วันนี้ แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปิดจ๊อบประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็น ทางการไปแล้ว
สรุปตัวเลขชัดเจน มี ส.ส.ระบบเขต 349 คน จาก 350 ที่นั่ง และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 149 คน จาก 150 ที่นั่ง
สิริรวมได้ ส.ส.เข้าสภา 498 คน จากทั้งหมด 500 คน เกินเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน ทูลเกล้าฯถวาย เพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง
เมื่อมี ส.ส.และ ส.ว.ครบองค์ประกอบฝ่ายนิติบัญญัติก็จะเข้าสู่ขั้นตอนรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน หลังประกาศรับรองผล ส.ส.ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ ช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 23 พ.ค.
จากนั้นจึงเรียกประชุมสภาผู้แทน ราษฎร เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภา
โดย พรรคพลังประชารัฐ แม้ยังไม่ชัวร์ว่าจะรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งสภาหรือไม่ แต่เพื่อความไม่ประมาท ได้วางตัว สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา อดีตรองประธานสภาฯ รอสะด๊วบเก้าอี้ไว้แล้ว
รวมทั้งต้องประชุม ส.ว. เพื่อเลือกประธานวุฒิสภา ถ้าไม่มีอะไรพลิกโผ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ก็จะแปลงร่างมาเป็นประธานวุฒิสภา แน่นอน
และเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาเป็นที่เรียบร้อย
ตอนนั้นแหละ ก็จะถึงจุดไคลแมกซ์ ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมร่วม ส.ส.และ ส.ว. เพื่อลงมติเลือก นายกรัฐมนตรีคนใหม่
และเมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว นายกรัฐมนตรีถึงจะจัดตั้ง ครม.อย่างเป็นทางการต่อไป
แม้วันนี้มีความชัดเจนเรื่องจำนวน ส.ส.และ ส.ว. รวมทั้งไทม์ไลน์ต่างๆที่จะนำไปสู่การมีนายกฯคนใหม่ และรัฐบาลชุดใหม่ ตามขั้นตอนกระบวนการของรัฐธรรมนูญแล้ว
...
แต่การรวมขั้วจัดตั้งรัฐบาลก็ยังกระดึ๊บๆ ไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดแจ้งแต่ประการใด
อุปสรรคใหญ่ก็เพราะขั้วพรรคเพื่อไทย และแนวร่วมอีก 6 พรรค นับหัวรวมกันยังนิ่งอยู่แค่ 245 เสียงไม่ถึงครึ่งสภาฯ
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐบวกแนวร่วม 5 พรรคเล็กและ 12 พรรคจิ๋ว ก็เบ่งเต็มที่ได้แค่ 150 เสียงเท่านั้นเอง
ถ้าหวังเป็นรัฐบาล (เสียงปริ่มน้ำ) ต้องผนึกพรรคขนาดกลางที่เป็นตัวแปรสำคัญอีก 2 พรรค คือ พรรคภูมิใจไทย 51 เสียง กับพรรคประชาธิปัตย์ 52 เสียง ถึงจะได้ 253 เสียง เกินครึ่งสภาฯนิดหน่อย
นี่คือปัญหาที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องรอเสียงตอบรับเข้าร่วม จาก 2 พรรคตัวแปรสำคัญก่อน ถึงจะกล้าประกาศเต็มปากเต็มคำว่าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตัวจริงเสียงจริง
แต่ถึงแม้โดนขึงพืดซะขนาดนี้ พรรคพลังประชารัฐก็ยังมีไม้เด็ดแก้เกม เมื่อกติกาเอื้อให้ ส.ว. 250 คน ร่วมลงมติเลือกนายกฯ บวก 150 ส.ส.ในมือ รวมเป็น 400 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.และ ส.ว.ในรัฐสภาแบบฉลุย
การันตีหนุนส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เบิ้ลเก้าอี้ผู้นำ ชัวร์ป้าด พันเปอร์เซ็นต์
หลังจากนั้นค่อยมาเก็บสแปร์ ดึงพรรค ดูดเสียงอีกรอบ ตอนจัดสำรับ ครม. ตั้งรัฐบาล ก็ยังไม่สายเกินเพล
ไต๋เด็ด ไม้ตาย มันอยู่ตรงนี้แหละ ท่านมหา!!!
“พ่อลูกอิน”