เปิดเวทีสมัยสามัญตะลุมบอน “รื้อ” รัฐธรรมนูญ

เข้าสู่เดือนพฤศจิกายน เดือนรองสุดท้ายก่อนปลายปี

กลิ่นอายเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เริ่มโชยมา ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ3

ฉลองหยุดยาว 5 วัน ไล่ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2563

ตามเงื่อนไขสถานการณ์ยิ่งใกล้เทศกาลฉลองหยุดยาวปีใหม่ ผู้คนส่วนใหญ่ก็เริ่มสะสางงานคั่งค้าง วางโปรแกรมกลับบ้าน เฉลิมฉลอง ท่องเที่ยว

ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องข่าวสารการเมืองก็ลดน้อยลงไป

อารมณ์แบบที่ฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทยต้องเร่งคิวกำหนดวัน ว. เวลา น. ล็อกปฏิทินยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในช่วงวันที่ 12 ธันวาคม จบคิวเชือดโชว์ภายในวันที่ 20 ธันวาคม

เพราะกลัวประชาชนไม่มีอารมณ์ร่วม ทำเวทีเชือดโชว์กร่อย

คิวอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ต้องจัดตามสิทธิรัฐธรรมนูญจะยิ่งไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เจ็บคอ เหนื่อยฟรี

บรรยากาศการเมืองแบบไทยๆห้วงส่งท้ายปลายปี จะลดดีกรีร้อนแรงลงตามธรรมชาติ

แต่สดๆร้อนๆที่เล่นเอาสะดุ้งตามๆกัน กลายเป็นเกมกระแทกชิ่งจาก “การเมืองโลก” ที่ส่งแรงตกกระทบประเทศไทยเต็มๆ จากปรากฏการณ์ที่ “พี่เบิ้ม” สหรัฐอเมริกาลงดาบตัด GSP ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” เซ็นคำสั่งยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร สินค้าไทย 573 รายการ

อ้างเหตุไทยไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

แต่คนทั่วไปและมุมวิเคราะห์สื่อต่างชาติมองตรงกัน มันเป็นเกมตอบโต้การ “แบนสารพิษ” ของไทย

เพราะเหตุไม่บังเอิญ เกิดให้หลังไม่กี่ชั่วโมงกับการที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำกรุงเทพฯได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อคัดค้านการห้ามใช้สาร “ไกลโฟเซต” ที่เป็น 1 ใน 3 สารเคมีทางการเกษตร ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกใช้

...

ส่งสัญญาณเข้มระดับที่ว่ากันตรงๆไม่อ้อมค้อม

และในอารมณ์สวนหมัดกลับแรงๆแบบที่ผู้นำระดับสูงของรัฐบาลไทยอย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข โต้กลับแบบทันทีทันควัน

ซัดอเมริกันห่วงผลประโยชน์ตัวเอง ไทยก็แคร์สุขภาพประชาชนเหมือนกัน

รัฐมนตรีไทยท้าดวลหมัด “คาวบอยทรัมป์” ก็จัดดวลปืนทันที

แต่ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลาย กลายเป็นปมปลุกชนวนชาตินิยมไทยต้านสหรัฐฯ ตามเหลี่ยมฝ่ายค้าน แนวต้านรัฐบาลได้ทีเบิ้ลบลัฟซ้ำ พล.อ.ประยุทธ์

มันก็มีจุดเปลี่ยนให้ดีกรีร้อนแรงลดโทนลงไป

ตามปรากฏการณ์ที่นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาราชการเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เดินทางเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

มีการพูดคุยวงในโดยเน้นการผูกมิตรมาก่อนผลประโยชน์

ก่อนที่อุปทูตสหรัฐฯจะออกมายืนยันว่า การตัด GSP ยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย มีเวลาอีก 6 เดือนยังคุยกันได้ พร้อมส่งสัญญาณกลับไปถึงทำเนียบขาว

