ฝ่ายค้านสวดยับใจแคบ แก้เกมลากถึงเที่ยงคืน ซินแสทำนาย 3 ป.อยู่ยาว

รัฐบาลมัดมือชกเปิดซักฟอกปมถวายสัตย์ฯ 18 ก.ย. ก่อนปิดสมัยประชุมวันเดียว “สนธิรัตน์” อ้าง “บิ๊กตู่” คิวแน่น ไม่งั้นยกยอดไปสมัยประชุมหน้า “ประยุทธ์” ขู่ฟ่อใครพูดอะไรรับผิดชอบกันเอง “ชวน” รับไม่มีทางเลี่ยง พูดวันเดียวก็เพียงพอแล้ว ฝ่ายค้านโวยรัฐบาลใจแคบ เย้ยกลัวจัดจนต้องบีบเหลือวันเดียว “ปิยบุตร” แก้เกมอาจลากยาวอภิปรายไปถึงเที่ยงคืน พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นส่งศาล รธน.ตีความ พ.ร.ก. สถาบันครอบครัว ฉะใช้อำนาจ ม.44 จนเคยชิน ทั้งที่ไม่เข้าข่ายความจำเป็นเร่งด่วน “ลุงตู่” บ่นอุบของบฯกันมาบาน จับเข่าคุย “มินอ่องไหล่” ชื่นมื่น ยังยักท่าปัดฝุ่น “นายกฯพบประชาชน” “ซินแสดัง” อวย 3 ป.อยู่ยาว 8 ปี

หลังปล่อยให้ยืดเยื้อมานาน ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ กำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายเป็นการทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ของพรรคฝ่ายค้าน เป็นวันที่ 18 ก.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ของสมัยประชุมรัฐสภาพอดิบพอดี

...

“บิ๊กตู่” ตีมึนประชุมลับหรือเปิดเผย

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 3 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวด้วย สีหน้าหงุดหงิดถึงกรณีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมเสนอรูปแบบรายการนายกฯพบประชาชนว่า “พูดกันไปเรื่อย” ผู้สื่อข่าวถามถึงการอภิปรายปมถวายสัตย์ปฏิญาณควรเป็นการประชุมลับหรือเปิดเผย พล.อ.ประยุทธ์พูดตัดบทว่า “ไม่รู้ๆ”

พร้อมแจงสภาตั้งแต่ 16 ก.ย.

ต่อมาเวลา 14.10 น. พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตนกำหนดแล้วว่าพร้อมไปชี้แจงญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.เป็นต้นไป ต้องขอเวลาให้ตนทำงานอื่น ด้วย โดยมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องประสานงานกับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ถึงวันที่ตนพร้อมจะกำหนดเป็นช่วงเวลาไหน อย่างไร สุดแล้วแต่สภาตัดสินใจ ส่วนจะประชุมลับหรือไม่ ไม่รู้เหมือนกัน บอกประชุมลับไม่เคยเห็นว่าจะเป็นความลับจริงสักที คนที่ไปอยู่ข้างในมักเอาออกมาพูดข้างนอก

ขู่ใครพูดอะไรรับผิดชอบด้วย

นายกฯกล่าวว่า การพูดเรื่องต่างๆต้องระมัด ระวัง ทุกคนต้องรับผิดชอบคำพูดตัวเอง เพราะวันนี้เรื่องอยู่ในกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ตนก็ต้องระวังคำพูดเช่นกัน จะไปชี้นำได้อย่างไร ขอให้เห็นใจตนตรงนี้บ้าง ให้เวลาแก้ปัญหาประชาชนบ้าง วันนี้เร่งทำงานหลายเรื่อง ทำทุกวันไม่ได้หยุด หลายเรื่องอยู่ในกระบวนการก็ว่ากันไป ขอให้เห็นใจบ้าง ทุกวันนี้ก็ทำงานไม่หยุดอยู่แล้ว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็ไปชี้แจง เมื่อถามว่า คิดว่าจะใช้เวลาชี้แจงฝ่ายค้านกี่วัน พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะใช้เวลาซักอะไรมากมายหรือไม่

