รมว.เกษตรฯ สั่งด่วนกรมการข้าว ติดตามสถานการณ์โรคระบาด โรคไหม้คอรวงข้าว หลังพบการระบาดแล้วกว่า 3 แสนไร่ ในสุรินทร์-ศรีสะเกษ พร้อมสั่งการเร่งช่วยเหลือ ให้กำลังใจเกษตรกร
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจาก นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว ว่า พบการระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าว ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ และ จ.ศรีสะเกษ มีความเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมอบหมายให้กรมการข้าวหาแนวทางการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จากรายงานสถานการณ์การระบาดโรคไหม้คอรวงข้าวของสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. 2562 พบการระบาดในพื้นที่ 15 อำเภอของ จ.ศรีสะเกษ ได้แก่ กันทรารมย์ ขุขันธ์ ขุนหาญ โนนคูณ ปรางค์กู่ พยุห์ โพธิ์ศรีสุวรรณ ไพรบึง ภูสิงห์ เมืองจันทร์ เมืองศรีสะเกษ วังหิน ศรีรัตนะ ห้วยทับทัน และอุทุมพรพิสัย รวมจำนวน 89 ตำบล เกษตรกร 9,940 ครัวเรือน พื้นที่พบการระบาด 81,506 ไร่
สำหรับในพื้นที่ จ.สุรินทร์ พบการระบาดครั้งแรกในแปลงพยากรณ์ศัตรูพืช (ข้าว) เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2562 ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ ลำดวน สนม สำโรงทาบ ปราสาท โนนนารายณ์ และศรีณรงค์ ต่อมาพบการระบาดเพิ่มมากขึ้นเป็น 17 อำเภอ 140 ตำบล 1,331 หมู่บ้าน เกษตรกร 49,204 ราย รวมพื้นที่การระบาดทั้งสิ้น 283,454.75 ไร่
ทางด้าน อธิบดีกรมการข้าว เผยว่า ขณะนี้กรมการข้าวได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ บูรณาการความช่วยเหลือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เร่งออกสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดพร้อมประเมินความเสียหาย และให้ประชุมชี้แจงชาวนาในพื้นที่ที่พบการระบาดให้ทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรค ตลอดจนวิธีป้องกัน กำจัด และควบคุมโรค ตามหลักวิชาการ
...
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงานเกษตรอำเภอ ว่า พบการระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าว อาจจะส่งผลให้ข้าวที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยวได้รับความเสียหาย จึงสำรวจติดตามสถานการณ์ระบาดของศัตรูพืชดังกล่าว พร้อมประเมินความเสียหายที่พบ ระหว่างวันที่ 22-25 ต.ค. 2562 พร้อมประชุมชี้แจงให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรในพื้นที่ที่พบการระบาดทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรค ลักษณะการทำลายของโรค ตลอดจนแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดตามหลักวิชาการและได้สนับสนุนเชื้อราไตรโคเดอร์มาพร้อมใช้มอบให้ทุกอำเภอที่พบการระบาดไปแล้วกว่า 1,000 ถุง (ฉีดพ่นได้กว่า 1,250 ไร่) เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ฉีดพ่นบริเวณที่มีการระบาดและบริเวณใกล้เคียง ป้องกันไม่ให้การระบาดขยายเป็นวงกว้าง รวมถึงสาธิตและแนะนำวิธีการนำไปใช้ที่ถูกต้องเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันกำจัดโรคไหม้คอรวงข้าว อย่างไรก็ตาม ได้แจ้งให้สำนักงานเกษตรอำเภอ ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด และแนะนำวิธีป้องกันกำจัดให้เกษตรกรได้รับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดให้ทันท่วงที พร้อมให้รายงานให้จังหวัดทราบต่อไป.