บอร์ดวัตถุอันตรายทุบโต๊ะชนิดไม่ลังเล ฝ่ายต้านฉะไม่ไว้หน้าขู่ฟ้องดะผู้เกี่ยวข้อง
บอร์ดวัตถุอันตราย 26 เสียง ทุบโต๊ะ แบน 3 สารพิษ “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” ยกเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผล 1 ธ.ค.นี้ ด้านเครือข่ายเกษตรกรต้านแบน 3 สารพิษจ่อยื่นศาลปกครองคุ้มครอง ขู่ฟ้องดะตั้งแต่บอร์ด เอ็นจีโอ ยันรัฐมนตรี รวมถึงให้รัฐจ่ายค่าชดเชยส่วนต่างทั้งค่าแรงงาน ค่าเครื่องจักรแทนการใช้สารพาราควอต หากทำไม่ได้ให้ “เฉลิม–ชัย-มนัญญา” มาถอนหญ้าแทน ขณะที่ “เสี่ยหนู” สุดภูมิใจ 3 อธิบดี สธ.ไม่แตกแถว ย้ำหลัง 1 ธ.ค. ใครครอบครองต้องจัดการ
หลังจากมีความพยายามจากหลายฝ่ายที่ต้องการให้ภาครัฐยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิดคือ พาราควอต ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากพบว่ามีอันตรายต่อสุขภาพประชาชนมาอย่างยาวนาน ในที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ก็มีมติแล้ว
มติบอร์ดเห็นพ้องแบน 3 สาร
โดยเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมคณะกรรมการฯวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 เรื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส อันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 ตั้งแต่ช่วงเช้าเป็นไปอย่างคึกคัก มีทั้งกองเชียร์ กองต้านเข้ามาติดตามสถานการณ์ กระทั่งช่วงบ่าย เริ่มมีข่าวเข้ามาหนาหูว่าคณะกรรมการเสียงส่วนใหญ่มีมติให้แบน 3 สาร ดังกล่าว และในเวลา 14.30 น. คณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงยืนยันมติที่ประชุม แบน “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” มีผลตั้งแต่ 1 ธ.ค.นี้
...
กก.มาประชุม 26 จาก 29 คน
จากนั้นนายภานุวัฒน์ ตรียางกูรศรี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงว่า มีผู้เข้าร่วมประชุม รวม 26 คน จาก 29คน ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้มีการปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตรจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออกและมีไว้ครอบครอง) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 โดยมอบให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ ว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้วเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อเสนอให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน พ.ย.นี้
ชี้เสียงส่วนใหญ่ให้ยกเลิกใช้
นายภานุวัฒน์แถลงอีกว่า การลงมติเป็นไปอย่างเปิดเผยเช่นเดียวกับทุกครั้ง ที่มีการลงมติและยืนยันไม่มีการเมืองใดๆมากดดัน โดยผลลงมติ มีดังนี้ พาราควอต ยกเลิกการใช้ภายในวันที่ 1 ธ.ค.2562 จำนวน 20 คน ยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 จำนวน 1 คน จำกัดการใช้จำนวน 5 คน สารไกลโฟเซต มีการยกเลิกใช้ 19 คน จำกัดการใช้จำนวน 7 คน สารคลอร์ไพริฟอส ยกเลิกการใช้จำนวน 22 คน จำกัดการใช้ 4 คน ขณะเดียวกันคณะกรรมการ ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตร ไปพิจารณาระยะเวลาและความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่ หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่ายเป็นต้น
ยันใช้ข้อมูลทุกฝ่ายมาพิจารณา
นายภานุวัฒน์กล่าวด้วยว่า สำหรับการลงมติดังกล่าว ที่ประชุมฯ ได้นำข้อมูลของกระทรวงเกษตร-และสหกรณ์มาพิจารณาทั้งการหาสารทางเลือก หากยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ รวมถึงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข และข้อมูลการตรวจสอบเฝ้าระวังสารตกค้างในสินค้าเกษตรในท้องตลาด นอกจากนี้ ยังนำข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ต้องการให้ยกเลิกการใช้และส่วนที่ไม่เห็นด้วยหากจะยกเลิกมาพิจารณา
“สุริยะ” สั่งตั้งคณะทำงานหาทางเยียวยา
ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางไปราชการที่ประเทศจีน ได้ห่วงใยต่อภาคเกษตรกร จึงโทรศัพท์มาสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากการยกเลิกแบน 3 สารโดยมอบให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นประธาน เพื่อหาทางเยียวยาภาคเกษตรกรต่อไป