ไม่อยากรบกวนเวลาชาวบ้าน

เมื่อถามถึงความชัดเจนการจัดรายการนายกฯพบประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ยังไม่มีนโยบายเรื่องนี้ แต่คงไม่ใช่ไปปิดทุกช่อง เพราะทำมาแล้ว 5 ปี แต่วันนี้เลือกตั้งมาแล้วคงไม่ไปรบกวน แต่อาจมีสัมภาษณ์เป็นครั้งคราว แล้วแต่ใครจะนำไปออก หรือไปพบปะเกษตรกร นักศึกษา หรือออกที่โทรทัศน์บางช่องมาขอสัมภาษณ์ อาจใช้โซเชียลมีเดียบ้าง คงไม่ไปปิดรายการเป็นชั่วโมงๆอย่างที่ว่ากัน เลิกว่ากันเสียที เขากำลังปรับแก้ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้เรียนรู้ รับรู้ เมื่อถามว่า จะมีไลฟ์สดผ่านโซเชียลมีเดียหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ก็ดูอยู่ว่าหน้าจะทันสมัยพอไลฟ์สดหรือเปล่า เมื่อถามว่า แสดงว่าหากสถานี หรือสื่อสำนักใดขอสัมภาษณ์พิเศษ นายกฯพร้อม พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า อย่าพูดแบบนั้น เดี๋ยวสื่อมาเชิญกันทุกวัน คงไม่ต้องทำงานกัน เมื่อถึงเวลาตนจะกำหนดเอง

“บิ๊กป้อม” ชี้ไม่ต้องจัดตัวช่วย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เชื่อว่านายกฯจะผ่านไปได้ การชี้เเจงถือเป็นหน้าที่ของนายกฯ ไม่จำเป็นต้องช่วยชี้แจง หรือเป็นองครักษ์พิทักษ์ ส่วนกำหนดวันอภิปรายอยู่ระหว่างวันที่ 16-18 ก.ย. ให้นายชวน หลีกภัย ประธาน สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้กำหนดมา ขณะนี้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทำหนังสือแจ้งไปยังสภาฯแล้ว ยืนยันว่านายกฯจะไปตอบชี้แจงเอง ใช้เวลาเพียง 1 วันก็น่าจะ เรียบร้อย เมื่อถามว่า ต้องประชุมลับหรือไม่ พล.อ. ประวิตรตอบว่า ขึ้นอยู่กับสภา แต่คิดว่าคงไม่จำเป็น สามารถประชุมโดยเปิดเผยได้ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนอยากรู้ และตนคงไม่มอบนโยบายอะไร

ครม.เคาะ 18 ก.ย.ถกปมถวายสัตย์

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้วันที่ 18 ก.ย. เป็นวันประชุมสภาอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ตามที่ฝ่ายค้านเสนอญัตติ โดย พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปชี้แจงในสภาด้วยตัวเอง สาเหตุที่ไม่กำหนดให้เป็นระหว่างวันที่ 11-12 ก.ย. ตามที่วิปรัฐบาลเสนอ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ติดภารกิจแต่จำไม่ได้ว่าเรื่องอะไร ส่วนวันที่ 16 ก.ย. จะเป็นการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้าย ส่วนวันที่ 17 ก.ย. มีการประชุม ครม. เมื่อถามว่าแสดงว่าให้เปิดอภิปรายได้วันเดียว ก่อนปิดสมัยประชุม นายสนธิรัตน์ตอบว่า เป็นวันที่ลงตัวพอดี ไม่อย่างนั้นก็ต้องเลื่อนไปสมัยหน้า

