รมว.ทรัพยากรฯ ทำแผนพะยูนแห่งชาติ ประสานมหาดไทย ดูแลพะยูนทั่วประเทศ หวังเพิ่มจาก 200 เป็น 400 ตัว พร้อมติดแท็กกับไมโครชิปพะยูน เฝ้าระวังลอบล่า เตรียมย้าย "ยามีล" จาก จ.ภูเก็ต มาอยู่กับ "มาเรียม" ที่เกาะลิบง 

วันที่ 18 ก.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์พะยูน ที่เกาะลิบง จ.ตรัง โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ข้าราชการสังกัด ทส. ตลอดจนกรมการปกครอง ผู้นำชุมชนเกาะลิบง กลุ่มอาสาสมัครผู้พิทักษ์ดูหยง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ร่วมให้การต้อนรับกันอย่างอบอุ่น บริเวณอ่าวดูหยง บ้านบาตูปูเต๊ะ เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ทั้งนี้ นายวราวุธ ได้ดูอาการของพะยูน "มาเรียม" พบว่ามีสุขภาพร่าเริง ว่ายและดำน้ำได้ดี การหายใจปกติ ไม่พบการปวดเกร็งช่องท้อง

จากนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ทำการติดแท็กกับไมโครชิปให้กับมาเรียมและยามีล เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและระบุตัวตน เป็นการนำร่องเพื่อจะติดพะยูนตัวอื่นๆ โดยเฉพาะในทะเลตรังมี 185 ตัว การติดแท็กกับไมโครชิปไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่ผ่านมาจะใช้วิธีบินสำรวจ และนับจำนวนประชาการ การติดแท็กกับชิปช่วยในการอนุรักษ์พะยูน และเพิ่มประชากรพะยูนให้มากขึ้น ที่สำคัญหลังมรสุมได้สั่งการให้ ทช.ย้ายยามีล จาก จ.ภูเก็ต มาอยู่กับมาเรียมที่เกาะลิบง

...

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทส.จะจัดทำแผนพะยูนแห่งชาติ โดยร่วมมือกับภาควิชาการ ประชาชน และกระทรวงมหาดไทย โดยเร่งสำรวจพะยูนทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน โดยต้องการจะเพิ่มพะยูน จาก 200 ตัว เป็น 400 ตัว เพราะขณะนี้หน่วยงานราชการยังไม่สามารถดูแลพะยูนได้ทั่วถึง แต่ยังได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งที่มีพะยูนช่วยกันดูแล ซึ่งตั้งแต่มาเรียมมาอยู่ ผู้นำท้องถิ่นบอกว่าชาวบ้านในพื้นที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น การท่องเที่ยวคึกคัก เรื่องนี้ต้องทำให้สมดุลกันให้ทั้งพะยูนอยู่ได้ และชาวบ้านชาวประมงก็มีความสุข ไม่ใช่ทำให้พะยูนถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามของชาวประมง นอกจากนี้ก็ต้องดูแลสัตว์ทะเลหายากอย่างอื่นด้วย

เมื่อถามว่าในพื้นที่มีขบวนการล่าพะยูนหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า คาดว่าไม่มี แต่ที่เราพบว่าซากพะยูนเขี้ยวมักจะหายไป เพราะคนบางกลุ่มที่พบซากพะยูน เห็นว่าไหนๆ ก็ตายแล้วจึงตัดมา ทั้งนี้น้ำตาและเขี้ยวพะยูนที่เชื่อว่าทำให้คนหลงรักเป็นความเชื่อผิดๆ ต่อให้ใช้น้ำตาพะยูนเป็นร้อยตัวก็ไม่สามารถทำให้คนหลงรักได้ ดังนั้นทั้งคนซื้อและคนขายถือว่าสติปัญญาพอๆ กัน ส่วนผู้ที่ครอบครองเขี้ยวพะยูนถือว่ามีความผิดทางกฎหมายด้วยเช่นกัน.