นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งระดมทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ่ายชดเชยสัตว์ตายตามจริง พร้อมให้กำลังใจผู้ประสบภัยจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

วันที่ 3 ก.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้หลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุ ที่ทำให้ฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรในหลายพื้นที่

เบื้องต้นอธิบดีกรมชลประทาน รายงานว่า ทยอยเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 2 กันยายน จากเดิมระบายอยู่ที่ 424 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เป็น 480 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมรับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น จากเดิม 140 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 170 ลบ.ม.ต่อวินาที และฝั่งขวาจากเดิมรับน้ำจากเดิม 230 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 260 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ซึ่งได้กำชับว่า การเพิ่มปริมาตรการระบายต้องไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดอ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา จะต้องมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 700 ลบ.ม.ต่อวินาทีขึ้นไป ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก

...

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้ตนได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมเข้าสำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตรทันทีหลังน้ำลด โดยนายสำราญ สารบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร รายงานว่า มอบหมายให้เกษตรจังหวัดทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากพายุโพดุล โดยเฉพาะพื้นที่ได้รับผลกระทบ 44 จังหวัด เหนือ กลาง อีสาน ใต้ ขณะนี้เกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัด ได้ออกเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อผลผลิตทางการเกษตร ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการดูแลข้าว พืชไร่ ไม้ผล เพราะช่วงนี้บางพื้นที่เป็นช่วงที่บางพืชเก็บเกี่ยวจึงต้องเตรียมช่วยเหลือเกษตรกร และกำชับทั้งให้ทุกจังหวัดรายงานผลสำรวจให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบทุกวัน

ส่วนทางด้านปศุสัตว์นั้น นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ รายงานว่า ได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย เบื้องต้นด้วยการจัดหาพืชอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ ช่วยอพยพสัตว์ออกจากพื้นที่น้ำท่วม และฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ ส่วนการช่วยเหลือช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังสำหรับพื้นที่เสียหายเป็นเงินหรือปัจจัยการผลิตสำหรับทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ให้เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กิโลกรัม หรือท่อนพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กิโลกรัม ไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือจ่ายเป็นค่าพันธุ์พืชอาหารสัตว์ครอบครัวละไม่เกินเดือนละ 1,700 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน

สำหรับการช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย จะชดเชยตามที่เสียหายจริง ซึ่งกำหนดอัตราส่วนตามอายุสัตว์ โดยโคอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ได้ตัวละไม่เกิน 20,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว กระบืออายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ได้ตัวละไม่เกิน 22,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว สุกรอายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป ได้ตัวละไม่เกิน 3,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ตัว ไก่ไข่อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 80 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว ไก่เนื้ออายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว เป็ดไข่และเป็ดเนื้อ อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว เป็นต้น

นายเฉลิมชัย ยังกล่าวอีกว่า ตนได้ให้กรมพัฒนาที่ดินเร่งให้ความรู้เกษตรกรการปรับปรุงดินหลังน้ำลดคำแนะนำสำหรับพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้ความเสียหายจากน้ำท่วมนั้น ภายหลังน้ำลดลงและมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มที่เป็นนาข้าว เกษตรกรควรรีบทำการระบายน้ำออกโดยเร็วที่สุด ปล่อยให้ดินแห้งเพื่อไม่ให้ต้นข้าวเน่าตาย ให้ใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน เช่น น้ำหมักชีวภาพ พด.2 อัตรา 5 ลิตร/ไร่ ใส่ในนาข้าวเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโต ในกรณีน้ำท่วมขังแปลงนาต้นข้าวเน่าตาย หรือ บ้านเรือนชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตเมือง มีน้ำนิ่งท่วมขัง เน่าเหม็น ให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ทำสารบำบัดน้ำเน่าเสีย ขจัดกลิ่นเหม็นอีกด้วย

“ผมยืนยันจะทำทุกวิถีทางให้เราผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เพื่อให้พื้นที่ทางการเกษตรได้มีการพัฒนากลับฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ และเกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกพืชต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” นายเฉลิมชัย กล่าว.