"ทักษิณ" ฟ้องทนายดูไบฐานยักยอกเงินกว่า 2.9 พันล้านบาท ด้วยการปลอมแปลง เอกสาร  และใช้อำนาจเกินกว่าที่ได้รับระบุเป็นเงินกำไรที่ได้จากการขายทีมฟุตบอลดังจากอังกฤษ เรือใบสีฟ้า "แมนเชสเตอร์ ซิตี้" โดยฟ้องให้ชดใช้เงินคืนกว่า 3.5 พันล้านบาท แต่เจ้าตัวยังปฏิเสธในชั้นศาล ...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 18 มี.ค. อ้างข่าวจากเว็บไซต์ "เตหะราน ไทม์ส" และหนังสือพิมพ์ "เอมารัต อัล โยอุม" ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่รายงานเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ในฐานะเจ้าของบริษัท "ยูเค สปอร์ตส์ อินเวสต์เมนต์ ลิมิเต็ด" (ยูเคเอสไอแอล) ได้ยื่นฟ้องทนายความชาวดูไบ ซึ่งเป็นทั้งผู้อำนวยการบริษัทและหุ้นส่วนของบริษัทกฎหมายแห่งหนึ่ง  ในข้อหายักยอกเงินจากบัญชีของตน  พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้ต้องหา  ซึ่งเบื้องต้นข่าวไม่มีการระบุชื่อ ต้องจ่ายเงินค่าชดใช้ความเสียหายเป็นเงินถึง 441 ล้านดีแรมยูเออี (ประมาณ 119 ล้านดอลลาร์ หรือ 3,570 ล้านบาท)

ขณะที่สำนักข่าวเอพีรายงานในวันเดียวกัน เปิดเผยชื่อผู้ต้องหาในคดีนี้ว่าคือ นายคาลีด อัล-มูไฮรี ทนายความชาวดูไบ วัย 45 ปี ที่ขึ้นให้การต่อศาลดูไบในสหรัฐอาหรับ–เอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ในข้อหายักยอกเงินหลายสิบล้านดอลลาร์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย อย่างไรก็ตาม นายอัล-มูไฮรี ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า  นายอัล-มูไฮรี ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของบริษัทแห่งหนึ่งในดูไบถูกตั้งข้อหาใช้อำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในทางมิชอบ  พยายามฉ้อโกง และปลอมแปลงเอกสาร หลังอัยการกล่าวหาว่าเขาขโมยเงินจากบัญชีธนาคารของบุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้ บริษัทของเขาดูแลด้านกฎหมาย ใน พ.ศ.2552 ถึง 129 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3,870 ล้านบาท) และในจำนวนนั้นเป็นเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ 97 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,910 ล้านบาท) ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้จากการขายสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ "เรือใบสีฟ้า"

สำหรับดีลสนั่นโลกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย เข้าซื้อหุ้นของสโมสรแมนเชสเตอร์  ซิตี้"เรือใบสีฟ้า" ทีมดังในพรีเมียร์ลีกอังกฤษนั้น เกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. พ.ศ.2550 โดยมอบหมายให้บริษัทยูเค สปอร์ตส์ อินเวสต์เมนต์ส ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทน เข้าเจรจากับบอร์ดบริหารของทางสโมสรในขณะนั้น ด้วยการเข้าซื้อหุ้นจำนวน 54 ล้านหุ้น เป็นจำนวนเงิน 21.6 ล้านปอนด์ ซึ่งคิดเป็น 55.9 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหุ้นทั้งหมด รวมทั้งต้องจ่ายเงินสดอีกจำนวนหนึ่งรวม 60 ล้านปอนด์ เพื่อชำระหนี้สินของสโมสร รวมเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 81.6 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 5,700 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น ในการเข้าถือหุ้นใหญ่ของสโมสร และจากนั้นก็ได้ซื้อหุ้นที่เหลือจากผู้ถือหุ้น โดยรวบรวมหุ้นทั้งหมดได้รวม 75 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นการเข้าควบคุมสโมสรอย่างเด็ดขาด พร้อมขึ้นเป็นประธานสโมสรอย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งจากการที่เข้าบริหารงานอย่างอิสระ ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณแต่งตั้งและเปิดตัวสเวน โกรัน อีริคสัน อดีตผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ  เป็นผู้จัดการทีมอย่างเป็นทางการเมื่อ  7  ก.ค.2550  ตามที่คาดกันไว้ก่อนหน้านี้อย่างไรก็ตาม แม้การซื้อสโมสรของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในครั้งนั้นจะได้รับการสนับสนุนจากบอร์ดบริหารเดิมของแมนฯ ซิตี้ รวมทั้งคีธ แฮร์ริส ประธานบริหารซีย์มัวร์ เพียร์ซ อินเวสต์เมนต์ แบงก์ โบรกเกอร์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะยืนยันว่าเงินที่ใช้ซื้อสโมสรครั้งนี้เป็นเงินที่สะอาดไม่เกี่ยวข้องกับที่ถูกอายัดทรัพย์ก่อนหน้านี้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณยังต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากพรีเมียร์ลีกอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการตัดสินคดีในเมืองไทย มีการยึดทรัพย์ ทำให้ภาวะทางการเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ฝืดเคือง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริหารงานของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ประกอบกับกระแสต่อต้านของแฟนบอลในอังกฤษ  ที่กดดันให้สมาคมฟุตบอลอังกฤษพิจารณาเกี่ยวกับคุณสมบัติและความเหมาะสม

ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ลาออกจากประธานบริหารสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. พ.ศ.2551 และได้มีการเจรจากับอาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป ฟอร์ ดีเวล–ลอปเมนต์ (ADUG) อันเป็นกลุ่มทุนทางธุรกิจจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นำโดย ดร.สุไลมาน อัล ฟาริม ประธานกลุ่ม เพื่อขายหุ้นสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก่อนบรรลุข้อตกลงกันได้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. พ.ศ.2551 โดยข้อตกลงในการซื้อขายครั้งนี้เชื่อว่าสูงถึง 150 ล้านปอนด์ หรือกว่า 9,000 ล้านบาท  ในช่วงเวลานั้น เท่ากับว่าในระยะเวลาที่เข้ายึดครองสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นเวลาประมาณ 15 เดือน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถทำกำไรได้จากธุรกิจนี้ราว 3,000 ล้านบาท

...