคำเชิญของรัฐบาลไทยและสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล และเป็นการเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยเนื่องในโอกาสเชิญเฉลิมฉลอง 350 ปี แห่งการสถาปนามิสซังสยาม และฉลอง 50 ปีแห่งสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและนครรัฐวาติกัน ระหว่างวันที่ 20-23 พ.ย. 2562 อีกทั้งยังเป็นการเสด็จเยือนประเทศไทยของประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกในรอบ 35 ปี นับจากที่ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงเคยเสด็จเยือนประเทศไทยเมื่อปี 2527 ซึ่งเป็นการจารึกเพื่อสันติภาพ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา พร้อมทั้งประกอบศาสนกิจร่วมกับคริสตชนและเยาวชนคาทอลิกด้วย

...

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต้อนรับในนามรัฐบาลและประชาชนชาวไทย รู้สึกเป็นเกียรติที่มีโอกาสรับเสด็จ นับเป็นโอกาสอันพิเศษอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับนครรัฐวาติกัน พร้อมกล่าวชื่นชมในพระกรณียกิจที่ทรงให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคีปรองดองระหว่างมนุษยชาติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การขจัดความยากจน สร้างความเท่าเทียมในสังคม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมบรรยากาศแห่งสันติภาพทั่วทุกมุมโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีความเชื่อในศาสนาใดหรือพื้นเพสังคมอย่างไร

ในส่วนของประเทศไทยรัฐบาลได้ดำเนินการในประเด็นต่างๆ เหล่านี้เช่นเดียวกัน ทั้งการรับรองสิทธิเสรีภาพประชาชนในการนับถือศาสนา การรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง สร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้ประชาชนทุกคน ลดความเหลื่อมล้ำสนับสนุนการเข้าถึงการเงิน ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งได้น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ และพระบรมราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในนโยบายเป็นแนวทางในนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

นายกรัฐมนตรี ยังกราบทูลว่าตลอดปี 2562 ไทยได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานอาเซียนส่งเสริมความร่วมมือของภูมิภาคและหุ้นส่วนจากภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้อาเซียนเป็นสังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ และจากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ทุกประเทศเห็นพ้องในการพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกลับวิสัยทัศน์ สมเด็จพระสันตะปาปา โดยเชื่อมั่นว่าประเทศไทยและนครรัฐวาติกันจะสามารถร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในกรอบทวิภาคีระหว่างประเทศ และความสำเร็จของการเสด็จเยือนครั้งนี้จะเป็นสิ่งยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างการที่มีมาอย่างยาวนานและตลอดไป

พร้อมกันนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประทานสุนทรพจน์ ความว่า ขอบคุณสำหรับการต้อนรับในการเยือนแผ่นดินไทยอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและยังคงรักษามรดกทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรม ซึ่งได้ประสบด้วยตนเอง จะเป็นพยานยืนยันเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างประเทศและประชาชนทั้งโลก ขอยืนยันถึงความปรารถนาดีที่มีต่อไทยและรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอแสดงความเคารพอย่างสูงต่อ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมอำนวยพรไปยังปวงชนชาวไทยทุกคน และแสดงความยินดีที่ประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งเป็นก้าวสำคัญต่อประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ปัญหาของโลกในปัจจุบันส่งผลกระทบทุกคน จึงเกิดการเรียกร้องในการสร้างความยุติธรรม จึงเห็นว่าในช่วงเวลาสำคัญที่ไทยได้ทำหน้าที่และหมดวาระในการทำหน้าที่อาเซียน แก้ปัญหาประชาชนในภูมิภาคนี้ และในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม ยอมรับร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ และการเป็นพหุวัฒนธรรม ท่ามกลางโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ มองข้ามมิติด้านจิตวิญญาณและความสวยงามของประชาชน

พระองค์ทรงรู้สึกดีใจที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งศูนย์จริยธรรมในสังคมที่ได้เชิญผู้แทนศาสนาต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ในการรักษาความทรงจำทางจิตวิญญาณอันมีชีวิตของประชาชน และในโอกาสที่ได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จะเป็นการแสดงถึงการสร้างมิตรภาพ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของสังคม ไม่มีแบ่งแยก ชาวคาทอลิกแม้เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ จะพยายามอย่างเต็มที่สนับสนุนอัตลักษณ์

พร้อมกันนี้ ทรงชี้ถึงการอพยพย้ายถิ่นฐาน โดยวิงวอนให้ประชาคมระหว่างประเทศ ดำเนินการด้วยความรับผิดชอบ ในการแก้ปัญหานี้ หวังว่าจะมีการจัดตั้งกลไกที่ประสิทธิภาพ ในการปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้ย้ายถิ่นและอพยพ และทรงชื่นชมรัฐบาลไทยและทุกองค์กรที่ได้แก้ปัญหาความรุนแรง การเอารัดเอาเปรียบกับเด็กและสตรี และปีน้ีเป็นปีครบรอบ 30 ปี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ทรงย้ำว่าปัจจุบันสังคมต้องการผู้ที่ส่งเสริมให้เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และขอให้ทุกคนมีความสามัคคี ปฏิบัติหน้าที่ตนเอง สร้างประโยชน์ร่วมกัน ให้ทั่วถึงทุกหนแห่ง.