"ธนาธร" ร่วมถก "จินตนาการใหม่" ชี้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ไม่เห็นหัวประชาชน ปลุกอย่างเพิ่งหมดหวัง หยุดระเบิดเวลา "รธน. 60" โดยสภาและประชาชน
วันที่ 22 ก.ย. ที่ห้องประชุมบุษราคัม โรงแรมแกรนด์ รอยัล พลาซ่า จ.ฉะเชิงเทรา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกิจกรรม "จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน" โดยกล่าวว่า อยากเริ่มต้นเวทีวันนี้ด้วยการกล่าวถึงโครงการพัฒนาอีอีซี ซึ่งไม่กี่วันก่อนมีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง มีนัยสำคัญมาก เชื่อมโยงว่า ทำไมรัฐธรรมนูญจึงมีความสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ในข่าวนั้นคุณกอบศักดิ์ ฟูตระกูล ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องอีอีซีด้วย พูดไว้ว่า รัฐบาลที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับโครงการขนาดใหญ่ เช่น อีอีซี มากเกินไป มากกว่าคุณภาพชีวิตประชาชน นี่คือวิธีคิดของรัฐบาลที่ผ่านมา นี่คือวิธีคิดว่า จะพัฒนาประเทศต้องเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ก่อน เมื่อเติบโตแล้วจะดึงเอสเอ็มอี ดึงคนเล็กคนน้อย ขึ้นมาได้ ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง ทั้งนี้ อีอีซี คือ การลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ สำหรับการพัฒนาประเทศ มีหลายโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก พบว่า ไม่มีตรงไหนที่พูดถึงชีวิตประชาชน ไม่มีตรงไหนพูดถึงคุณภาพชีวิตคนภาคตะวันออกเลย
...
นายธนาธร กล่าวอีกว่า ถ้าเราไปดูที่ อ.บ้านโพ จะเห็นการใช้อำนาจพิเศษเพื่อรวบที่ดินทำกินไว้ในมือรัฐ แล้วปล่อยให้นายทุนเช่า เพื่อทำโรงงานอุตสาหกรรม หรือ อ.บางน้ำเปรี้ยว ชาวบ้านอยู่มาเป็น 100 ปี แต่กลับมีความพยายามยึดเอาเป็นที่ราชพัสดุ หรือ ที่ อ.บางละมุง ซึ่งเป็นที่ขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องประชาชน ซึ่งทำประมงตรงนั้นจะตายหมดถ้าเกิดขึ้น ขณะที่อ่าวอุดม อ.ศรีราชา โครงการขนาดใหญ่อย่างถมทะเลกว่า 3 พันไร่ ถ้าเกิดขึ้นจริง ไม่ตอบสนองอะไรกับประชาชนในพื้นที่เลย และตอบคำถามไม่ได้ว่า บริเวณนั้นซึ่งเป็นสถานที่อนุบาลสัตว์น้ำที่สมบูรณ์มากที่หลงเหลือใน จ.ชลบุรี เพียงแห่งเดียว ทำไมจึงเกิดโครงการอย่างนี้ขึ้น เหล่านี้ คือการที่พัฒนาโดยมองไม่เห็นประชาชน ถ้าเกิดการพัฒนาตามนี้ ถามว่า เอาวิถีชีวิตประชาชน เอาความมั่นคงของประชาชน เอาคนที่ถูกรุกไล่ที่ไปอยู่ที่ไหน ตนไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่การพัฒนานั้น คนเป็นทั้งทรัพยากรและเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาด้วย
"ประชาชนเสียสละ สำหรับการพัฒนามาเยอะแล้ว รับกรรม รับมลพิษในนามของการเสียสละมาเยอะ เราสร้างสนามบินได้แต่ไม่อาจจัดการระบบจัดการขยะที่่มีคุณภาพ ไม่กล้าลงทุนจัดการน้ำท่วมอย่างเป็นระบบให้ประชาชน เราตัดมอเตอร์เวย์ได้ แต่ไม่อาจหาที่ดินทำกินให้ประชาชนได้ จะเห็นว่า ไม่มีประชาชนในอีอีซี ภายใต้ระบอบไหนที่กำเนิดอีอีซี สิ่งที่เกิดก็จะรับใช้ระบอบนั้น ทั้งนี้ อ.ปิยบุตร บอกว่า รูปแบบการปกครองเราจะย้อนกลับไปเป็นระบอบเผด็จการครึ่งใบ แต่ผมคิดว่า อ.