“พล.อ.ประยุทธ์” ลุยประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ต่อเนื่อง เช้านี้หารือนายกฯ ญี่ปุ่น-ผู้แทนประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมผลักดันความร่วมมือระหว่างกัน
วันที่ 4 พ.ย. 2562 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ซึ่งในช่วงเช้าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้พบกับ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยกล่าวต้อนรับที่มาเยือนไทยในรอบ 6 ปี และยินดีที่อาเซียนและญี่ปุ่นบรรลุการเจรจาถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ว่า ด้วยความเชื่อมโยง พร้อมหวังว่าอาเซียนจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นภายใต้ ASEAN Outlook on Indo-Pacific โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การเข้าถึงบริการทางการเงิน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการจัดการขยะทะเล
...
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งชื่นชมญี่ปุ่นในฐานะประธาน G20 ในการจัดทำเอกสารผลลัพธ์สำคัญต่างๆ ของการประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง G20 Principles on Quality Infrastructure Investment ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง เพื่อสอดประสานข้อริเริ่มด้านความเชื่อมโยงทั้งระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค
ขณะที่ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชื่นชมบทบาทการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย โดยเฉพาะบทบาทผู้นำของนายกรัฐมนตรีที่สามารถผลักดันให้บรรลุผลการประชุมที่สำคัญต่อการพัฒนาภูมิภาคประสบความสำเร็จ โดยญี่ปุ่นจะเดินหน้าร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป รวมถึงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาประเด็นท้าทายสำคัญในภูมิภาคด้วย
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 ร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม เน้นแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน ซึ่งความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามเป็นเสาหลักที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือเฉพาะด้าน เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทั้ง 13 ประเทศ ภายใต้การแข่งขันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งอาเซียนบวกสามจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากยิ่งขึ้น จึงควรเตรียมความพร้อมในการรับมือ และมุ่งมั่นสร้างโอกาสจากความท้าทาย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม คือ ความเชื่อมโยงในภูมิภาค เสริมสร้างศักยภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ให้เป็นกลไกที่สำคัญของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ ไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนา ที่ยั่งยืน ขอให้ประเทศบวกสามสนับสนุนอาเซียน โดยเฉพาะการจัดตั้ง “ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม” ที่ประเทศไทย ซึ่งความร่วมมืออาเซียนบวกสามจะเป็นกลไกที่สำคัญนำไปสู่หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันของภูมิภาคเอเชียตะวันออก พร้อมขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสำนักเลขาธิการอาเซียนที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยมาโดยตลอดทั้งปี
จากนั้นในเวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ หารือกับ นายโรเบิร์ต ซี โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐอเมริกาในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยพร้อมร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัน และเพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ เช่น การลงทุน การต่อต้านการค้ามนุษย์ และการสนับสนุนบทบาทของสหรัฐฯ ในการเพิ่มพูนความร่วมมือกับภูมิภาค พร้อมฝากความระลึกถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ และภริยา โดยหวังว่าจะมีโอกาสได้ต้อนรับที่ประเทศไทย
ทางด้าน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐฯ แสดงความขอบคุณในการต้อนรับอย่างอบอุ่นของไทย และกล่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ฝากหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อย้ำว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับไทยในฐานะมิตรประเทศอันใกล้ชิด ชื่นชมการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ และยืนยันว่าสหรัฐฯ พร้อมมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการร่วมมือกับไทยและอาเซียนเพื่อประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคต่อไป อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายชื่นชมความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ มีความใกล้ชิดและครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง รวมถึงความท้าทายในรูปแบบใหม่ ไทยมุ่งมั่นในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายยินดีที่การประชุม Indo-Pacific Business Forum ในวันนี้ จะเป็นโอกาสอันดีในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะสาขาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน ดิจิทัล ทั้งนี้ระหว่างการหารือได้มีการหยิบยกประเด็นการประกาศพักสิทธิ GSP บางส่วนของไทย ซึ่งสหรัฐฯ รับไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนไทย
สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 7 มีขึ้นเพื่อทบทวนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-สหรัฐฯ ในมิติการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรมในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางของความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ในอนาคต และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนนักลงทุนสหรัฐฯ ให้ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค รวมถึงสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งบทบาทที่แข็งขันของสหรัฐฯ นี้จะช่วยต่อยอดการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดหลักของการประชุมอาเซียนในปีนี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกส่วนที่มีส่วนร่วมในการแสดงวิสัยทัศน์ และขอบคุณ สปป.ลาว ที่ทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ อย่างมีประสิทธิภาพตลอดปีที่ผ่านมา.
(ภาพจาก thaigov.go.th)