สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบัน โดยมีแนวทางการทำงาน คือ
1) สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้มีบทบาทหลัก (key actors) ในการวางแผนและดำเนินการตามแผนพัฒนาชุมชน ภายใต้การสนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานกลาง 2) สนับสนุนให้ขบวนชุมชน มีบทบาทสำคัญในการวางแผนการพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาของตนเอง (Demand driven) ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่รอแต่การสนับสนุนจากภายนอกหรือรอทำตามแผนของหน่วยงาน (Supply driven) 3) สนับสนุนการวางแผนพัฒนาที่มีพื้นที่เป้าหมาย ให้เต็มพื้นที่ทั่วประเทศ (Nationwide development process) 4) จัดสรรและกระจายงบประมาณให้องค์กรชุมชนบริหารจัดการด้วยตนเอง
ทั้งนี้ บทบาทสำคัญของ พอช. คือ การจัดกระบวนการพัฒนาองค์กรชุมชน (Community organizing) ในรูปแบบต่างๆ ให้ “สภาองค์กรชุมชนตำบล” ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เป็นกลไกในการเชื่อมโยงองค์กรชุมชน และภาคีพัฒนาต่างๆในท้องถิ่น ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา มาทำงานแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นร่วมกัน
ตลอดช่วง 18 ปี ในการเป็นหน่วยงานรัฐรูปแบบใหม่ ที่มีบทบาทในการหนุนเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนร่วมกับภาคีพัฒนา เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด 7,825 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการทำงานพัฒนาเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีทั่วประเทศ
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช. ชี้แจงว่า พอช.ได้ดำเนินการในมิติต่างๆแล้ว ดังนี้
1.การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสทั้งในเมืองและชนบท ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในปี 2579” โดย พอช.รับผิดชอบ จำนวน 1 ล้าน 5 หมื่นกว่าครัวเรือนทั่วประเทศ เกิดผลการดำเนินงานคือ 1.1 โครงการบ้านมั่นคง 1.2 โครงการบ้านพอเพียงชนบท 1.3 โครงการบ้านมั่นคงชนบทในเขตปฏิรูปที่ดิน สปก.1.4 ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน 1.5 การช่วยเหลือกรณีไฟไหม้ ไล่รื้อ และภัยพิบัติ 1.6 บ้านริมคลองลาดพร้าว
...
2.สภาองค์กรชุมชน เป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนที่รวมตัวกันในระดับตำบลหรือเมือง เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ และเป็นเวทีกลางในการผลักดันให้มีการแก้ปัญหาสาธารณะได้มีการจัดตั้งแล้ว 7,332 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 93.70 ของ อปท.ทั่วประเทศ มีสมาชิก 241,301 คน
3.สวัสดิการชุมชน สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล โดยสมาชิกจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนวันละ 1 บาท เป็นรายเดือนหรือรายปี มีการจัดสวัสดิการเพื่อดูแลกันในหลากหลายด้าน ปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการ 5,997 กองทุน มีสมาชิกรวม 5.5 ล้านกว่าคน มีเงินกองทุนกว่า 15,000 ล้านบาท นับเป็นสวัสดิการชาวบ้าน ที่แบ่งปันให้ผู้สูงอายุ เด็ก สตรี ฯลฯ ตามแต่เกณฑ์ที่ชุมชนกำหนดกันเอง
4.การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เป็นการหนุนเสริมให้ชุมชนวิเคราะห์ปัญหา ศักยภาพ ทรัพยากรและทุนภายในชุมชน วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ร่วมมือกับภาคีต่างๆ เชื่อมโยงเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน เช่น เกษตรอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น ดำเนินการแล้วใน 556 ตำบล
นายไมตรี อินทุสุต ประธาน พอช. กล่าวว่า ปี 2562 นับเป็นจังหวะก้าวสู่ปีที่ 19 มีการดำเนินงานในเชิงปริมาณมากกว่าตอนเริ่มก่อตั้งถึงสิบเท่าตัว ผนวกกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และนโยบายใหม่ๆของรัฐบาล ทำให้ต้องมีการพัฒนาระบบการบริหารขององค์กรอย่างเข้มข้นในทุกมิติ
โดยให้ “สภาองค์กรชุมชน” เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยง บูรณาการหน่วยงานภาคีพัฒนาในพื้นที่ที่มีทุกภาคส่วนมาร่วมกันพูดคุย แลกเปลี่ยนวางแผนและทำงานร่วมกัน สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งระดับท้องที่ ท้องถิ่น และท้องทุ่งสู่ “พอช. ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคงของมนุษย์”.
อ่านคอลัมน์ที่เกี่ยวข้อง
“ซี.12”