"จุรินทร์" รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ถกประชุมวีดิทัศน์ทางไกล กำชับ ผู้ว่าฯทุกจังหวัด ต้องพร้อมทำโครงการประกันรายได้เกษตรกร เผยจ่ายประกันราคาปาล์ม 1 ต.ค. ส่วนข้าว เริ่มจ่าย 15 ต.ค. 

วันที่ 30 ก.ย. ที่กระทรวงมหาดไทย นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย (มท.2) ร่วมเป็นประธานและรองประธาน ในการประชุมมอบนโยบายการประกันรายได้ช่วยชาวนา และชาวสวนปาล์มน้ำมัน ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด รวมถึงผู้แทนจาก 8 หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบประชุมวีดิทัศน์ทางไกล (วิดีโอ คอนเฟอเรนซ์) พร้อมการถ่ายทอดสดทางช่อง 9 อสมท และเฟซบุ๊กไลฟ์เพื่อแจ้งข่าวสารต่อพี่น้องเกษตรกร

โดยนายจุรินทร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การประชุมมีความจำเป็นในการซักซ้อมทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องในนโยบายสำคัญของรัฐบาล คือ การประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งการประกันรายได้สินค้าเกษตรเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 5 ประเภท คือ ข้าว ยาง มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ซึ่งรัฐบาลจะดูแลทุกผลผลิตการเกษตร แต่อาจจะใช้วิธีต่างกัน ขอให้เกษตรกรอื่นๆ อย่ากังวลว่าจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทั้งนี้ สินค้าเกษตร 2 ตัว ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแล้ว คือ ข้าว และปาล์มน้ำมัน ส่วนยางพารา จะมีการประชุมเพื่อออกมาตรการการประกันรายได้เร็วๆ นี้ โดยการดำเนินนโยบายประกันรายได้นี้ จะต้องมีการหารือ 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และตัวแทนเกษตรกร เพื่อให้ได้ข้อยุติเพื่อการดำเนินนโยบายที่ราบรื่น เป็นธรรม และบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้

...

ทั้งนี้ ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรของไทย อาจจะแนวโน้มเกินความต้องการในประเทศ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออก และรัฐบาลนี้ไม่อยากให้ลดการผลิตเพราะจะกระทบกับเกษตรกร จึงจะใช้นโยบายเพิ่มความต้องการภายในประเทศ แต่อาจต้องใช้เวลา ควบคู่กับนโยบายประกันรายได้ ที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้สองทาง คือ 1.รายได้จากการขายสินค้าเกษตร และ 2.ราคาชดเชยที่รัฐบาลจ่ายให้เรียกว่า ส่วนต่างซึ่งคำนวณจาก ราคาประกัน-ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง เท่ากับส่วนต่างที่รัฐชดเชยให้ โดยรัฐบาลจะโอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธ.ก.ส.) ให้เกษตรกรโดยตรง ซึ่งเกษตรกร ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนตามกติกา เพื่อป้องกันปัญหาอื่นตามมา

ฃรองนายกฯและรมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า สำหรับปาล์มน้ำมัน รัฐบาลจะประกันรายได้ที่ กิโลกรัม (กก.)ละ 4 บาท/ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ ทั้งนี้ การประกันรายได้นี้ ไม่ใช่การประกันราคาพืชผลการเกษตร เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะประกันราคาที่จะขึ้นลงตลอดเวลา และจะเป็นการแทรกแซงตลาดและขัดกับหลักการ WTO แต่รัฐบาลจะประกันรายได้ โดยการโอนส่วนต่างให้ตามที่กำหนดราคาแต่ละชนิด ส่วนสาเหตุที่รัฐบาลประกันรายได้ ชาวสวนปาล์มมากที่สุด ที่ 25 ไร่ต่อครัวเรือน เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ มีที่ดินไม่ถึง 25ไร่ ไม่เปิดทั้งหมด เนื่องจากนโยบายนี้ตั้งใจช่วยคนส่วนใหญ่ของประเทศ รัฐบาลจะจ่ายเงินงวดแรกในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญ จึงขอให้เกษตรกรสวนปาล์ม 260,000 ครอบครัว เตรียมไปตรวจสอบบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส.ของทุกคนในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ส่วนการประกันรายได้ของข้าวนั้น จะเริ่มจ่าย 15 ตุลาคม 2562 เกษตรกรปลูกข้าวที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ให้รีบไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรและตรวจสอบสิทธิที่สำนักงานเกษตรอำเภอ พร้อมเปิดบัญชี ธ.ก.ส. เพื่อใช้สิทธิรับเงินประกันรายได้งวดต่อไป ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน จำนวน 14 ไร่ /ครัวเรือน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน จำนวน 16 ไร่ ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาทต่อตัน จำนวน 30 ไร่ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน จำนวน 25 ไร่ ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 จำนวน 16 ไร่

“แต่รัฐบาลจะไม่ประกันรายได้การปลูกข้าว 18 สายพันธุ์ นอกเหนือจากนี้ เนื่องจากรัฐบาลจะไม่ส่งเสริมการปลูกข้าวสายพันธุ์อื่น โดยรัฐบาลจะโอนเงินให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวทั้ง 5 ชนิด ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ โดยจะรวมเกษตรกรที่ลงทะเบียนที่ประสบกับน้ำท่วมด้วย ถึงแม้จะขายพืชผลไม่ได้ ก็จะได้รับเงินชดเชยนี้เช่นกัน สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ สามารถไปขึ้นทะเบียนและสามารถได้รับเงินชดเชยนี้ได้ ทั้งนี้ ขอให้คำนึงว่า ตอนนี้การค้าระหว่างมีมาตรฐานสูง และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ตลาดโลกจะรับซื้อเฉพาะสินค้าเกษตรที่ปลูกในพื้นที่ ที่ไม่บุกรุกทำลายป่า โดยรัฐบาลจะพยายามส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเหลือ ส่วนปาล์มน้ำมัน รัฐบาลมีนโยบายเสริมในการช่วยเหลือเกษตรกร เพิ่มเติม คือ การขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตรับซื้อปาล์มเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยได้รับซื้อแล้ว 110,000 ตัน และส่งเสริมการส่งออกไปอินเดีย และลดการลักลอบการนำเข้าผิดกฎหมาย และการส่งเสริมใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมปาล์มน้ำมัน” นายจุรินทร์ กล่าว

หลังจากนั้นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ตอบข้อซักถามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศสงสัยเพื่อนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรต่อไป