เล็งยื่นฟ้องศาลปกครองกราวรูด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บอร์ดวัตถุอันตรายครั้งนี้มีผู้ไม่เข้าประชุม 3 คน ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 คน ซึ่งหลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติออกมาแล้ว สร้างความผิดหวังให้ฝ่ายคัดค้านที่มาติดตามผลการประชุมอยู่ด้านหน้าสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ตัวแทนภาคเกษตรกร เปิดเผยว่า รู้สึกผิดหวังกับมติดังกล่าว แต่ก็ทำใจมาแล้ว หลังจากนี้กลุ่มเกษตรกรจะเดินทางไปศาลปกครองในวันที่ 28 ต.ค.นี้ เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวต่อมติดังกล่าว รวมถึงการยื่นถอดถอนมติกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นต้นเหตุของการแบน 3 สารดังกล่าวเพราะมีการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จรวมถึงดำเนินการยื่นฟ้องเอาผิดตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด โดยจะแยกฟ้องทั้งรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง กลุ่มเอ็นจีโอ รวมถึงบอร์ดคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ
จี้รัฐจ่ายส่วนต่าง 1.2 ล้านล้านบาท
เช่นเดียวกับนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า หลังจากมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประกาศแบนสารเคมีกำจัดวัชพืช พาราควอตและไกลโฟเซต ซึ่งเป็นปัจจัยหลักการผลิตสำคัญที่ทำให้เกษตรอุตสาหกรรมของประเทศเจริญเติบโตได้ทุกวันนี้ ภาครัฐจะต้องเตรียมรับมือกับมูลค่าความเสียหายทั้งในแง่รายได้เกษตรกร 2.5 แสนล้านบาท และมูลค่าการส่งออก 5.7 แสนล้านบาท รวมแล้วภาครัฐจะต้องสูญเสียรายได้กว่า 8.2 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน ภาคเกษตรกรจำเป็นต้องใช้สิ่งทดแทนที่ไม่ใช้สารเคมี เนื่องจากกังวลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขอให้รัฐจ่ายเงินค่าชดเชยส่วนต่างค่าแรงงาน 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี พร้อมหาแรงงานคนมาช่วยถอนหญ้า หากหาไม่ได้ขอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ มาถอนหญ้าให้เกษตรกร 60 ล้านไร่ให้เสร็จภายใน 30 วัน รวมทั้งยกเลิกหนี้สินปัจจุบันของครอบครัวเกษตรกรทุกคนที่อยู่ในระบบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสร้างหนี้ใหม่กู้เงินมาซื้อเครื่องจักร และรัฐออกค่าใช้จ่ายส่วนต่างของเครื่องจักรทั้งหมดให้เกษตรกรเมื่อเทียบกับค่าสารเคมีพาราควอต
ขอรอฟังจากปากนายกฯอีกที
นายสุกรรณ์กล่าวอีกว่า การแบน 3 สารดังกล่าว ยังขาดความชัดเจนในหลายด้าน เป็นเพียงนโยบายกระดาษ ขาดความสามารถในการปฏิบัติจริง และขอประกาศให้วันที่ 22 ตุลาคม เป็นวันกลียุคเกษตรกรรมไทย เกษตรกรรมไทยล่มสลายด้วยระบบการบริหารเอื้อนายทุนสารเคมีกลุ่มใหม่ ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดระหว่างนักการเมืองและเอ็นจีโอ พร้อมกันนี้ ขอประกาศแบนพรรคการเมืองสมคบคิด และขอ “เผาผี” กลุ่มบุคคลดังกล่าวที่ตั้งใจทำร้ายเกษตรกร อ้างทำเพื่อสุขภาพประชาชน และเตรียมพาพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบไปเรียกร้องค่าชดเชยต่อไป
นอกจากนี้ มีรายงานว่า เครือข่ายภาคเกษตรกรที่คัดค้านการแบน 3 สารพิษ จะรอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการเยือนญี่ปุ่น เดินทางกลับมาเพื่อรอฟังนโยบาย เพราะนายกรัฐมนตรีระบุว่าจะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจาก 4 ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินการใดๆ
“เสี่ยหนู” ภูมิใจ 3 อธิบดีไม่แตกแถว