ประชุม พปชร.รับมืออภิปราย

นายสนธิรัตน์กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่จะอภิปรายก็ว่ากันไปตามระเบียบข้อบังคับ เมื่อถามว่าจะตั้งทีมองครักษ์นายกฯหรือไม่ นายสนธิรัตน์ตอบว่า เป็นเรื่องปกติที่เราต้องเตรียมรายละเอียดข้อมูล ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในสภา และเป็นระบบ ปกติที่จะใช้สิทธิที่พึงกระทำได้ การประชุมพรรควันนี้ จะมีการหยิบยกเรื่องการประชุมลับมาพูดคุยกัน เพื่อหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาล และที่ประชุมพรรคจะหารือการตั้งคณะกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ต้องสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถมาทำหน้าที่ ยืนยันไม่ใช่ การตอบแทนคนที่ผิดหวังตำแหน่งอื่น เพราะพรรคมีบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลาย

พร้อมแจงสิ้นทุกกระบวนความ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เวลาอภิปรายเพียง 1 วันจะเพียงพอหรือไม่นั้น มาถามรัฐบาลไม่ได้เพราะรัฐบาลเป็นผู้ตอบ อยู่ที่ว่า จะถามสั้นหรือยาว มีอยู่ 2 ประเด็น คือ การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน และการแถลงนโยบายที่ไม่มีการชี้แจงที่มาของงบประมาณ จึงต้องคำนึงเวลาให้เหมาะสม ทั้งนี้คนถามอาจจะมีมาก แต่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตอบทุกข้อ คำตอบไม่ยาวอาจยาวตรงคำถาม ขณะนี้รอรายงานจากวิปรัฐบาลว่าควรจะประชุมแบบเปิดเผยทั้งหมด หรือเปิดเป็นประชุมลับในบางช่วงที่มีประเด็นล่อแหลม รัฐบาลไม่ขัดข้องถ้าจะประชุมแบบเปิดเผยทั้งหมด แต่ต้องดูตามสถานการณ์ไป แต่ก็จะตอบให้สิ้นกระบวนความ เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะจบที่สภาหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ถ้าไม่จบที่สภาแล้วจะจบที่ไหน

เตือน ส.ส.รับผิดชอบคำพูดเอง

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านควรนำกลับไปคิดให้ดีว่าการอภิปรายจะเป็นการหมิ่นศาล หรือชี้นำศาลหรือไม่ ต้องระวังข้อกฎหมาย เรื่องนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ คงได้ชี้แจง ส่วนตัวเห็นว่าอะไรที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ไม่ควรไปชี้นำหรือแตะต้อง หากชี้นำในทางไม่ดีจะเป็นการละเมิดศาล เมื่อถามว่าการอภิปรายในสภาเป็นกระบวนการนิติบัญญัติ ร.อ.ธรรมนัสตอบว่า เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรไปโต้ตอบอะไร เพราะจะเข้าข่ายชี้นำศาล อะไรที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายกระบวนการยุติธรรมสมาชิกท่านใดพูดก็ต้องรับผิดชอบเอง ไม่ว่าจะพูดในทิศทางที่ดีหรือไม่ดีก็ต้องรับผิดชอบตนเอง

“ชวน” ชี้ไม่มีทางเลี่ยงต้อง 18 ก.ย.

เมื่อเวลา 15.10 น. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงาน ครม.โทรศัพท์มาแจ้งกับตนว่า วันที่ 11-12 ก.ย. ที่วิปรัฐบาลเสนอเป็นวันให้อภิปรายทั่วไปนั้น นายกฯติดภารกิจไม่สามารถมาประชุมได้ สามารถมาตอบญัตติได้วันที่ 16 ก.ย. จึงได้เจรจากับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา แต่เนื่องจากวุฒิสภาจะใช้วันที่ 16-17 ก.ย. เป็นการประชุมนัดสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 19 ก.ย. ดังนั้นวันที่สะดวกแก่ทุกฝ่ายคือวันที่ 18 ก.ย. แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้บรรจุวาระดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม แต่ถ้าไม่มีทางเลี่ยงจริงๆก็ต้องเป็นวันที่ 18 ก.ย.

