"เท่าพิภพ"จี้ ถาม รมว.คลัง ใบอนุญาต"ผลิตเหล้าและเบียร์"ทำไมมีข้อจำกัดมากนัก ทำลายความฝันผู้ประกอบการรายย่อย เอื้อประโยชน์นายทุนใช่หรือไม่?

วันที่ 21 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคอนาคตใหม่ ถามกระทู้ทั่วไปรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง กฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 โดยระบุว่า ไม่ได้มาส่งเสริมให้ดื่ม แต่จะพูดถึงเรื่องความฝันของคนที่อยากเป็นผู้ผลิตเบียร์ ผลิตสุรา แต่กลับถูกโครงสร้างรัฐกดทับเอาไว้ด้วยเรื่องใบอนุญาต จนต้องออกไปผลิตในต่างประเทศ เช่น กัมพูชา ออสเตรเลีย แล้วนำเข้ามา ทั้งนี้ ใบอนุญาตผลิตสุรานั้น เป็น 1 ใน 8,000 ใบ ในประเทศไทย ที่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้เล่นใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และยังเป็นช่องทางให้ข้าราชการคอรัปชั่น

แต่สำหรับคำถามของตนวันนี้ คือ เรื่องของการที่ใบอนุญาตดังกล่าว เอื้อประโยชน์กับนายทุนหรือไม่ ทั้งนี้ ตลาดเบียร์ในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท แต่ถ้าเราลองเข้าร้านสะดวกซื้อจะพบว่า มีอยู่ไม่กี่ยี่ห้อ จากไม่กี่เจ้าของ ซึ่งถ้าเทียบกับอเมริกา ราว 40 ปีก่อน ก็เป็นแบบประเทศเรา คือ มีเจ้าของไม่กี่สิบโรง ครอบครองโดยคนไม่กี่ตระกูล หากแต่วันนี้ มีมากถึง 7,000 โรงเบียร์ และกระจัดกระจายตามท้องถิ่นต่างๆ แม้มีกำลังการผลิตไม่เยอะเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการผลิต , แต่มี 24 เปอร์เซ็นต์มูลค่าการผลิต และที่สำคัญ คือมีการจ้างงานสูงถึง 56 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจเบียร์ทั้งหมด

นายเท่าพิภพ กล่าวว่า สำหรับมาเมืองไทย โรงเบียร์ตามใบอนุญาตของ กฎกระทรวงการคลัง มี 2 ประเภท คือ 1.บริวผับ คือ โรงเบียร์อุตสาหกรรม ผลิตเบียร์แล้วขายได้เฉพาะโรงงาน ไม่สามารถบรรจุขวดขายได้ ซึ่งตามกฎหมายต้องผลิต 1 แสนลิตรต่อปี หรือ 300 ลิตรต่อวัน ซึ่งต้องมีพื้นที่ใหญ่มาก ถึงจะขายและอยู่ได้ ก็น่าสนใจว่าขายอย่างไร

...

และ 2. บริวเวอรี ผลิตแล้วบรรจุขวดขายได้ ต้องผลิตที่ขั้นต่ำ 10 ล้านลิตรต่อปี หรือตกวันละ 3 หมื่นลิตร ทั้งนี้ ตนเองเคยโดนจับเรื่องการผลิตเบียร์ ก่อนจะมีคนติดต่อชวนไปทำเบียร์ ก็ได้คิดคำนวนเงินทุนทุกอย่างก็พบว่า ต้องใช้ถึง 1 พันล้านบาท ซึ่งประเทศนี้เด็กจบ ป.ตรี เงินเดือน 15,000 บาท ต้องทำงานเก็บเงินนานแค่ไหนถึงจะตั้งโรงเบียร์เป็นผู้ประกอบการได้ ดังนั้น คำถามแรกคือ เหตุใด ต้องมีการตั้งกำลังการผลิต 1 แสนลิตรต่อปี สำหรับบริวผับ และ 10 ล้านลิตรต่อปี สำหรับบริวเวอรรี กฎหมายลักษณะนี้ ทำให้คนสงสัยว่า เอื้อประชาชนหรือเอื้อนายทุน

"คำถามที่ 2 เรื่องสุราพื้นบ้าน ถ้าท่านจะอ้างว่า การผลิตปริมาณมากเป็นเพื่อควบคุมคุณภาพ กรณีของสุราพื้นบ้านทำไมตรงกันข้าม เพราะว่าในกฎกระทรวงนั้น สุราชุมชน จำกัดกำลังการผลิตไม่เกิน 5 แรงม้า แรงงานคนไม่เกิน 7 คน ซึ่งเตาแก๊ส 2 เตา ไฟหนึ่งดวงก็เกินแล้ว ทำไมถึงไปจำกัดในเรื่องนี้ ทั้งนี้ สุราไทย คือ เพชรเม็ดงามที่ยังไม่ได้ถูกนำมาส่องประกายในระบบเศรษฐกิจไทย ถ้าเราลองไปดูต่างประเทศ เช่น จีน มีเหมาไถ ญี่ปุ่นมี สาเก ขายในราคาสูงสร้างรายได้ ซึ่งเหล่านี้ผลิตมาจากข้าว ขณะที่ประเทศไทยมีข้าวที่ดีที่สุด แต่กลับไม่ได้รับการส่งเสริม รวมถึงกรณี การผลิตสุรากกลั่นพิเศษทำไมต้องผลิต 3 หมื่นลิตรต่อวัน และสุราชุมชน ต้องทำ 9 หมื่นลิตรต่อวัน คำถามคือ ทำไมต้องจำกัดกฎแบบนี้ แล้วจะแก้และปลดล็อกได้หรือไม่" นายเท่าพิภพ กล่าว