"มนัญญา" สั่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ หามาตรการช่วยสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม จากฤทธิ์ "โพดุล" เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมฟื้นฟูอาชีพให้ทันทีหลังน้ำลด เตรียมวงเงินจากกองทุน กพส. 315 ล้านบาท ให้สมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบ กู้ยืมปลอดดอกเบี้ย 1 ปี นำไปฟื้นฟูอาชีพ-ขยายเวลาชำระหนี้อย่างน้อย 1 ปี ให้สหกรณ์ในพื้นที่ประสบภัย
เมื่อวันที่ 4 ก.ย.62 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์พายุโซนร้อนโพดุล ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน ส่งผลทำให้พื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านได้รับความเสียหาย จึงได้สั่งการให้ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เตรียมมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยเฉพาะในส่วนของสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือจะเน้นดูแลเรื่องหนี้สิน และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ส่งผลทำให้ขาดรายได้ที่จะส่งชำระหนี้คืนสหกรณ์ ดังนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิกในพื้นที่ประสบภัยครั้งนี้
...
โดยวันนี้ (4 ก.ย.) น.ส.มนัญญา พร้อม นายพิเชษฐ์ และคณะได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และให้กำลังใจเกษตรกรและชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยในอำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พร้อมนำถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง และน้ำดื่มไปมอบให้เพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้น ณ ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัย อบต.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เบื้องต้นมีสหกรณ์การเกษตรโนนศิลา จำกัด สหกรณ์การเกษตรบ้านเเฮด จำกัด และสหกรณ์การเกษตรบ้านไผ่ จำกัด ที่ส่งข้อมูลขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมีสมาชิก 2,620 ราย ได้รับความเดือดร้อน พื้นที่ไร่นา และเลี้ยงสัตว์ของสมาชิกสหกรณ์ทั้ง 3 แห่งเสียหายประมาณ 11,895 ไร่
ด้าน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมฯ ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ โดยได้เตรียมเงินกู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) จำนวน 315 ล้านบาท เป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 1 ปี เพื่อให้สหกรณ์กู้ยืมและนำไปให้สมาชิกของแต่ละสหกรณ์กู้ปลอดดอกเบี้ยเช่นกัน เพื่อฟื้นฟูอาชีพหลังเกิดภัยพิบัติจากพายุโพดุล และยังได้ขยายเวลาชำระหนี้ให้สหกรณ์ ที่กู้เงิน กพส.ก่อนหน้านี้ออกไปอย่างน้อย 1 ปี กรณีที่สหกรณ์นั้น มีเหตุที่จะแสดงได้ว่าได้รับผลกระทบจากพายุ จนไม่สามารถชำระหนี้ได้
ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีหนังสือแจ้งเวียนไปทุกจังหวัดที่ประสบภัย เมื่อวันที่ 3 ก.ย.62 ถึงมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้กรมฯ ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งสำรวจความเสียของสหกรณ์ ที่รับผลกระทบจากพายุโพดุล ว่า มีสหกรณ์ใดบ้างที่รับได้รับผลกระทบ จำนวนสมาชิกที่ประสบภัย พื้นที่การเกษตรที่เสียหายและประเภทของพืชที่เสียหาย รวมถึงให้รายงานถึงความช่วยเหลือเบื้องต้น ที่สหกรณ์จังหวัดได้ดำเนินการแล้ว หรือกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งเบื้องต้นมีประมาณ 20 จังหวัด แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ อุดรธานี นครพนม ยโสธร มหาสารคาม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครราชสีมา ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก
"ก่อนจะนำมาตรการบรรเทาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ ที่ประสบภัยเข้าสู่ ครม.พิจารณา กรมฯ จะหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ว่า ควรจะเป็นจำนวนเงินเท่าไร จากนั้นจะเร่งเสนอ ครม.ให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยเหลือสมาชิก ซึ่งจากการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมสมาชิกที่ประสบภัยที่ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ถามความเห็นสมาชิกสหกรณ์พบว่า สิ่งที่ต้องการ คือ การพักชำระหนี้หรือขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 1-2 ปี" นายพิเชษฐ์ กล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากการช่วยเหลือจากภาครัฐแล้ว กรมได้ขอความร่วมมือจากสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้พิจารณาช่วยเหลือสมาชิกของแต่ละสหกรณ์ด้วย เพราะอาจมีปัญหาเรื่องรายได้โดยการลด หรืองดการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืม รวมทั้งขยายเวลาการชำระหนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่สมาชิก และให้ใช้เงินจากกองทุนสาธารณประโยชน์ นำไปช่วยเหลือสมาชิกผู้ประสบภัย เช่นการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือการเยียวยาด้านอื่น ซึ่งจากการลงพื้นที่ถามความเห็นจากสมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่พบว่า สิ่งที่ต้องการและขอให้ช่วยเหลือ คือ การพักชำระหนี้หรือขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 1-2 ปี