นํ้าท่วมเพิ่งจบไปแหม็บๆ แจกเงินช่วยเหลือประชาชนยังไม่ครบทุกครัวเรือน วันนี้(1 พ.ย.) “วิกฤติภัยแล้งรอบใหม่” เสียบแทนทันที
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ...นี่คือความจริงประเทศไทย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งกำชับในที่ประชุม ครม.ให้เร่งเตรียมมาตรการรับมือวิกฤติภัยแล้งรอบใหม่ ซึ่งจะเริ่มแผลงฤทธิ์ตั้งแต่วันนี้ (1 พ.ย.) จนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าคือเดือนพฤษภาคม
“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่าใบเสร็จยืนยันว่าวิกฤติภัยแล้งรอบใหม่จะหนักกว่าทุกปี
คือปริมาณนํ้าในเขื่อนเหลือน้อยอย่างน่าตกใจ
เขื่อนภูมิพล เขื่อนใหญ่ที่สุดมีนํ้าใช้การได้เพียง 16 เปอร์เซ็นต์
เขื่อนอุบลรัตน์ เหลือนํ้าใช้การได้ 1 เปอร์เซ็นต์
เขื่อนจุฬาภรณ์ เหลือนํ้าใช้การได้ 9 เปอร์เซ็นต์
และ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนใหญ่อันดับ 2 เหลือนํ้าใช้การได้ 26 เปอร์เซ็นต์
ส่งผลให้ปริมาณนํ้าที่ใช้สนับสนุนการเพาะปลูกในช่วงแล้งยาว 6 เดือนเกิดภาวะขาดแคลน
พื้นที่เขตชลประทาน 8 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี อุทัยธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ และชัยภูมิ ไม่มีนํ้าส่งไปสนับสนุนการเพาะปลูกได้อย่างพอเพียง
ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน จะต้องเดือดร้อนกว่าหลายเท่าตัว
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่า “ข่าวร้ายยิ่งกว่านั้น” คือผลกระทบจากภัยแล้งครั้งนี้จะหนักถึงขั้นขาดแคลนนํ้าใช้นํ้ากิน
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล แถลงว่า ช่วงวิกฤติภัยแล้ง 6 เดือน จากนี้ไปมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนนํ้าอุปโภคบริโภครวมทั้งสิ้น 22 จังหวัด 58 อำเภอ
ส่งผลกระทบพี่น้องประชาชนในเขตการประปาส่วนภูมิภาคไม่ตํ่ากว่า 7 แสนครัวเรือน
...
แบ่งเป็น ภาคเหนือ 7 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง นครสวรรค์ พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาคอีสาน 10 จังหวัด ที่มีความเสี่ยงถึงขั้นตะบันน้ำกินคือ โคราช ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดร-ธานี หนองบัวลำภู เลย สกลนคร และ บุรีรัมย์
ภาคใต้ มี 4 จังหวัดที่หวาดเสียวจะขาดน้ำผลิตประปาคือ ภูเก็ต พังงา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี
ภาคตะวันออกมีจังหวัดเดียวคือ ชลบุรี
ส่วนภาคกลางและกรุงเทพฯ รัฐบาลรับประกันซ่อมฟรีจะมีน้ำประปาบริการลูกค้าไม่ขาดแคลน
เพราะถ้าปล่อยให้คนกรุงเทพฯ 6 ล้านคน ไม่มีน้ำใช้น้ำกิน รัฐบาลลุงตู่อยู่ลำบากแน่นอน
“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่าประเทศไทยวันนี้ไม่เหลือฉายา “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” อีกต่อไป
ประเทศไทยยุคใหม่มีแต่น้ำท่วมซ้ำซากสลับภัยแล้งซ้ำซากหัวปียันท้ายปี
ทางดับทุกข์มีทางเดียว รัฐบาลต้องเร่งลงทุนแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบครบวงจร
สำคัญที่สุดต้องเก็บสำรองน้ำเพื่อบริโภคอุปโภค เพื่อการเพาะปลูกและเพื่อรักษาระบบนิเวศให้ได้ถึง 40,000 ล้าน ลบ.เมตรต่อปี
หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของความจุเขื่อนทุกแห่งรวมกัน
พูดง่าย...แต่ทำยากนะโยม.
“แม่ลูกจันทร์”