นิด้าโพล เผย ผลสำรวจ ปชช.ส่วนใหญ่ จี้แก้ไข รธน.เร่งด่วน ทั้งที่มาและอำนาจของ ส.ว. และที่มา นายกฯ เพราะไม่มีความเป็นประชาธิปไตย 


เมื่อวันที่ 14 ก.ค.62 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “รัฐธรรมนูญ 2560 จำเป็นต้องแก้ไขหรือไม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2562 จำนวน 1,504 ตัวอย่างเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.04 ระบุว่า จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วน เพราะการได้มาของนายกรัฐมนตรี และ ส.ว. ที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่มีความยุติธรรม ไม่แตกต่างกับการรัฐประหาร ขัดกับความต้องการของประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพ เกิดความวุ่นวายขึ้นในสภาฯ เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป อยากให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้

รองลงมา ร้อยละ 17.15 ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว ควรแก้ไขที่ตัวบุคคลมากกว่าแก้ที่รัฐธรรมนูญ

ร้อยละ 13.43 ระบุว่า ควรใช้รัฐธรรมนูญไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยแก้ไข ร้อยละ 10.90 ระบุว่า ควรใช้รัฐธรรมนูญไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าควรแก้ไขหรือไม่ และร้อยละ 21.48 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า ควรใช้รัฐธรรมนูญไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยแก้ไข พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.56 ระบุว่าควรใช้รัฐธรรมนูญเป็นระยะเวลา 1 ปี รองลงมา ร้อยละ 23.76 ระบุว่า ต่ำกว่า 1 ปี และ 2 ปี ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 3.47 ระบุว่า 3 ปี ร้อยละ 2.97 ระบุว่า 5 ปี ขึ้นไป และร้อยละ 2.48 ระบุว่า 4 ปี

...

ส่วนในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า ควรใช้รัฐธรรมนูญไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าควรแก้ไขหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.29 ระบุว่า ควรใช้รัฐธรรมนูญเป็นระยะเวลา 1 ปี รองลงมา ร้อยละ 27.44 ระบุว่า 2 ปี ร้อยละ 21.34 ระบุว่า ต่ำกว่า 1 ปี ร้อยละ 4.27 ระบุว่า 3 ปี ร้อยละ 2.44 ระบุว่า 4 ปี และร้อยละ 1.22 ระบุว่า 5 ปี ขึ้นไป

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไข หากจำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (เฉพาะผู้ที่ตอบว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วน และควรใช้รัฐธรรมนูญไปสักระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยตัดสินใจว่า ควรแก้ไขหรือไม่ และหรือค่อยแก้ไข) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.01 ระบุว่า ประเด็นที่มาและอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รองลงมา ร้อยละ 42.90 ระบุว่า ประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 40.52 ระบุว่า ประเด็นการปฏิรูปประเทศ ร้อยละ 39.00 ระบุว่า ประเด็นระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ร้อยละ 25.24 ระบุว่า ประเด็นแนวนโยบายแห่งรัฐ ร้อยละ 0.54 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่มาของ กกต. กฎหมายการจัดตั้งองค์กรอิสระ (ซึ่งขาดความยุติธรรม) ขณะที่บางส่วนระบุว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด และร้อยละ 5.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