ในจังหวะสถานการณ์พอดิบพอดีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนหรืออาเซียนซัมมิต โดยสหรัฐฯได้ส่งตัวแทนระดับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี กับรัฐมนตรีพาณิชย์ พร้อมคณะใหญ่ เดินทางมาเข้าร่วมประชุม

ทั้งสองฝ่ายคงต้องจัดหารือทวิภาคี เคลียร์ผลประโยชน์ร่วมกัน

อย่างน้อยไทยก็จับไต๋ อ่านทางได้จากการเจรจาผ่านนายสมคิด สหรัฐฯอยู่ในอารมณ์หวั่นไหว “ผวา” ที่จีนบุกยึดหัวหาดไทย จ่อกุมยุทธศาสตร์ “ศูนย์กลางอาเซียน” ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองโลก

“คาวบอยทรัมป์” ต้องรีบรุกชิงพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ ดึงดุลอำนาจกลับให้เร็วที่สุด

จุดที่เป็นมุมบวกกับประเทศไทยเต็มๆ อยู่ในวิสัยที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะเดินหมากประคองเกม “ถ่วงดุล” มหาอำนาจโลก เลือกจุดที่ส่งผลดีกับประเทศมากสุด

ณ จุดที่การ “ผูกมิตร” ต้องมาก่อนผลประโยชน์

บนพื้นฐานอธิปไตยของชาติ ยอมไม่ได้ที่จะให้ใครแทรกแซง

ที่สำคัญ วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เงื่อนไขการเมืองโลกได้ผูกโยงกับเมืองในประเทศไทยอย่างแยกไม่ออก

ข้างนอกกระแทกภายใน ข้างในกระฉอกไปภายนอก ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยกำลังหืดขึ้นคอจากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน บวกกับภาวะเทคโนโลยีดิสรัปชัน โหลดน้ำหนักกันแทบคลาน

มันจึงอยู่ที่จิตใต้สำนึกของนักการเมืองไทย ในสถานการณ์แหลมคมจากเกมชิงดุลอำนาจโลกระดับนี้ มันอันตรายเกินกว่าจะลากเอามาเป็นประเด็นการเมือง ป่วนดีกรีระอุในประเทศ

เพิ่มความยากในการแก้โจทย์สถานการณ์ให้หนักไปกันใหญ่

ในจังหวะที่พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ.2562 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป

เวทีสภาเปิดให้ตะลุมบอนกันได้แบบเต็มไม้เต็มมือ

และก็ประเดิมวาระแรกเลย คิว “รื้อกติกา” ฉบับ “ซือแป๋มีชัย ฤชุพันธุ์”

ตามจังหวะที่ทุกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเห็นพ้องต้องกัน ออกแรงผลักดันให้ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาจ่อไว้ตั้งแต่ก่อนปิดสภา

ปาดหน้า แย่งซีน ซ่อนธง หมกเม็ดวาระแฝงของใครของมัน

แต่ถ้าจะยึดเป็นบรรทัดฐาน คงต้องฟัง “มวยหลัก” ตำนานสภาระดับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่พูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญแบบกลางๆแต่ยึดหลักการได้นิ่งเลยว่า ยังไม่ถึงเวลาต้องพูดว่าจะต้องยกเลิกมาตราไหน เพราะต้องดูวิธีการว่า จะมีทางแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างไรบ้าง

เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้แก้ไขได้ยากมาก

ส่วนที่พรรคฝ่ายค้านรณรงค์การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ขอวิจารณ์แต่ขอแนะนำว่า เรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงจะต้องระมัดระวัง ถ้ายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะดีกว่าเดิม ก็อย่าไปทำให้มันกระทบ

เอาเป็นว่า ณ จุดนี้ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับความจำเป็นต้องแก้ไขกติกา

จากรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีปัญหาการบังคับใช้ในทางปฏิบัติที่ลักลั่น สวนทางกับความเป็นจริง

ปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนสุด โฟกัสแค่ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม สูตรการคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ที่เซียนคณิตศาสตร์ยังงง

