ธรรมเนียม​ชาว​บ้าน ห้าม​เหยียบ​ธรณีประตู​บ้าน​ครับ แต่​หาก​พลั้งเผลอ​กัน​บ้าง ก็​ปล่อยๆกัน​ไป ไม่​ว่า​กัน

เข้มงวด​กวดขัน​กัน​อีก​หน่อย ธรณีประตู​โบสถ์ ยิ่ง​ตอน​ที่​ประคอง​นาค​เข้าไป​บวช พ่อ​แม่​ที่​ตาม​แห่​ประคอง​พ่อ​นาค มัก​จะ​มีเสียง​บอก​กัน​ดังๆ ระวัง อย่า​เหยียบ​ธรณีประตู

ใน​หนังสือ เรื่อง​จริง​ของ​จริง ใน​นิยาย​อิง​ประวัติศาสตร์ไทย สี่​แผ่นดิน (พล​ตรี ม.ร.ว.​คึก​ฤทธิ์ ปราโมช ประพันธ์) กับ​เรื่องจริง ใน​ราช​สำนัก​สยาม (สำนัก​พิมพ์​มติ​ชน) คุณ​ศันสนีย์ วีระ​ศิลป์ชัย เขียน​เรื่อง ธรรมเนียม​ห้าม​เหยียบ​ธรณีประตู​ ไว้​ว่า

เมื่อ​ขึ้น​จาก​เรือ​ที่​ท่าพระ แม่​แช่ม​พา​พลอย​เดิน​เลาะ​กำแพง​วัง เรื่อยมา ได้​สัก​ครู่​จึง​เลี้ยว​เข้า​ประตู​ชั้น​นอก

ประตู​ที่​แม่​แช่ม​พา​พลอย​ผ่าน​เข้า​มา​นั้น เป็น​ประตู พระบรมมหาราชวัง​ชั้น​นอก​และ​ชั้น​กลาง ชั้น​นอก​เป็น​ประตู​ใน​กำแพง​ที่​อยู่​ริม​ถนน​มหาราช เรียก​ประตู​ช่อง​กุด

เมื่อ​ผ่าน​เข้า​มา​ถึง​ลาน​กว้าง มี​หาบ​ขาย​ของ และ​ของ​ที่​วางขาย​ก็​ดู​มี​มากมาย​เหลือ​ขนาด ลาน​กว้าง​นั้น​คือ ถนน​เขื่อน​ขัน​ธ์​นิเวศน์ ซึ่ง

เป็น​ถนน​คั่น​ระหว่าง​กำแพง​ชั้น​นอก กับกำแพง​ชั้น​กลาง มี​ประตู​ตรง​กับ​ประตู​ช่อง​กุด คือ​ประตู​ศรี​สุดา​วงศ์

ทั้ง​สอง​ประตู​เป็น​ทาง​เข้า​ออก​ของ​ผู้คน​ใน​พระ​ราช​สำนัก​ฝ่ายใน จะ​เปิด​เวลา 06.00 น. ​และ​ปิด​เวลา 18.00 น.

ประตู​ศรี​สุดา​วงศ์ เป็น​ประตู​เข้า​สู่​พระ​ราช​ฐาน​ชั้น​ใน​ มี ลักษณะ​เป็น​ประตู​ใหญ่​สอง​บาน ซึ่ง​ปกติ​จะ​ปิด​อยู่​เสมอ ใน​บานใหญ่​ จะ​มี​ประตู​บาน​เล็ก​สำหรับ​เปิด​ปิด​ให้​คน​เข้า​ออก​เป็น​ประจำ

ด้วย​เหตุ​ที่​มี​ประตู​บาน​เล็ก​ซ้อน​อยู่​ใน​ประตู​บาน​ใหญ่ จึง​ทำให้​มี​ธรณีประตู​ค่อนข้าง​หนา ชาววัง​ถือ​กัน​ว่า​ ประตู​พระบรมมหาราชวัง​ทุกๆแห่ง มี​เทวดา​รักษา​อยู่ เวลา​เข้า​ออก​ให้​เดิน​ข้าม​ผ่าน​ไป

หาก​ผู้​ใด​พลั้งเผลอ​ไป​เหยียบ​เข้า โขลน​เฝ้า​ประตู​จะ​ดุ​ว่า หรืออาจ​สั่ง​ให้​ลง​กราบ​ขอ​ขมา​ธรณีประตู​นั้น

