จากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สมัยแรก ที่มีความเป็นหนึ่งเดียวเพราะอยู่ภายใต้ปีก คสช. ซ้ายหันขวาหันพร้อม แต่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สมัย 2 หลังเลือกตั้งดูเหมือนไม่ง่าย เพราะมีพรรคร่วมรัฐบาลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และที่ยากไปกว่านั้นพรรคแกนนำอย่างพลังประชารัฐเอง ก็มีหลากขั้วหลายสาย จนแตกกระจาย โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตร กับกลุ่มรัฐบาลคสช.
ผ่านการเลือกตั้งไปแล้วประมาณ 3 เดือน ตอนนี้เพียงแค่ช่วงเริ่มต้นของรัฐบาลใหม่ ที่มีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดิม ก็วุ่นวายไม่น้อย ในเรื่องจัดสรรโควตาเก้าอี้รัฐมนตรี ที่บางพรรคก็แทบแตก ด้วยความที่เมื่อลงมาสนามการเมืองแล้ว หนีไม่พ้นเป็นรัฐบาลผสม ที่ไม่ใช่ผสมธรรมดา แต่ผสมหลายพรรค ทำให้ถึงตอนนี้หลายคนไม่อยากนึกถึงเลยว่า เมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จแล้ว จะเห็นนักการเมืองตีกันนัวแค่ไหน เพราะถ้าชิงเหลี่ยมเฉือนคมกันมากๆ สุดท้ายประเทศชาติจะไม่ไปไหน และประชาชนจะลำบากไม่จบไม่สิ้น
รัฐบาลประยุทธ์สมัย 2 ภายใต้พรรคร่วมรัฐบาล จัดได้ว่ามีจำนวนพรรคมากที่สุด คือมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และกลาง ที่มี ส.ส.จำนวนมากนั้น มีถึง 6 พรรคการเมือง โดยมีแกนนำคือพรรคพลังประชารัฐ ที่ส่วนใหญ่มาจากรัฐบาล คสช.ขับเคลื่อนอยู่ ส่วนที่เหลือคือพรรคนักการเมืองมืออาชีพ อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย
...
ยังมีพรรคเล็กที่มี ส.ส.รวมกัน 10 คน คือ จาก พรรคพลังชาติไทย, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคพลังไทยรักไทย, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคประชานิยม, พรรคประชาธรรมไทย, พรรคพลเมืองไทย, พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม
นาทีนี้สำหรับรัฐบาลลุงตู่ ทุกพรรคทุกเสียงล้วนสำคัญที่ทำให้รัฐนาวาของ ครม.ลุงตู่ อยู่ได้ หรืออยู่ไม่ได้ เพราะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรแบบปริ่มน้ำ ด้วยจำนวน ส.ส.รวมกัน 254 คน เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งสภาที่มี 500 คน
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เมื่อปี 2551-2554 ที่มีพรรคร่วมรัฐบาล 5-6 พรรค เล่าประสบการณ์ในการดีลบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลว่า คาถาที่ใช้ไม่ได้มีอะไรมาก และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็น่าจะนำมาใช้ได้ คือ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้นำที่พาพรรคร่วมทุกพรรคไปในทิศทางที่ดี เพราะถ้าไม่สามารถขับเคลื่อน หรือประสานงานดี ก็จะยุ่งยาก จัดการคุมเสียงในสภา ต้องดูแลการบริหารจัดการให้พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคทำงานประสานกัน ทุกพรรคต้องมีโอกาสนำนโยบายของตัวเองมาใช้
การมีหลายพรรคร่วมรัฐบาล มีหลักการทำงานในเชิงเทคนิค คือ ผู้นำรัฐบาลต้องยอมรับความคิดเห็น เป็นนักการเมืองเต็มตัว ทำตามเสียงข้างมาก แต่เคารพเสียงข้างน้อย บรรยากาศจะดีขึ้น โดยภาพรวมจะมีพลังขับเคลื่อนนโยบายในสภาได้ แต่จะมากน้อยเพียงใด เป็นบารมีและฝีมือของผู้นำ และที่สำคัญที่สุดคือการไม่ทุจริต จะทำให้รัฐบาลอยู่ได้
“ที่น่าห่วงอย่างยิ่ง รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ ขณะเดียวกันยากที่จะปรับ ครม. เพราะการเลือกฝ่ายตรงข้ามของฝ่ายค้านชัดเจน ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลมาแล้ว 5 ปี ก็สร้างความคาดหวังให้ประขาชน จึงไม่มีเวลาฮันนีมูน ต้องโชว์แก้ปัญหาทันที เรื่องสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง เพราะเมื่อปากท้องยังหิวโหยโอกาสที่จะชักชวน หรือโน้มน้าวประชาชนให้เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ยาก ประชาชนต้องอิ่มก่อน”.