อภิปรายวันเดียวเพียงพอแล้ว

นายชวนกล่าวอีกว่า ที่มองว่าเท่ากับเป็นการบีบฝ่ายค้านให้มีเวลาอภิปรายเพียงวันเดียวนั้น หากเริ่มประชุมตั้งแต่ช่วงเช้าเชื่อว่าจะเพียงพอ เพราะมีเพียง 2 ประเด็นคือ การซักถาม และการเสนอแนะ ส่วนตัวเห็นด้วยกับวิปรัฐบาลที่เสนอวันอภิปรายทั่วไปเป็นวันที่ 11-12 ก.ย. แต่เมื่อรัฐบาลไม่ว่างก็ไม่อยากฝืน อยากให้ทุกฝ่ายพร้อม เข้าใจว่ารัฐบาลมีภารกิจรับแขกต่างประเทศ และแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ภารกิจของสภาทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการอภิปรายในวันที่ 18 ก.ย.จะไม่มีปัญหา แม้จะเป็นวันสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุม และเห็นว่าเรื่องนี้ควรจบในสมัยประชุมนี้ เมื่อถามว่าการอภิปรายต้องเป็นการประชุมลับหรือไม่ นายชวนตอบว่า ไม่ต้องกังวลเพราะมีข้อบังคับการประชุม และรัฐธรรมนูญให้สิทธิไว้ แต่โดยหลักต้องเป็นการประชุมโดยเปิดเผย และวันที่ 13 ก.ย. จะเปิดประชุมสภาฯนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติที่ค้างอยู่จำนวนมาก ก่อนปิดสมัยประชุม

วิปฝ่ายค้านจวกรัฐบาลใจแคบ

นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับทราบกรณี ครม.เห็นชอบวันอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เป็นวันที่ 18 ก.ย. ว่า หากกำหนดเป็นวันที่ 18 ก.ย.จริง ก็ไม่ขัดข้อง แต่แสดงให้เห็นเจตนาว่ารัฐบาลค่อนข้างใจแคบ ค่อนข้างกลัว จึงบีบให้ฝ่ายค้านอภิปรายเพียงวันเดียว ตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เคยพูดไว้ว่า หากเวลาไม่เพียงพอสามารถขอเพิ่มเติมได้นั้น คงไม่เป็นเช่นนั้นแล้วถือว่าน่าเสียดาย แต่ยังดีกว่าปล่อยให้เรื่องนี้ยืดเยื้อโดยที่ไม่มีการอภิปราย ฝ่ายค้านคงได้แต่จำใจรับ แต่อยากให้รัฐบาลทบทวน หากประธานสภาฯใช้อำนาจชี้ขาดได้อยากให้ทบทวนเรื่องกรอบเวลา นอกจากนี้คงต้องจัดทีมอภิปรายปรับกันใหม่ อาจต้องลดเนื้อหาและจำนวนผู้อภิปรายลงให้สัมพันธ์กับเวลา เนื้อหาสาระต้องหายไปบ้าง เพราะฝ่ายค้าน ตั้งใจอภิปราย 2 วัน หรืออย่างน้อยก็ 1 วันครึ่ง และไม่ควรเป็นการประชุมลับ เพราะกระแสสังคมวันนี้อยากให้มีการเปิดเผย

อาจลากยาวไปจนถึงเที่ยงคืน

ที่พรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า หากรัฐบาลเคาะมาแล้วว่าเป็นวันที่ 18 ก.ย. เราพร้อมอยู่แล้วอาจต้องอภิปรายกันจนถึงเวลา 24.00 น. เมื่อถามว่าคิดว่าเป็นการปิดทางการอภิปรายของฝ่ายค้านหรือไม่ นายปิยบุตรตอบว่า อาจเป็นความตั้งใจของรัฐบาล ความจริงรัฐบาลควรให้เกียรติสภาผู้แทน ราษฎร อย่าคิดมาชิงไหวชิงพริบกัน ยิ่งเปิดให้อภิปรายประชุมในสภาฯได้มากเท่าใด จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาล เพราะในวันนั้นตนได้เตรียมวิธีแก้ไขให้รัฐบาลด้วย อยากให้มองว่าเป็นปรารถนาดีจากฝ่ายค้านมากกว่า ทั้งนี้ สังคมและพรรคฝ่ายค้านมีสิทธิคิดว่ารัฐบาลจงใจจะปิดทาง สำหรับการวางลำดับผู้อภิปรายของฝ่ายค้าน โดยหลักแล้วคนที่เข้าชื่อเสนอญัตติต้องเป็นผู้อภิปรายในลำดับต้นๆ ส่วนประเด็นปัญหาเรื่องความมั่นคง และการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ยืนยันว่าไม่มีประเด็นเหล่านี้ มีเพียงประเด็นของ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น