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลถึงมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่สั่งห้ามใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดว่า สิ่งที่ดีใจคือเราได้เห็นว่าประเทศไทยยังมีข้าราชการและนักวิชาการที่มีคุณธรรม มีสำนึกต่อความปลอดภัยของประชาชน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นภารกิจของรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชน และการแบน 3 สารเคมีไม่ได้อยู่ในนโยบายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย แต่เป็นภารกิจที่จำเป็นต้องทำ จึงมีความภาคภูมิใจที่อธิบดีทั้ง 3 กรม ของกระทรวงต่างพร้อมใจไปโหวตอย่างเปิดเผย และทำให้บรรลุเป้าหมายของกระทรวง ส่วนกรณีกลุ่มคัดค้านเตรียมยื่นร้องต่อศาลปกครองขอให้คุ้มครองชั่วคราวเพื่อชะลอมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน เรามีหน้าที่แบนจะแบนอย่างสุดหัวใจ คนที่ค้านก็ค้านสุดหัวใจ เราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่แล้ว พร้อมยืนยันว่ามติครั้งนี้ไม่ใช่ผลงานของพรรค แต่เป็นหน้าที่และเป็นผลงานร่วมกันของทุกคน ทั้ง รมว.อุตสาหกรรม รมว.เกษตรฯ ข้าราชการ และนักวิชาการทุกคน รวมถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่สนับสนุน ส่วนผู้เห็นต่างที่จะออกมาเคลื่อนไหวก็เป็นสิทธิ แต่ขอให้เคารพกฎหมาย สิทธิจะอนุมัติให้ใช้หรือไม่ เป็นของคณะกรรมการวัตถุอันตราย
หลัง 1 ธ.ค.คนมี 3 สารนี้ถือว่าผิด
นายอนุทินกล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการ ทำลาย 3 สารที่ตกค้างอยู่ภายในประเทศนั้น เมื่อเป็นสารต้องห้ามแล้วสามารถใช้ได้จนถึงวันที่ 1 ธ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ต้องเป็นไปทีละขั้น หากใครครอบครองสิ่งที่ผิดกฎหมายมีขั้นตอนจัดการ ซึ่งคาดว่าจะมีช่วงเวลาผ่อนผัน 1 เดือนกว่า ส่วนการเยียวยาหาสารทดแทนนั้นต้องดูว่ากระทรวงไหนมีหน้าที่อะไร ขณะเดียวกันกระทรวง สาธารณสุขจะต้องเตรียมยารักษาคนที่โดนสารพิษเหล่านี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติสั่งห้ามใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร นายอนุทินได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวขอบคุณคณะกรรมการวัตถุอันตรายเฉพาะผู้ที่ลงมติแบน 3 สาร เคมี พร้อมภาพตนเองและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขในท่าเต้นแบบเชียร์ลีดเดอร์อีกด้วย
ผอ.ไบโอไทยขอบคุณทุกฝ่าย
วันเดียวกัน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวถึงมติบอร์ดวัตถุอันตรายว่ารู้สึกพอใจมากสำหรับมติที่ออกมาว่าแบนสารเคมีอันตรายและเห็นได้ชัดว่ากรรมการวัตถุอันตรายที่มาจากกระทรวงต่างๆ มีการลงมติขาดลอย แม้แต่ในบางสาร เช่น ไกลโฟเซต ที่เป็นข้อโต้แย้ง จึงถือว่าเป็นการลงมติเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและเกษตรกรอย่างแท้จริง ต้องขอบคุณ 3 เรื่องคือ 1.ขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมกันเคลื่อนไหวกดดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปี 2.ขอบคุณรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆที่พร้อมเพรียงกันโหวต ต่อให้ไม่เปิดเผยก็ตาม แต่เชื่อว่าน่าจะมาจากหน่วยงานของรัฐและกระทรวงที่ได้สัญญากับประชาชนว่าจะแบน ก็ทำตามคำสัญญา และ 3.ขอบคุณพรรคการเมืองในสภา ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านที่ร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ เพราะทั้งสภาฯมีมติร่วมกันตั้งกรรมาธิการขึ้นมา จึงสะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองรู้ร้อนรู้หนาวกับความเดือดร้อนของประชาชนจนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
ภาระรัฐบาลต้องช่วยเกษตรกร
ผอ.มูลนิธิชีววิถีกล่าวอีกว่า ที่สุดต้องตระหนักว่าเกษตรกรคือผู้ที่จะต้องรับภาระในการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะเกษตรกรที่แสดงความจำนงว่าจะใช้สาร 3 ชนิดนี้ เราจึงอยากเรียกร้องว่าหากมีต้นทุนจากการปรับเปลี่ยนนี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนแบ่งเบาภาระจากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ สำหรับเรื่องสารทดแทน เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะต้องดำเนินการ แต่ความเห็นคือไม่น่ามุ่งเป้าไปที่การใช้สารทดแทน แต่ควรหาวิธีการทดแทน คือ 1.ใช้เครื่องมือกลและ เครื่องจักรกลทางการเกษตร 2.เรื่องการปลูกพืชคลุมดิน และ 3.การจัดระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน