นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) แล้ว เดินหน้าเร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างเร่งด่วน  

วันที่ 31 ส.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เฉพาะกิจ เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนเกษตรกรเป็นกรรมการใน กฟก. แล้ว หลังจากที่มีการเลือกตั้งใน 4 ภูมิภาค ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้นำรายชื่อเสนอ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอ ครม.ให้เห็นชอบและแต่งตั้งต่อไป ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อกฎหมายที่จะต้องเสนอแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จในห้วงเวลาเดียวกับการแต่งตั้งกรรมการผู้แทนเกษตรกรเพื่อให้มี คณะกรรมการ กฟก. ครบทั้ง 3 ส่วนคือ กรรมการโดยตำแหน่ง 10 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คน และผู้แทนเกษตรกร 20 คน เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการบริหารงาน กฟก. ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2552

ทั้งนี้ คณะกรรมการ กฟก. ผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วยผู้แทนจากภาคราชการ 5 คน และจากภาคเอกชน 6 คน ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบแต่งตั้งแล้วจะทำให้คณะกรรมการ กฟก.เฉพาะกิจ จะยุติการปฏิบัติงานตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 จากนั้นคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรชุดใหม่ได้แก่ คณะกรรมการ กฟก. คณะกรรมการบริหาร กฟก. และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรดำเนินการตามภารกิจปกติต่อไปได้

...

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนทันทีที่ดำรงตำแหน่ง รมว. เกษตรฯ เพราะเห็นว่า ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่ค้างคามาเนิ่นนาน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรแย่ลง ช่วงระหว่างที่เป็นสุญญากาศ ไม่มีคณะกรรมการ กฟก.นั้นมีเกษตรกรสมาชิก กฟก. หลายรายที่ถูกสถาบันการเงินเจ้าหนี้ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด เสียที่ดินทำกินไป ซึ่งตนได้มอบหมาย นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการ รมว.เกษตรฯ เจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ให้ยืดระยะเวลาบังคับคดีออกไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี จากนั้นจึงดำเนินการให้มีคณะกรรมการ กฟก. ชุดใหม่ ขึ้นมาเร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรโดยเร็วที่สุด ซึ่งตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ยังกำหนดว่า เมื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ การซื้อหนี้จากเจ้าหนี้เดิมมาบริหารจัดการ โดยให้สมาชิก กฟก. ผ่อนชำระกับ กฟก. ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าแล้ว ยังจำเป็นต้องให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูอาชีพ โดยกรรมการ กฟก. ต้องเข้าไปส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิก กฟก. เพื่อให้มีรายได้ผ่อนชำระหนี้สิน เลี้ยงตัวและครอบครัวได้ ซึ่งจะทำให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น