ส่งตีความ พ.ร.ก.สถาบันครอบครัว

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 15.30 น. นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน พร้อมนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ยื่นเรื่องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่ง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า การที่รัฐบาลอ้างว่าหน่วยงานรัฐ และบุคลากรยังไม่มีความพร้อมในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว จึงจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ไปก่อนนั้น เป็นความบกพร่องของรัฐบาลเอง อยากให้สภาผู้แทนราษฎรชะลอการพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าวในวันที่ 4 ก.ย. ออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ถูกต้อง รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบ

เคยชินใช้อำนาจตามอำเภอใจ

นายรังสิมันต์กล่าวว่า หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญเรื่องการออก พ.ร.ก.มี 4 ข้อ คือ 1.เพื่อความปลอดภัยประเทศ 2.เพื่อความปลอดภัยสาธารณชน 3.เพื่อความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ 4.เพื่อปกป้องภัยพิบัติสาธารณะ ดังนั้น พ.ร.ก.นี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ การออก พ.ร.ก.ครั้งนี้คล้ายกับการใช้มาตรา 44 ในอดีต พรรคฝ่ายค้านไม่ต้องการเห็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจเกิดขึ้นอีก อย่าเอาความเคยชินแบบเดิมๆมาใช้

บี้ รบ.ลาออกถ้ากฎหมายถูกตีตก

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านเห็นว่ากรณีที่ดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์การออก พ.ร.ก. ที่ต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน เราต้องทำเป็นบรรทัดฐาน จัดระเบียบนิติรัฐนิติธรรมกันใหม่ เมื่อยื่นให้กับประธานสภาแล้ว สภาต้องชะลอการพิจารณา พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากศาลชี้ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จะเข้าสู่การพิจารณาต่อไป แต่หากชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ถือว่า พ.ร.ก.ตกไป ตามวัฒนธรรมการเมืองถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล รัฐบาลต้องลาออก ไม่ใช่ยุบสภา

รัฐบาลแจงเหตุจำเป็นเร่งด่วน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ครม.เห็นชอบให้สภาผู้แทนราษฎรเลื่อนการพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวให้อยู่ในวาระเร่งด่วน เพราะมีความจำเป็นต้องขอเลื่อนการใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปก่อน เนื่องจากกฎหมายนี้มีหัวใจสำคัญคือกำหนดให้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ให้อำนาจหน้าที่และบทบาทแก่สำนักงานพัฒนาสังคมจังหวัดมากขึ้น จึงต้องใช้เวลาในการเพิ่มกำลังคน อบรมพัฒนาเพื่อให้มีความพร้อม หากให้กฎหมายใช้โดยเจ้าหน้าที่ไม่มีความพร้อมใช้อำนาจในทางที่ผิด เจ้าหน้าที่อาจโดนฟ้องมาตรา 157 ได้ จึงเห็นว่าการชะลอการประกาศใช้ พ.ร.บ.จำเป็นอย่างยิ่ง

“ลุงตู่” บ่นอุบของบฯกันมาบาน

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาเพิ่มค่ารักษาพยาบาลครูอีกคนละ 5 หมื่นบาท รวมเป็น 150,000 บาทต่อคนต่อปีว่า ต้องพิจารณากันต่อไปเพราะใช้งบฯจำนวนมาก นโยบายรัฐบาล นโยบายพรรคการเมืองต่างๆจำเป็นต้องดูงบฯด้วยว่า มีมากน้อยแค่ไหน แหล่งที่มาของกรอบวงเงินที่มีอยู่ต้องค่อยๆปรับไป ตนไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำ หรือทำตามทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ เท่าที่ทราบเบื้องต้นมีการเสนอแผนงานโครงการของทุกกระทรวงมาเป็นเงิน 5.1 ล้านล้านบาท มากเกินวงเงินงบฯที่มีอยู่ 3.2 ล้านล้านบาท ต้องไปปรับกันให้อยู่ในวงเงินที่กำหนด

