รมว.แรงงาน ประชุมด่วน ให้กระทรวงพาณิชย์แถลงรายละเอียดพรุ่งนี้ ปมสหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ไทย ยอมรับ ไทยจัดการแรงงานไทยไม่เป็นสากล มอง ไม่เหมาะที่ต่างด้าวจะได้สิทธิ์มากกว่าคนไทย

วันที่ 27 ต.ค. 2562 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรียกประชุมด่วน ปลัดกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) กับไทย 571 รายการ โดยในที่ประชุมได้มีการชี้แจงเรื่องการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว เช่น ระบบการพิสูจน์อัตลักษณ์ การนำแรงงานเข้าสู่ระบบอย่างถูกกฎหมาย และกำลังปรับระบบเรื่องการตรวจสอบการเรียกรับผลประโยชน์ ยืนยันว่า ที่ผ่านมามีการติดตั้ง GPS ติดตามเรือประมง เพื่อคุ้มครองแรงงานต่างด้าว และหารือเกี่ยวกับการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้แรงงานต่างด้าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ในฉบับที่ 87 และ 98 ที่กำลังดำเนินการปรับปรุง

ภายหลังการประชุมเกือบ 1 ชั่วโมง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงถึงข้อสังเกตการณ์การประกาศ GSP ของสหรัฐ จะเกี่ยวข้องกับการแบน 3 สารเคมีของไทยหรือไม่ ว่า ส่วนตัวทราบเท่าที่สื่อมวลชนทราบ แต่ที่เห็นชัดคือ ไม่มีใครคิดว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นิสัยดี และเป็นนักธุรกิจมาก่อน เพิ่งเล่นการเมืองเป็นสมัยแรก แม้จะทำหน้าที่ประธานาธิบดีแล้วก็ยังทำตัวเป็นนักธุรกิจ ทำให้ถูกโจมตีมากเพราะวิธีการบริหารประเทศก็เหมือนนักธุรกิจ

ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (28 ต.ค. 2562) กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นผู้แถลงข่าว พร้อมยอมรับว่าในเรื่องนี้มีผลประโยชน์เกี่ยวพันหลายส่วนและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง โดยกระทรวงแรงงานก็พร้อมร่วมมือหากมีการร้องขอข้อมูล แต่ยอมรับว่าแรงงานไทยเป็นไปตามมาตรฐานไทยและยังไม่เป็นมาตรฐานสากล ตามที่สหรัฐฯ ต้องการ เนื่องจากส่วนตัวมองว่าไม่เหมาะสมที่ชาวต่างด้าวที่อยู่เมืองไทยจะได้สิทธิ์มากกว่าคนไทย เช่น การก่อตั้งสหภาพใหญ่ แทนสหภาพโรงงาน หรือสหภาพยูเนี่ยน เพราะหากเกิดการประท้วงอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพใหญ่ได้

...

ม.ร.ว.จัตุมงคล ยังยืนยันด้วยว่า ไทยก็พยายามดูแลแรงงานต่างด้าวให้ดี เนื่องจากใน 10-20 ปี อาจจะมีแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ซึ่งไม่มีประเทศใดสามารถจัดแรงงานทุกชนิดได้ตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในฉบับที่ 87 และ 98 ที่สำคัญต่อแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ อีกทั้ง ทางการไทยมีการต่อรองและเจราจากับสหรัฐอเมริกาตลอดเวลา แต่ยอมรับว่าไม่คิดว่าจะยอมรับอนุสัญญาดังกล่าวเพราะเป็นรูปแบบของต่างชาติ เนื่องจากไทยต้องการใช้รูปแบบของไทย

ส่วนจะต้องเดินทางไปชี้แจงกับสถานทูตสหรัฐฯ เองหรือไม่นั้น ม.ร.ว.จัตุมงคล ระบุว่า หากเป็นเรื่องปกติก็จะเดินทางไปเอง แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องไม่ปกติและรุนแรง จึงอยากพูดคุยและเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนั้นโดยตรง มากกว่าการเจรจาทางการทูต.

(ภาพจาก thaigov.go.th)