"สมศักดิ์" รับที่นอนผู้ต้องขังเป็นปัญหาใหญ่ แจงใหญ่กว่าโลงศพนิดเดียว เล็งฝึกอาชีพ-ผลักดันใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรม หวังลดความแออัด-ป้องหวนทำผิดซำ้อีก
เมื่อวันที่ 4 ก.ย.62 นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตั้งกระทู้ถามสดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต่อแนวทางการแก้ปัญหาความแออัดของเรือนจำทุกแห่งในประเทศไทย ที่พบว่ามีพื้นที่ครึ่งตารางเมตรต่อคน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเสรีภาพ คนเข้าในเรือนจำ ไม่ใช่การนำไปทรมานในคุก ทั้งที่ควรเป็นพื้นที่ให้โอกาสคนกลับมาสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ทั้งนี้เรือนจำส่วนใหญ่ที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 บางพื้นที่ไม่พบการขยายพื้นที่ 200 มี 4,000 คน บนพื้นที่ 9 ไร่ เรือนนอน ห้องอาหาร ห้องครัว ที่อาบน้ำ ซักรีด และพื้นที่เรียนฝึกฝนอาชีพ เรียกว่าแออัดมาก ทั้งที่ที่ดินของเรือนจำและพื้นที่สาธารณะมีอยู่จำนวนมาก โดยกรณีที่เกิดขึ้นตนมองว่า เพราะขาดแนวทางการช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น รมว.ยุติธรรม มีแนวทางจะแก้ไขความแออัดพื้นที่เรือนจำทั่วประเทศอย่างไร
ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวชี้แจงโดยยอมรับว่า เป็นเรื่องจริงที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะผู้ต้องขังทั่วประเทศ 3.6 แสนคน เรือนนอนที่รวบรวมทั้งหมด 134 แห่ง มีพื้นที่ประมาณ 2.7 แสนตารางเมตร แต่เมื่อพิจารณาตามมาตรฐานโลกที่ต้องใช้ 8.3 แสนตารางเมตร เมื่อเทียบตัวเลขแล้วถือว่าประเทศไทยขาดแคลนพื้นที่อย่างมาก แต่เมื่อเราใช้มาตรฐานการเกลี่ยย้ายชายและหญิง ชายจะใช้ 1.2 ตารางเมตร หญิง 1.1 ตารางเมตร เกลี่ยย้ายเป็นตัวเลข แต่เมื่อเกลี่ยย้ายยังขาดแคลนอยู่ ตนคำนวณแล้วมาตรฐานของไทยใหญ่กว่าโลงศพนิดเดียว ที่กว้าง 55 เซนติเมตร ยาว 185 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 ตารางเมตร หรือเฉลี่ย 0.66 ตารางเมตรต่อคน จำเป็นต้องสร้างเรือนจำเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขทั่วโลกประเทศไทยมีนักโทษมากสุดเป็นอันดับ 6 ของโลก หรือลำดับ 3 ของเอเชีย หรืออันดับ 1 ของอาเซียน จำนวนประชากรเมื่อเทียบสถิติ ประเทศไทยมีนักโทษหรือผู้ต้องขัง 0.54% ใกล้เคียงกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีนักโทษมากที่สุดในโลก ทั้งนี้นักโทษมีค่าเฉลี่ยที่ต้องดูแลเป็นงบประมาณมากปีละ 7,000 ล้านบาท
...