มท.1 แย้มไทม์ไลน์ ลต.ท้องถิ่น

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า ทุกอย่างประเมินไว้ไม่ปลายปีนี้ก็ต้นปีหน้า ต้องให้ ครม.พิจารณาว่าจะเป็นช่วงใด เมื่อถามถึงข้อเสนอที่จะจัดตั้งกระทรวงท้องถิ่น พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า พิจารณาได้ คนดีมีหลักการ มีเหตุผลก็มาพูดคุยว่าจะตั้งอย่างไร ถ้าในมุมมองส่วนตัว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นนิติบุคคลมีกฎหมายกำกับทำงานร่วมกันกับผู้บริหารท้องถิ่น ไม่มีใครไปสั่งท้องถิ่นได้ ท้องถิ่นมีอิสระ ถ้านำเหตุผลสองอย่างนี้มารวมกันยิ่งไม่มีเหตุผลว่าจะต้องมาตั้งอะไรไปคุม แต่เมื่อเน้นกระจายอำนาจก็ต้องกระจายอำนาจให้มีอิสระ มีกฎหมาย เรื่องนี้มีหลายปัจจัยต้องพิจารณา ตนก็ไม่ขัดข้องที่จะพิจารณากัน

นายกฯคุย “มินอ่องไหล่” ชื่นมื่น

ช่วงเช้าที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อาวุโส มินอ่อง ไหล่ ผบ.ทหารสูงสุด สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ในโอกาสเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการระดับสูงไทย-เมียนมา (HLC) ครั้งที่ 7 พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า นายกฯได้แสดงความเสียใจกับการสูญเสียและความเสียหายของเมียนมาจากอุทกภัยและดินถล่มในรัฐมอญ และย้ำถึงการร่วมกันแก้ปัญหาชายแดนลดความเข้าใจผิดระหว่างกัน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกองทัพทุกมิติ ขณะที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องไหล่ ได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการอสัญกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ทั้งขอขอบคุณที่เข้าใจความรู้สึกและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเมียนมา ยืนยันความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี พร้อมทำงานร่วมกับกองทัพไทยอย่างใกล้ชิดทุกด้าน

จับมือ “บิ๊กกบ” ถกปัญหาชายแดน

ต่อมาที่โรงแรมเพนนินซูล่า พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุดกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ร่วมกันเป็นประธานเปิดการประชุม HLC ครั้งที่ 7 เพื่อรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ครั้งที่ 33 ก่อนจะไปเยี่ยมชมวิทยาการการประกอบรถยนต์ ที่บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ศึกษาดูงานด้านการเกษตรและปศุสัตว์ของโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริฯ และกองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี และทัศนศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญใน จ.กาญจนบุรี จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์

“ซินแสภาณุวัฒน์” อวย 3 ป.อยู่ยาว

อีกเรื่อง นายภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล หรือ “ซินแสภาณุวัฒน์” ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมบุตรชาย นายคมสัน พันธุ์วิชาติกุล รองโฆษกประจำคุณหญิงกัลยา โสภณ– พนิช รมช.ศึกษาธิการ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาลก่อนเข้าทำงาน กล่าวถึงดวงชะตา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม และรัฐบาลว่า ไม่มีอะไรน่าห่วง แม้จะมีปัญหาจุกจิกทำให้วุ่นวาย มั่นใจจะนำนาวารัฐมนตรีผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ชี้แจงถวายสัตย์ปฏิญาณได้ไม่มีปัญหา รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำดูแล้ว ส.ส.คงไม่อยากเลือกตั้งใหม่ โหงวเฮ้งนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย โหวงเฮ้งดีเป็น 3 เสาหลักดูแลบ้านเมืองอยู่ และต้องดูแลสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