พลอย​เข้า​วัง​ครั้ง​แรก​ก็​พบ​กับ​เรื่องที่​ทำให้​ตกใจ​กลัว และทำให้​รู้จัก​กับ​คน​ที่​เรียก​ว่า​โขลน เมื่อ​พลอย​เหยียบ​ธรณีประตู ก็ได้​ยินเสียง​ใคร​คน​หนึ่ง ร้อง​ราวกับ​ฟ้าผ่า​ว่า “หยุด หยุด​เดี๋ยวนี้ กลับ​มา​ที่​นี่ก่อน”

โขลน​เป็น​พนักงาน​สังกัด​กรม​โขลน มี​มา​ตั้งแต่​สมัย​อยุธยา​จนถึง​รัตนโกสินทร์ ทำ​หน้าที่​คล้าย​ตำรวจนครบาล​ของ​ราช​สำนัก​ฝ่ายหน้า กรม​โขลน​สังกัด​กระทรวง​วัง มี​การ​บังคับบัญชา​ตามลำดับ​ชั้น

ตั้งแต่​นาย (โขลน​ทุก​คน​เป็น​ผู้หญิง) จนถึง​จ่า ชั้น​สูง​สุด​คือ​หลวง​แม่เจ้า ทั้งหมด​มี​อธิบดี​โขลน​เป็น​ผู้​บังคับบัญชา

หน้าที่​สำคัญ​ของ​กรม​โขลน ดูแล​รักษา​ความ​สงบ​เรียบร้อย​ความ​ปลอดภัย และ​กวดขัน​ให้​ทุก​คน​ปฏิบัติ​ตาม​ขนบประเพณี ที่​อยู่​ใน​ขอบเขต​ขอ​งก​ฎ​มณเฑียรบาล

ใคร​ทำ​ผิด​หรือ​พลั้งเผลอ​ทำ​ผิด​ขนบประเพณี​วัง โขลน​จะ​ใช้​วิธี​ว่ากล่าว​อบรม​สั่งสอน​ต่อหน้า​ธารกำนัล

ทำให้​ได้​รับ​ความ​อับอาย

ชาววัง​จึง​เกรง​กลัว​โขลน ไม่​อยาก​มี​เรื่องราว​กับ​โขลน อย่าง​ที่​แม่​แช่ม​กระซิบ​สั่งสอน​พลอย​ว่า “พลอย​จะ​อยู่​ใน​วัง​ต่อ​ไป จำ​ไว้​ให้​ดี อย่า​ไป​เกิด​เรื่อง​กับ​โขลน แก​ด่า​ยับ​ทีเดียว เรา​สู้​เขา​ไม่ได้​หรอก”

ธรรมเนียม​โบราณ ถือว่า​การ​เหยียบ​ธรณีประตู เป็น​การลบหลู่​เทวดา​รักษา​วัง แต่​โทษ​ก็​ยัง​เบา แค่​ถูก​โขลน​ด่า

ยุค​สมัย​นี้ มี​คน​อยู่​นอก​เมือง แสดง​ความ​หาญ​กล้า นำ​ขบวน​เดิน​กลับ​บ้านเมือง แต่​เผลอ​ปล่อย​ลูกน้อง​ปีน​ขึ้น​ไป​ขย่ม​ธรณีประตู​เมือง เทวดา​รักษา​เมือง​ก็​ตกใจ ไม่​กล้า​ปรากฏ​ตัว

บ้านเมือง​เรา ดูเหมือน​จะ​เข้า​ใกล้​สมัย ดาว​เดือน​ดิน​ฟ้า​อาเพศ ใน​เพลงยาว​พยากรณ์​กรุง​ศรีอยุธยา เข้าไป​ทุกที

หวัง​แค่ให้​มี​คน​แบบ​โบราณมา​ช่วย​เป็น​ด่าน   ช่วย​สกัด  ช่วย​ด่า   ให้​รู้จัก​ที่​ต่ำ​ที่​สูง   รู้​ดี​รู้​ชั่ว​กัน​บ้าง   น่า​เสียดาย   โขลน​สมัย​นี้...ไม่​มี​แล้ว.

...

กิเลน ประลอง​เชิง