"ผู้ต้องขังที่ออกจากเรือนจำพ้นโทษแล้ว ปีแรกจะกลับเข้ามา เช่น ออก 100 คน กลับมา 15% ปีที่สองคนนี้จะกลับมาอีก 10% และปีที่สามกลับมา 10% รวมเป็น 25% ดังนั้นต้องดูแนวทางการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ว่า มีข้อบกพร่องอย่างไร ขณะที่เรือนจำหนองน้ำขุ่นที่มีพื้นที่เยอะ ผู้ต้องขังน้อย ได้ดูแนวทางพื้นที่ที่มีอยู่คิดว่า ทำเป็นเรือนจำตัวอย่าง ที่ไว้สำหรับผู้ต้องขังได้ฝึกฝนอาชีพ เพราะดูแล้วคนที่เป็นผู้ต้องขังออกมาแล้วกลับมาใหม่ สันนิษฐานได้ คือ ครอบครัว ผู้คนไม่ยอมรับ การศึกษา หรือการให้ความรู้ไม่ดีพอ ทำให้ต้องกลับไปทำผิด รวมถึงการมีอาชีพและงานทำ ดังนั้นเรือนจำเกษตรอุตสาหกรรม หนองน้ำขุ่น จ.นครสวรรค์ ที่ได้รับคำแนะนำ จะเป็นผู้ฝึกอบรมคนให้มีอาชีพ อยากเป็นเกษตรกร, ปศุสัตว์เลี้ยงสัตว์ในเรือนจำ จึงออกแบบเรือนจำหนองน้ำขุ่นเป็นพรีวิวดีไซน์ แต่ไม่สามารถใช้งบประมาณปี 63 ได้ แต่การออกแบบใช้ได้ปี 64 เฉพาะพื้นที่ด้านเหนือเพื่อเกษตร และด้านใต้เพื่อใช้ในส่วนของเลี้ยงสัตว์" นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวชี้แจงต่อว่า หากใช้ผู้ต้องโทษเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น อิฐมวลเบา อาจจะทำได้ และเป็นแรงงานที่มีคุณค่า ทั้งนี้การออกแบบดังกล่าวยังมีเวลา ซึ่งตนขอขอบคุณ นายวีระกร ที่ชี้แจงและเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นเป็นประโยชน์ในภาพรวมได้
จากนั้น นายวีระกร ถามคำถามต่อไปว่า แนวทางการพัฒนาศักยภาพของผู้ต้องโทษ เพื่อให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ต้องสร้างสวนสาธารณะ และมีห้องสมุด รวมถึงมีโรงเรียนฝึกวิชาชีพ เปิดโอกาสให้เรียนระดับปริญญาผ่านการเรียนทางไกล หรือทางไปรษณีย์ เพื่อลดอัตราการกลับสู่เรือนจำอีก คำถามคือ หากจะพัฒนาเรือนจำหนองน้ำขุ่น จำนวน 870 ไร่ ต้องพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ นอกจากการพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น เป็นโรงงานที่มีคุณภาพและใช้แรงงานผู้ต้องหา เช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า, ผลิตเครื่องหนัง, เฟอร์นิเจอร์ไม้ หากปรับปรุงพื้นที่เป็นพลาซ่าและให้นักโทษชั้นดีค้าขาย เชื่อว่าคนที่จบจากวิทยาลัยเรือนจำแล้วจะไม่กลับเข้าไปอีก เพราะรู้การประกอบอาชีพที่สุจริต ดังนั้นแนวางการสร้างการพัฒนานักโทษเพื่อให้เป็นสุจริตชนจะทำได้อย่างไรบ้าง
นายสมศักดิ์ กล่าวชี้แจงว่า แนวทางที่เสนอให้มีห้องสมุดหรือการศึกษาสำหรับนักโทษนั้น เรือนจำบางแห่งมีแล้ว แต่ยังไม่มาก หรือใหญ่พอสำหรับการบริการหรือแก้ปัญหา รวมถึงการตัดเย็บเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ ทำตามสภาพของวัตถุดิบที่มีอยู่ สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วแต่ไม่มากพอ หรือมีนักโทษที่มีทักษะเฉพาะ การออกแบบในแนวทางต่างๆ เช่น ร้านค้า ผลิตภัณฑ์เกษตรในเรือนจำหนองน้ำขุ่นนั้น มีแน่นอน ขณะที่การทำอิฐก่อสร้าง แรงงานผู้ต้องขัง 3.6 แสนคน หากทำในเรื่องความชำนาญฝีมือไปไม่ได้ทั้งหมด หากในระบบอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก สามารถทำได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นต่างๆ และตนพร้อมรับคำปรึกษาจาก นายวีระกร
คำถามสุดท้าย นายวีระกร ซักถามและมีข้อเสนอแนะว่า อาหารของนักโทษมีจำนวนมื้อละ 40-50 บาท หรือปีละ 2.1 หมื่นบาท ดังนั้นพื้นที่เรือนจำตัวอย่างที่ จ.นครสวรรค์ ให้นักโทษปลูกผัก เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ เพื่อเป็นอาหาร ทั้งนี้ควรมีแนวทางอย่างไร
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์มีแนวทางให้ผู้ต้องขังออกมาทำงานและมีค่าตอบแทน แต่มีข้ดจำกัดเรื่องเวลาทำงาน แต่หากทำในเรือนจำหนองน้ำขุ่นที่ออกแบบ นักโทษไม่เสียเวลาเคลื่อนย้าย สิ่งที่เป็นแนวทางตามที่ถามทำได้ แต่จำนวนน้อย แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะทำได้จำนวนมาก.