พบประธานเครือข่ายชาวนาไทย ที่มีรายชื่อในการประกาศเป็นส.ว. มีลักษณะต้องห้าม เคยถูกไล่ออกจากราชการฐานประพฤติชั่วร้ายแรง และถูกศาลจังหวัดเพชรบุรี พิพากษาจำคุก เมื่อปี2559 ฐาน แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม136 ตอนพิเศษ121 ง วันที่ 14 พฤษภาคม2562 

พบว่า ในรายชื่อลำดับที่ 146 นายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย เป็นหนึ่งในรายชื่อผู้ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งในคราวนี้ด้วย เมื่อตรวจสอบประวัติของนายระวี รุ่งเรืองเข้าไปในฐานข้อมูลของกรมการปกครองแล้วพบว่า สมัยที่นายระวีรับราชการในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ปกครอง ระดับ 3 อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ได้กระทำผิดวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วตามมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 กล่าวคือ เมื่อประมาณเดือน ธันวาคม 2535 ถึงเดือนมกราคม 2536 กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนได้เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อสอบคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกอาสารักษาดินแดน (อส.) ที่กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดเพชรบุรี ณ ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี

นายระวี รุ่งเรือง ขณะนั้นรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง 3 อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ได้รับเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิก อส. หรือจากญาติผู้สมัครเป็นสมาชิก อส. รายละ 10,000-15,000 บาท จำนวน6-8 ราย โดยรับปากกับผู้ที่เสียเงินว่า จะพยายามช่วยให้ได้รับการคัดเลือกเป็น อส. หากไม่ได้รับการคัดเลือกจะคืนเงินให้ทั้งหมด แต่หลังจากที่รับเงินมาแล้ว นายระวี รุ่งเรือง มิได้ไปติดต่อกับผู้มีหน้าที่ในการสอบคัดเลือกหรือกระทำการใดให้ผู้เสียเงินได้รับการคัดเลือกเป็น อส. เนื่องจกาไม่รู้จักกับผู้ที่เป็นกรรมการสอบและไม่มีโอกาสหรือช่องทางที่จะไปขอความช่วยเหลือได้ ผู้ที่เสียเงินให้กับนายระวี รุ่งเรือง จึงได้ไปขอเงินคืนตามที่นายระวี รุ่งเรือง ได้ผัดผ่อนเรื่อยมา จึงได้รวมตัวกันไปร้องเรียนต่อหนังสือพิมพ์และผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เพื่อบีบบังคับให้นายระวี รุ่งเรืองคืนเงินให้ และต่อมาผู้ที่เสียเงินให้กับนายระวี รุ่งเรือง ทั้งหมดได้รับเงินคืนจนครบถ้วนแล้ว และไม่ติดใจที่จะเอาความผิดกับนายระวี รุ่งเรือง อีกต่อไป

...

อย่างไรก็ตาม การกระทำของนายระวี รุ่งเรือง เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในฐานะเป็นข้าราชการพลเรือน ถือเป็นการประพฤติชั่ว เป็นความผิดวินัยตามมาตรา 98 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 103 และ 137 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ประกอบกับกฎ ก.พ.ฉบับที่ 5(พ.ศ.2518) ข้อ 5 จึงลงโทษลดขั้นเงินเดือนนายระวี รุ่งเรือง จำนวน 1 ขั้น จากอัตราเงินเดือนระดับ 3 ขั้น6,760 บาท คงให้รับอัตราเงินเดือน ระดับ3ขั้น6,460 บาท ทั้งนี้ตั้งแต่เดือน สิงหาค2536เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่10 สิงหาคม พ.ศ2536 นายสุชาญ พงษ์เหนือ ผวจ.เพชรบุรี

กระทั่งต่อมามีการรายงานผลการลงโทษไปยังกรมการปกครอง ซึ่ง กรมการปกครองได้นำเรื่องเสนอ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยพิจารณา อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า พฤติการณ์ของนายระวี รุ่งเรือง ดังกล่าวเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา98 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2536 ตามที่จังหวัดเพชรบุรีสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนนายระวี รุ่งเรือง 1 ขั้น ไปนั้นยังไม่เหมาะสมกับกรณีความผิด จึงมีมติให้เพิ่มโทษนายระวี รุ่งเรือง จากลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น เป็นลงโทษไล่นายระวี รุ่งเรือง ออกจากราชการ สั่ง ณ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2539 นายประสาน สุขรังสรรค์ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมการปกครอง

จากคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 14 (10) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริต หรือประพฤติมิชอบในวงราชการ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561

โดยนายระวี รุ่งเรือง มีชื่อมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 194 คน ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานฯในการสรรหา โดยนายระวี รุ่งเรือง มีตำแหน่งในปัจจุบันเป็นประธานเครือข่ายชาวนาไทย ได้รับการพิจารณาสรรหาเข้ามา ได้รับการแต่งตั้งเป็นส.ว.

นอกงจากกรณีดังกล่าว นายระวี รุ่งเรือง ยังเคยไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขนาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ.2551 โดยได้กระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อผอ.การเลือกตั้งประจำอบต.หนองขนาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งความจริงแล้ว นายระวี รุ่งเรืองเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครการเลือกตั้ง กระทั่งได้รับการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งเรื่อยมา กระทั่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพชรบุรี ได้รับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบพบว่า นายระวี รุ่งเรืองมีลักษณะต้องห้ามจริง จึงเสนอเรื่องให้นายอำเภอเมืองเพชรบุรี ดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมาย และยังได้เสนอพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ศาลพิพากษา จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี 

นายระวี รุ่งเรือง ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2559 พิพากษายืน