ข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้วแต่ยังมีความผูกพันกับงานเก่าๆที่เคยทำมาในช่วงชีวิตการรับราชการมักจะมีความคิดและการกระทำที่น่าชื่นชมต่อวงการเสมอมา
คนประเภทนี้มีตัวอย่างให้เห็นมากมายพอสมควร และคนหนึ่งในวันนี้ที่อยากจะเอ่ยถึงคนนั้นก็คือ นายเสริมสุข โกวิทวานิช อดีตรองเลขาธิการ ก.พ. ที่จบปริญญาตรีและปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส ฝรั่งเศส
ท่านรองเสริมสุข เกษียณอายุในตำแหน่งรองเลขาธิการ ก.พ. มาตั้งแต่ปี 2535 เป็นเวลากว่า 20 ปี เกือบ 30 ปีมาแล้ว
สมัยรับราชการเป็นนิติกรเอก และผู้อำนวยการกองกฎหมายและระเบียบ ได้แก้ไขวางระบบการทำงานด้านกฎหมายของสำนักงาน ก.พ.ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
คงมีคนรู้ไม่กี่คนหรอกว่า รองเสริมสุข นี่แหละ ที่เป็นคนคิดคำว่า การปฏิรูประบบราชการ ให้ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เอาไปใช้จนเป็นที่ยอมรับของสังคม
มาถึงปัจจุบัน ด้วยวัย 87 ปี ท่านเขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งในชื่อยาวเหยียดที่ว่า
ราชการฝ่ายบริหาร ปัญหาพื้นฐานและแนวทางแก้ไข มุมมองหนึ่งของการอภิวัฒน์ระบบราชการพลเรือน
หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์เผยแพร่ทั่วไปโดยสำนักพิมพ์ในเครือมติชน เป็นหนังสือที่อ่านง่ายได้ความรู้ในเรื่องกฎหมายและสนุกสนานกับระบบราชการที่ผู้เขียนได้สัมผัสในระดับต่างๆ
ด้วยความที่เป็นคนที่ช่างค้นคว้าหาความรู้ เมื่อข้องใจสงสัยในสิ่งใดก็พยายามหาคำตอบจนได้และนำมาบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้หลายบทหลายตอน อย่างเช่นเรื่องของ ปลัดกรม และ ปลัดทูลฉลอง ในอดีต หรือเหตุใดจึงไม่มีการใช้ยศ พลจัตวา พลเรือจัตวา พลอากาศจัตวา และ พลตำรวจจัตวา ในปัจจุบันทั้งที่เคยมีใช้มาในอดีตการนับ วันเกษียณอายุราชการ ให้นับวันที่ 30 กันยายน หรือวันที่ 1 ตุลาคมของปีนั้นๆ ฯลฯ
ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทร์สมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เขียนคำนิยมสำหรับหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า “หนังสือของคุณเสริมสุขเล่มนี้เป็นหนังสือวิชาการประเภทหนึ่งที่แตกต่างกับหนังสือวิชาการทั่วๆไป ซึ่งน่าจะหาผู้ที่เขียนหนังสือในลักษณะนี้ได้ยาก หรือหาไม่ได้ในขณะนี้ หนังสือของคุณเสริมสุข ไม่ใช่ตำราเรียนสำหรับนักศึกษากฎหมาย และไม่ใช่หนังสือคู่มือสำหรับผู้ที่จะสอบเข้ารับราชการ แต่หนังสือของคุณเสริมสุขเป็นหนังสือที่ผู้ที่เป็นข้าราชการแล้วทุกคนควรจะต้องอ่าน”
...
นี่เป็นความจริงเชิงประจักษ์ที่รับรองได้ และวันพรุ่งนี้อาจจะมีตัวอย่างบางบทบางตอนที่น่าหยิบยกมาถ่ายทอดต่อ.
“ซี.12”