ปิยบุตร ใจดีเกินไป ผมคิดว่า นี่คือระบอบเผด็จการที่มีการเลือกตั้ง ไม่มีประชาชนอยู่ในการพัฒนา เพราะฐานที่มาอำนาจของคนเป็นนายกฯไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาจากกลุ่มทุนใกล้ชิด คือ ส.ว. คือองค์กรอิสระ เพราะไม่มีประชาชนเป็นฐานอำนาจ พวกเขาจึงกล้าตั้งคนที่ถูกครหาว่า ค้ายาเสพติดมาเป็นรัฐมนตรีเพราะไม่ต้องเกรงใจประชาชน พวกเขาจึงกล้าบอกกับประชาชนที่เดือดร้อนลำบาก เพราะน้ำท่วมบ้านเรือนตัวเองให้ไปตกปลา ให้ไปทำประมง เพราะพวกเขาไม่เข้าใจประชาชน พวกเขาจึงออกแบบและดำเนินนโยบายอีอีซี เช่นนี้ เพราะพวกเขาไม่เห็นหัวประชาชน พวกเขาจึงเอางบฯกลางไปซื้อรถถังสไตรเกอร์ได้ แต่ไม่มีงบกลางช่วยน้ำท่วม เพราะพวกเขาไม่ได้มาจากประชาชน" นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร กล่าวว่า รัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 พาประเทศไทยเดินทางกลับไปสู่วงวนเดิมๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าอำนาจเป็นของประชาชน ตนมีความภูมิใจที่ได้เป็น ส.ส. แม้เขาไม่ให้ทำงานในสภาก็ตาม แต่ก็ภูมิใจ เพราะ ส.ส. เป็นอาชีพที่มาจากประชาชน ดังนั้น ถ้าอำนาจมาจากการประชาชน การจัดสรรทรัพยากรต่างๆก็ต้องทำเพื่อประชาชน นี่คือสิ่งที่ยืนยันความเชื่อมโยง แต่การจัดสรรทรัพยากรของรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่เคยถูกใช้เพื่อประชาชน ปัญหาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ตนคิดว่า เราหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ว่า กฎกติกาที่ได้รับการยอมรับในการอยู่ร่วมกันนั้น เป็นอย่างไรเราไม่มี รัฐธรรมนูญคือข้อตกลง ว่า พวกเราในประเทศนี้จะอยู่ด้วยกันอย่างไร คือ ข้อกำหนดที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เรามารวมกันตรงนี้เพราะเห็นร่วมกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นระเบิดเวลา ไม่ช้าก็เร็วจะนำมาซึ่งความขัดแย้ง อย่างไรก็ตามยังพอมีเวลาที่เปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านวิธีการทางรัฐสภา โดยพรรคการเมือง ประชาชนมาร่วมกัน แม้โอกาสนั้นจะมีอยู่น้อยนิด แต่นี่เป็นเหตุผลว่า พวกเราต้องรณรงค์ด้วยกัน เพราะถ้าช้ากว่านี้ ระเบิดเวลาจะระเบิดเราต้องรณรรงค์หาฉันทามติร่วมกันใหม่ โดยอย่างแรกต้องเริ่มด้วยความหวังว่าสังคมที่ดีกว่านี้เป็นไปได้ สังคมที่เป็นธรรมกว่านี้เป็นไปได้
"สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทุกฝ่ายพูดตรงกันว่ายาก แน่นอนเพราะกลุ่มคนที่มีอำนาจจะเรียกว่าชนชั้นนำ อภิสิทธิ์ชน กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ พวกเขาออกแบบรูปแบบรัฐ กองทัพ รถถัง ปืน ก็เป็นคนกุมไว้ องค์กรอิสระก็เป็นคนแต่งตั้ง เขามีกลไก มีเครื่องมือเยอะมากที่จะจัดการคนที่ท้าทายอำนาจ อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดว่ายากแล้วเราไม่เริ่มก็จะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้ากล้าก้าวแรกด้วยกัน จะเปิดประตูความเป็นไปได้ใหม่ๆ เราจะสร้างความหวังให้กับคนที่หมดหวังไปแล้ว ให้ความหวังว่าสังคมที่ดีกว่านี้ยังเป็นไปได้ อย่าเพิ่งละทิ้งความฝัน อย่าเพิ่งหมดความหวัง" นายธนาธร กล่าว และตอบคำถามกรณี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ระบุว่า รัฐธรรมนูญไม่สร้างประชาธิปไตยว่า "ประชาชนพร้อมเลือกประชาธิปไตยมาตั้งนานแล้ว มีแต่กลุ่มอภิสิทธิ์ชนเท่านั้นที่ไม่พร้อม"
ข่าวเกี่ยวข้อง