สดๆร้อนๆการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครปฐม เขต 5 พรรคอนาคตใหม่พ่ายแพ้ยับเยิน เสียที่นั่ง ส.ส.เขต แต่ก็ยัง มีเหตุให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ออกลีลายึกยัก

ตั้งแง่ยึดคะแนน ส.ส.พึงมี ทวงคืนแต้มผู้แทนฯบัญชีรายชื่อ

ยังไม่นับปมป่วน การคำนวณปาร์ตี้ลิสต์สูตรพิสดาร ที่ทำให้ได้ ส.ส.พรรค “ต่ำเอี่ยว” พรรคละ 1 คนเข้าสภาฯ มาเกือบ 10 พรรค ไปร่วมรัฐบาลร้อยพ่อพันแม่เกือบ 20พรรค

และตามระดับคุณภาพ ส.ส.ก็อย่างที่เกิดเหตุผู้แทนฯ “บ้องตื้น” พกสารประกอบวัตถุระเบิดเข้าไปแถลงข่าวในสภาอย่างโจ๋งครึ่ม เพื่อโปรโมตสินค้าเครื่องตรวจวัตถุระเบิด

ซ้ำอ้างข่าววงในฝ่ายความมั่นคงให้ข้อมูลผู้ก่อการร้ายเข้ามาเพ่นพ่านในประเทศไทยนับร้อยคน

ไม่นับกรณี ส.ส.พรรคเล็กที่จ่อโดนร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบหลักฐานการโอนเงินล้านให้หัวหน้า “พรรค 1 แต้ม” ด้วยกัน ถูกตั้งข้อสงสัยเป็นค่า “กล้วยลิง”

นี่คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญทำให้ได้ ส.ส.ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจเลือก แต่ได้มาเพราะ “เสียงตกน้ำ”

มันจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้สภากลับคืนสภาพปกติ

แต่นั่นก็ต้องเปิดกุญแจล็อกประตูหน้าบ้านก่อน ตามรูปการณ์ที่นายชวนไม่ได้เอ่ยตรงๆก็คงหมายถึงด่านสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง ที่ทำให้การรื้อรัฐธรรมนูญทำได้ยาก

ซึ่งหากกระแสสังคมเอาด้วยกับ ส.ส.ก็คงไม่มีใครขวางได้

จุดนี้จึงเป็นอะไรที่ห้ามไม่ได้ กับยุทธศาสตร์การเดินสายปลุกกระแสแนวร่วมนอกสภาตีคู่ไปกับการเดินเกมในสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งในมุมของพรรคฝ่ายค้าน และแนวร่วมนักวิชาการ

แต่นั่นก็ต้องระวังให้ดี อย่าเล่นกันเลยเถิด

เกมลามเตลิดอย่างกรณีที่ 7 พรรคฝ่ายค้านเดินสายไปตั้งเวทีปลุกรื้อรัฐธรรมนูญที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการพูดจาเลยเถิดไปกระทบมาตรา 1 กระตุกขบวนการแบ่งแยกดินแดนหูผึ่ง

กลายเป็นเรื่องใหญ่ ฝ่ายความมั่นคงเดินหน้าดำเนินคดีข้อหาหนัก

และที่ต้องตระหนักและ “จำกัดวง” กันดีๆกับยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทย ลากเอาความในไปขายภายนอก ดึงต่างประเทศเข้ามาร่วมกดดันเกมอำนาจภายใน

เป้าหมายแฝงรื้อรัฐธรรมนูญ แก้กติกา หวังล้างคดีที่ตัวเองติดเงี่ยงกฎหมาย

นั่นคงหนีไม่พ้นเหตุวุ่นวาย ฝ่ายต้านอาละวาด เสี่ยงนำประเทศวนกลับไปเจอวิกฤติฝันร้าย เปิดช่องอำนาจพิเศษเข้ามาจัดการรักษาความสงบ ไล่นักการเมืองตัวป่วนออกไปนั่งข้างสนาม

แอ่นแอ๊น ปิดโหมดแก้รัฐธรรมนูญ

เว้นวรรคประชาธิปไตยอีกยาว.

“ทีมการเมือง”