“อุเทน” แนะ “ก.พลังงาน” หันกลับมาหนุน “ไฟฟ้าพลังงานลม” จริงจัง เพื่อลดมลภาวะ การนำเข้าน้ำมัน เชียร์รัฐ รับซื้อให้เต็มโควตา 3 พันเมกะวัตต์ หากเป็นไปได้ ควรขยายเป้ารับซื้อด้วย

วันที่ 12 ต.ค. นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงแนวนโยบายการผลักดันพลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงานของรัฐบาล ว่า อยากฝากถึง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ให้กลับมาคำนึงถึงการสนับสนุนพลังงานไฟฟ้าจากลม ซึ่งถือเป็นพลังงานที่บริสุทธิ์ และมีประสิทธิภาพสูง แต่ต้นทุนต่ำ และเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งยังเป็นไปตามแนวทางการลดใช้พลังงานความร้อน และเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ ลดก๊าซเรือนกระจก และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม จะผลิตไฟฟ้าได้มากในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชนซึ่งเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนมากขึ้นเรื่อยๆ และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงกลางวันเท่านั้น ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมจะไปเติมเต็มระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคงมากขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าพลังงานฟอสซิลเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศด้วย

นายอุเทน กล่าวต่อว่า หากแต่ที่ผ่านมาภาครัฐขาดช่วงในการสนับสนุนพลังงานลมมาตั้งแต่ปี 2557 ที่ได้ประกาศหยุดรับซื้อไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่ยังมีนักลงทุนของไทยที่มีศักยภาพ และความเชี่ยวชาญได้ลงทุนศึกษาและสำรวจพื้นที่ต่างๆ ของประเทศจนได้พบพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลขณะนั้นได้เสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานลมตามประกาศระเบียบรับซื้อฯ แล้วกับหน่วยงานรับซื้อของรัฐบาล ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศหยุดรับซื้อเมื่อปลายปี 2557 โดยไม่แจ้งทราบล่วงหน้าใดๆ ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนที่เสนอขายไฟฟ้าตามระเบียบก่อนประกาศหยุดรับซื้อฯ ได้รับความเสียหายอย่างมาก เพราะการลงทุนในการสำรวจหาแหล่งลมที่มีความเหมาะสมต่อการผลิตไฟฟ้า จะต้องใช้เงินลงทุนสูง และใช้ความรู้ทางเทคโนโลยี ตลอดจนถึงเวลาในการตรวจวัดลมเพื่อค้นหาพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี

...

“เท่าที่ทราบนักลงทุนที่ได้ลงทุนและเสนอขายไฟฟ้าตามประกาศระเบียบรับซื้อฯ ที่ได้เสนอขายไฟฟ้าก่อนประกาศหยุดรับซื้อ ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานของรัฐใดๆ ทั้งที่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2558 ได้กำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมไว้ราว 3,000 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันมีการดำเนินการไปเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น จึงอยากเสนอแนะให้กระทรวงพลังงานแสดงความรับผิดชอบและความกล้าหาญ ดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และแก้ปัญหาเยียวยาผู้ลงทุนที่เสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานลม ก่อนประกาศหยุดรับซื้อฯ ตามแนวทางที่กระทรวงพลังงานเคยจัดการกับปัญหาการเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ตกค้างอยู่ก่อนประกาศหยุดรับซื้อไฟฟ้าในอดีตที่พิจารณาตอบรับซื้อผู้ที่เสนอขายไฟฟ้าก่อนประกาศหยุดรับซื้อ เพื่อใช้ทรัพยากรลมจากธรรมชาติของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความมั่งคงทางพลังงาน และประหยัดเงินตราต่างประเทศที่จะต้องนำเข้าพลังงานฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ตลอดจนถึงแสดงความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่สะสมตกค้างจากการลงทุนของนักลงทุนตามประกาศและนโยบายของรัฐด้วย” นายอุเทน ระบุ

นายอุเทน กล่าวด้วยว่า จากการศึกษาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 เม.ย.62 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) ที่ยังได้กำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมไว้กว่า 3,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโครงการที่ตอบรับซื้อไฟฟ้าเพียง 1,504 เมกะวัตต์เท่านั้น จึงเล็งเห็นว่าภาครัฐน่าจะหันกลับมาสนับสนุนและรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อใช้ทรัพยากรลมจากธรรมชาติของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างความมั่งคงทางพลังงาน และประหยัดเงินตราต่างประเทศที่จะต้องนำเข้าพลังงานฟอสซิลเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศ รวมไปถึงเป็นการเยียวยาเอกชนที่ได้เสนอขายไฟฟ้าตามระเบียบรับซื้อฯ ก่อนที่ทางรัฐบาลจะประกาศหยุดรับซื้อเมื่อปลายปี 2557 โดยไม่ได้แจ้งทราบล่วงหน้า เพื่อสนับสนุนแผน PDP2018 ที่มีการเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจนถึงปี 2580 ถึง 1 เท่าตัว หรือราว 20,000 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ทรัพยากรลมจากธรรมชาติของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างความมั่งคงทางพลังงาน และประหยัดเงินตราต่างประเทศที่จะต้องนำเข้าพลังงานฟอสซิลเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศ

“ตอนนี้เทคโนโลยีที่มีเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่ประเทศไทยมีจุดอ่อนเรื่องความแรงลมไม่สูงมากนัก แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีกังหันลมที่สามารถผลิตไฟฟ้าสำหรับความเร็วลมต่ำได้แล้วทำให้สามารถใช้ลมที่มีอยู่ในประเทศไทย ผลิตพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้พื้นที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการกระจายอยู่ในทุกภูมิภาค และยังมีการพัฒนาเสาวัดลมที่มีประสิทธิภาพในการสำรวจความเร็วลมและพื้นที่เหมาะสม หากรัฐมีความชัดเจนในการรับซื้อไฟฟ้าจากลมเพิ่มเติม ก็เชื่อว่าเอกชนก็พร้อมจะลงทุนติดตั้งเสาวัดลมเพื่อประเมินศักยภาพของพื้นที่ที่จะเข้าไปลงทุนกังหันลม เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เพราะหากเสี่ยงที่จะขาดทุนหรือธุรกิจไปไม่ได้คงไม่มีเอกชนที่ไหนกล้าที่จะลงทุน ดังนั้นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเอกชนจะเป็นผู้รับภาระเอง” นายอุเทน ระบุ.