“ตู่–ป้อม” ยิ้มกริ่มให้อยู่อีกตั้งนาน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เหรอ พร้อมกับอมยิ้มแล้วเอามือแตะที่หน้าอกข้างซ้ายพร้อมพูดว่า “ไม่สงสารฉันบ้างเหรอ จะให้ฉันอยู่อีกตั้งนาน”

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่เคยบอกไว้แค่ 4 ปี แต่หมอดูบอกว่าอยู่ถึง 8 ปี ก็ไม่ทราบต้องไปถามหมอดูเอง ส่วนตัวแล้วหากอยู่ถึง 8 ปีคงไม่ไหว เพราะแก่มากแล้ว

ปชช.อาเซียนส่ายหัว รบ.ใจแคบ

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ไทย นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ประธานร่วมในคณะกรรมการจัดงานมหกรรมภาคประชาชนอาเซียน 2019 แถลงว่า ผิดหวังต่อรัฐบาลไทย โดยฝ่ายความมั่นคงพยายามควบคุมแทรกแซงการประชุม ด้วยการยื่นเงื่อนไขต้องไม่ให้มีกิจกรรมเดินขบวนแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งจะขอตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด แต่เมื่อคณะกรรมการจัดงานปฏิเสธให้ความร่วมมือ รัฐบาลไทยก็ระงับงบฯสนับสนุนการจัดงานทันที แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแต่จะเดินหน้าจัดงานด้วยงบฯที่จัดหามาเอง โดยจะจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุม ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต วันที่ 10-12 ก.ย.อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจัดงานจะเข้าพบ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึง รมว.ต่างประเทศ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้แน่ใจว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ กฎบัตรอาเซียน และความตกลงระหว่างประเทศ ปราศจากการปิดกั้นขัดขวางแทรกแซงจากรัฐบาลไทย หรือรัฐบาลสมาชิกอาเซียน

ตั้ง “บิ๊กช้าง” คุมทีมดับไฟใต้

วันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมอนุมัติ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช. กลาโหม เป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษรัฐบาล พล.อ.จำลอง คุณสงค์ เป็นรองหัวหน้าผู้แทนพิเศษรัฐบาล พล.อ.ปราการ ชลยุทธ พล.อ.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม และนายจำนัล เหมือนดำ เป็นผู้แทนพิเศษรัฐบาล เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน ครม.และราชการส่วนกลางกับหน่วยงานในพื้นที่แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดการบูรณาการและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติให้นายแสนศักดิ์ ศิริพานิช อดีตหัวหน้ายุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐภาคใต้ และนางรัชนี พลซื่อ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชารัฐ เป็นข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

อนุมัติ ตร.ประทวน 9 พันอัตรา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม.ยังมีมติอนุมัติการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับสำนักงาน ก.พ.ตามจำนวนที่ต้องใช้จริงไม่เกิน 80 อัตรา ตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามกลไกการปฏิบัติงานในโครงการเชิงยุทธศาสตร์ โครงการสำคัญระดับประเทศ พร้อมกันนี้ ยังอนุมัติการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 46 อัตรา และจัดสรรอัตราข้าราชการตำรวจตั้งใหม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชั้นประทวน 9,000 อัตรา คาดว่าใช้งบประมาณ 1,700.36 ล้านบาทต่อปี (เป็นกรอบอัตรากำลังที่ คปร.เคยยุบเลิกไป 14,000 อัตรา และ คสช.เคยมีมติวันที่ 2 ก.ค.2557 อนุมัติอัตราข้าราชการตำรวจชั้นประทวนไปแล้ว 5,000 อัตรา ทั้งนี้ การจัดสรรงบฯค่าใช้จ่ายสำหรับอัตราข้าราชการตั้งใหม่ของทั้ง 2 ส่วนราชการดังกล่าวให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงบประมาณกำหนด)