“ประยุทธ์” เผย กำลังหารือกรณีกรรมาธิการ ป.ป.ช. เชิญไปชี้แจง หลังวันนี้ติดประชุม ครม. ย้ำ แก้รัฐธรรมนูญต้องเพื่อประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ ลั่น ไม่เห็นด้วยล่อจับละเมิดลิขสิทธิ์
วันที่ 6 พ.ย. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เชิญให้ตัวเอง และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงวันนี้ จากกรณีการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่ถูกต้อง เนื่องจากถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งไม่ครบถ้วน ว่า ไม่ได้ไปชี้แจงเพราะติดประชุม ครม. แต่กำลังหารือกันอยู่ว่าควรปฏิบัติอย่างไร
ทั้งนี้ ในเรื่องการตั้งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งต้องจัดสรรปันส่วนตามโควตาในการเสนอชื่อกรรมาธิการหรือตามจำนวนกรรมาธิการทั้งของฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเรื่องเหล่านี้คุยในชั้นกรรมาธิการได้ ส่วนที่มีการจะเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว ว่า ส่วนตัวไม่ได้ไปขัดข้องหรือเกี่ยวข้องอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในกรรมาธิการจะไปก้าวก่ายไม่ได้เพราะเป็นระบบรัฐสภา ส่วนคุณสมบัติผู้จะมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการก็มีการกำหนดไว้แล้ว
ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรจะแก้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศ ทุกอย่างตนเองไม่ขัดข้อง เพราะต้องมีกระบวนการศึกษา ไม่ใช่แก้วันเดียวแล้วจะจบ สำหรับข้อเสนอให้แก้ไข มาตรา 256 เพื่อปลดล็อกแล้วนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) นั้น พล.อ.ประยุทธ์ เผยว่า ยังไม่มีตรงนี้ และตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ทุกอย่างให้เป็นทีละขั้นทีละตอน
...
นอกจากนี้ กรณีการจับกุมเยาวชนที่ทำกระทงลายการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องดูการจับสินค้าลิขสิทธิ์ว่าเป็นการล่อซื้อหรือล่อจับ เพราะทั้ง 2 อย่างต่างกัน การล่อซื้อเป็นการล่อเพื่อหาพยานหลักฐานให้มากยิ่งขึ้น ส่วนการล่อจับเพื่อให้กระทำความผิด ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะเราไม่ได้ให้ไปล่อเพื่อให้คนกระทำความผิด หากเขาไม่ได้ทำก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าทำความผิดอยู่ก็ต้องไปหาพยานหลักฐาน ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกมาชี้แจงแล้วว่าเป็นการกรรโชกทรัพย์ เพราะหลายเรื่องอาจเกิดขึ้นจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสื่อสารให้ดี เพราะการจับกุมลักษณะดังกล่าวมีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงขอเตือนประชาชน ถ้าได้รับผลกระทบก็ให้ร้องเรียนเข้ามา เพราะทุกอย่างมีกฎหมายกำกับอยู่แล้ว.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
(ภาพจาก thaigov.go.th)