เกิดอะไรขึ้นเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกสารขอโทษประชาชน จากปมขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ส่วนปัญหาจะบานปลายซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่? ต้องติดตามแต่เชื่อว่าจะผ่านไปได้ แม้โผครม.บิ๊กตู่ 2 ครั้งนี้จะใช้เวลายาวนานมาราธอน 3 เดือน นับตั้งแต่การเลือกตั้ง 24 มี.ค.ที่ผ่านมาก็ตาม

หากถอดรหัสจากสารดังกล่าว แสดงให้เห็นความรู้สึกไม่สบายใจของพล.อ.ประยุทธ์ จนต้องขอโทษประชาชนแทนพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเป็นบุคคลที่พรรคเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี จากข่าวสารต่างๆภายในพรรคที่ปรากฏตามสื่ออย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์สาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์กับ "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" ว่า หลังการเลือกตั้งจะสังเกตได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ค่อยแถลงข่าวมากนัก ถือเป็นกลยุทธ์การสื่อสารแบบใหม่ แตกต่างจากที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มักมีการปะทะคารมกับนักข่าว และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้

อย่างไรก็ตาม หากถอดรหัสจากสารที่ พล.อ.ประยุทธ์ สื่อสารถึงประชาชน 1.เป็นเรื่องของการจัดตั้งครม.ใช้เวลานานที่สุด กว่า 70 วัน นับตั้งแต่การเลือกตั้ง ก่อให้เกิดผลกระทบในแง่ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาแสดงทัศนะในเรื่องนี้ เพื่อป้องกันเรื่องภาพลักษณ์รัฐบาล

...

2.จากภาพลักษณ์ของพรรคพลังประชารัฐซึ่งขณะนี้ดูไม่ดี ทั้งการต่อรองแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี และล่าสุดกลุ่มสามมิตรถึงขั้นจะกราบเท้า พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นแทนที่จะเกิดในพรรคร่วมรัฐบาล แต่กลับเกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ จนเป็นภาพลบ โดยพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ นิ่งหมดแล้ว ด้วยการยึดมติพรรค

"สิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างเป็นเรื่องการต่อรองภายในพลังประชารัฐทั้งสิ้น เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าพลังประชารัฐ ทำงานการเมืองแบบล้าหลัง แม้พรรคเพิ่งก่อตั้งใหม่ก็ตาม แต่ยังผูกติดในเรื่องผลประโยชน์บุคคล อีกทั้งพลังประชารัฐ มีบุคคลที่ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ไม่กี่คน หรือเฉพาะคนใน คสช. คือตัว พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งคนอื่นไม่สามารถตัดสินใจใดๆ ได้ คาดว่าจะเห็นหน้าครม.กลางเดือนก.ค.นี้"

3.การขอโทษต่อประชาชนในลักษณะนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นครั้งแรกเป็นมิติใหม่ไม่เคยมีมาก่อน แสดงว่าพล.อ.ประยุทธ์ กำลังปรับภาพตัวเองในโหมดนักการเมืองเต็มตัว จากข่าวก่อนหน้านั้นจะมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จึงมีความเป็นได้สูงมากที่พล.อ.ประยุทธ์ จะมาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นข้อดีทำให้พรรคเป็นเอกภาพ และทำให้ข้อจำกัดด้านกฎหมายจะหายไป กรณีข้อวิพากษ์วิจารณ์เป็นบุคคลนอกพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค อาจนำไปสู่การยุบพรรคได้

"เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค ก็จะตัดปัญหาในพลังประชารัฐ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มีที่อยู่ภายในพรรค แม้ไม่มีคสช.แล้ว แต่ไม่ได้ไปไหน เพราะได้ก้าวมาสู่การเป็น ส.ว. และกอ.รมน.มาแทนที่"

ส่วนกรณีกลุ่มสามมิตรมี 30 เสียงโดยประมาณ ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ เมื่อมีการขยับเคลื่อนไหวอะไรจะเกิดการสะเทือนต่อพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถามว่าจะสามารถต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีได้มากน้อยเพียงใดนั้น มองว่าได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากจะไปซบพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ หรือจะไปอยู่พรรคร่วมรัฐบาล จะทำให้พรรคภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ คิดหนักในเรื่องภาพลักษณ์การดูด ส.ส.ก็คงไม่มีพรรคใดเอา ขณะที่ทิศทางในการไปตั้งพรรคใหม่ภายใน 30 วันตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้อยู่ในช่วงเลือกตั้ง อาจเป็นปัญหาได้

"การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีของกลุ่มสามมิตร คงได้ในระดับหนึ่ง แต่การเรียกร้องขอเปลี่ยนเลขาธิการพรรคจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นคนอื่นคงไม่ได้ และเชื่อว่าจะเกิดการต่อรองภายในพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล ตลอดเส้นทางของรัฐบาล ดูแล้วอาการหนักมาก เพราะฉะนั้นเรื่องต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี จึงแค่ปฐมบท และมองว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ 2 ปี คงไม่อายุสั้น เพราะรัฐบาล มีตัวช่วยจากกลไกรัฐธรรมนูญทั้ง ส.ว. 250 คน กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และการโอนหน้าที่ คสช.ให้ กอ.รมน. แต่รัฐบาลจะอยู่ในลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ จะแถไปเรื่อยๆ"

ทั้งนี้สิ่งที่ห่วงที่สุดเป็นเรื่องภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพภายในสภา เนื่องจากคนจะไม่เชื่อมั่นต่อระบบรัฐสภา และมีผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญ จนเกิดปัญหาไปสู่ความรุนแรงทางการเมือง และความรุนแรงทางการเมืองบนท้องถนน.