มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกมาเป็นแผงในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็น ชิมช้อปใช้ อะไรก็ได้สำหรับร้านค้าที่ร่วมโครงการกับรัฐ เช่น ร้านทอง ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายปลีกขายส่ง จะวัดคุณภาพของ นโยบายรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์สุดท้ายจะกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้จริงหรือไม่

หรือจะวัดกันที่ชาวบ้านแห่ไปลงทะเบียนเอาของฟรี

วันนี้รัฐบาลมีสารพัดมาตรการทางด้านเศรษฐกิจ อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มารดาประชารัฐ ประกันรายได้เกษตรกร มาตรการระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่จะวัดผลกันที่ต้นน้ำ ส่วนผลที่จะตามมาทั้งด้านการเงินการคลังของประเทศ เศรษฐกิจระดับมหภาคหรือวินัยทางการเงินการคลัง ปล่อยเป็นเรื่องของอนาคต

เศรษฐกิจโลก วันนี้น่าเป็นห่วง สงครามการค้าโลก ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจของ ยุโรปและอังกฤษ ที่ท้ายที่สุดแล้วสหภาพยุโรปจะมีปัญหาหนักที่สุด การส่งออก การบริการและจะกระทบไปถึงการท่องเที่ยวแน่นอน

หลายประเทศต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

ส่วนบ้านเรายังตั้งหน้าตั้งตาใช้วิธีลดแลกแจกแถม ในขณะที่หนี้สาธารณะพุ่ง หนี้ครัวเรือนพุ่ง งบประมาณรายจ่ายของประเทศยังเป็นแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง

เข้าใจว่ารัฐบาลที่เข้ามาทำหน้าที่ในปีแรกๆ ต้องการจะเรียกศรัทธาจากชาวบ้านเอาไว้ก่อน รัฐบาลที่เข้ามาใหม่ๆ เกือบจะทุกรัฐบาล อันดับแรกเลยคือ แจกเงินชาวบ้านฟรีๆ

แลกกับความนิยมและความเชื่อมั่น

ยิ่งรัฐบาลชุดนี้ต้องสร้างคะแนนศรัทธาเป็นสองเท่า เลยต้องลดแลกแจกแถมเป็นพิเศษ ใกล้เลือกตั้งก็ต้องรีบแจกเป็นพิเศษ แต่ที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขเป็นคู่ขนานไปด้วยคือการหารายได้เข้ารัฐและวางนโยบายให้สอดคล้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทุ่มเงินลงไป

...

เป็นแบบสองขา

ไม่เช่นนั้น รัฐบาลก็จะเป็นเหยื่อ เข้าทางฝ่ายค้านทันที ปัญหาเศรษฐกิจไปพัวพันการเมือง เมื่อไหร่ยุ่งแน่นอน ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญกำลังท้าทายอำนาจรัฐ ถ้ารัฐธรรมนูญกินไม่ได้ ชาวบ้านสนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทันที

ไม่แปลกเลยที่โพลทุกสำนักรายงานตรงกันว่า คะแนนนิยมรัฐบาลลดลงอย่างต่อเนื่อง ความนิยม พล.อ.ประยุทธ์ ก็ลดลง แต่ฝ่ายค้านมีความนิยมมากขึ้น

ยกแรก เลือกตั้งซ่อมนครปฐม 23 ต.ค.นี้ ไม่เลือกเราเขามาแน่.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th