ฉากงดงามของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ปรากฏสู่สายตาทั่วโลก สะท้อนความเป็น “ชาติไทย” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มรดกตกทอดอันทรงคุณค่าในเชิงวัฒนธรรม

แฝงไว้ด้วยพลังความรักความผูกพันระหว่างคนไทยกับสถาบัน

มันคือการยืนยันด้วยภาพเชิงประจักษ์ ความพิเศษของประเทศไทยที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย ภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คนไทยอยู่กันอย่างปกติสุข

กาลเวลาผ่านมากี่ยุคสมัย สถาบันกับคนไทยก็ยังแนบแน่นยากจะแยกออกจากกัน

วันนี้การเปลี่ยนผ่าน “รัชกาล” เป็นไปโดยสมบูรณ์

ตามจังหวะสถานการณ์การเมืองที่อยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดระยะเวลา 5 ปีหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้

ถึงจุดเปลี่ยนจากอำนาจพิเศษกลับสู่อำนาจจากการเลือกตั้งตามกติกาประชาธิปไตย

ภายใต้แนวโน้มสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความจริง กับการที่ผู้นำทหาร “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.จะได้ตีตั๋วต่อ

กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนักการเมืองเต็มขั้น

ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้งจำนวน 349 คนจาก 350 คน ต่อเนื่องกับการประกาศรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 คน จาก 150 คน

“ปล่อยผี” เกือบหมด เพื่อให้ได้ ส.ส.ครบร้อยละ 95

แต่กั๊กเงื่อนไขไว้ด้วยว่า กกต.ยังสามารถ “ไล่สอย” ตามสอบสวนคดีทุจริตเลือกตั้ง ควักใบส้ม ใบเหลือง ใบแดง แจก ส.ส.ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้การจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลเดินหน้าได้

...

ตาม “ไทม์ไลน์” ที่รัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้องลงปฏิทินไว้ เบื้องต้นเลย พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับกับนักข่าวแล้วว่า ได้ทูลเกล้าฯถวายรายชื่อ 250 ส.ว.แล้ว หลัง กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.

โดยจังหวะต่อเนื่อง คาดว่าจะมีรัฐพิธีเปิดประชุมสภาเร็วที่สุดในวันที่ 21 พฤษภาคม จากนั้นจะทำการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาในวันที่ 23 พฤษภาคม

ก่อนจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 พฤษภาคม

คาดว่าจะทูลเกล้าฯถวายรายชื่อ ครม.ในวันที่ 7 มิถุนายน และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 18 มิถุนายน

ทั้งหมดทั้งปวงเพื่อให้มีนายกรัฐมนตรี และ ครม.ใหม่ ได้ทันการประชุมอาเซียนซัมมิตในวันที่ 22–23 มิถุนายน ในฐานะที่ผู้นำไทยเป็นประธานอาเซียน

เงื่อนเวลาบังคับ ความสำคัญของงานระดับประเทศทำให้ กกต.ต้องรวบรัดตามไฟต์บังคับรัฐธรรมนูญ

ท่ามกลางเสียงโหวกเหวกโวยวาย โดยเฉพาะฝ่ายที่เสียผลประโยชน์คือขั้วของพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย

ที่ออกตัวก่อน แต่ชิงจับขั้วตั้งได้แค่ “รัฐบาลลม”

และเมื่อสถานการณ์ตัวเลขพลิก ตามสูตรการคำนวณปาร์ตี้ลิสต์อย่างเป็นทางการที่ กกต.ยึดตามกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เจตนาทำให้ทุกเสียงของประชาชนมีค่า ไม่ให้คะแนนตกน้ำ

ทำให้พรรคเล็กได้ ส.ส.พรรคละ 1 ที่นั่ง ถึง 11 พรรค

รวมพรรคได้ที่นั่ง ส.ส.ในสภาฯมากถึง 27 พรรค

ทำให้พรรคเพื่อไทย โดย “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคอนาคตใหม่ โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ไม่เว้นแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ สายของ “ปรมาจารย์ชวน หลีกภัย” ที่คาใจผลเลือกตั้ง ก็ส่งนายราเมศร์ รัตนเชวง ออกมาขู่ฟ่อจะไล่ฟ้องดะ กกต.

ข้อหาคิดสูตรปาร์ตี้ลิสต์ผิด เอื้อฝั่งหนุน “นายกฯลุงตู่” เก็บ “เบี้ยใต้ถุนร้าน”

ตามรูปการณ์ยังมี “ลูกติดพัน” นักร้องต้องทำงาน คดีรกโรงรกศาล องค์กรอิสระต้องเหนื่อยกันอีกพักใหญ่

ในอารมณ์ของฝ่ายแพ้ พลิกขั้วอำนาจไม่ได้ ยื้อเฮือกสุดท้าย

แต่ในมุมของโคตรเซียนการเมือง มืออาชีพในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประสานเสียงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรรคพลังประชารัฐ

แสดงความมั่นอกมั่นใจ ถึงนาทีฝ่ายเพื่อไทยที่ชิงจับขั้วก่อนหน้าคะแนนไม่ถึง 250

และกล้าคอนเฟิร์มความชัวร์ในระดับเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ พรรคพลังประชารัฐจะสามารถรวบรวมเสียงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ตัวเลขอยู่ในระดับ 254–255 อยู่ในมือ

แม้ตั้งรัฐบาลยาก เสียงปริ่มน้ำ แต่บริหารจัดการดีก็อยู่ครบเทอม 4 ปีได้

ซึ่งนั่นไม่ได้พูดถึงรายการตาม “สอย” ส.ส.ของ กกต.ภายใน 1 ปีจากนี้ไป ที่น่าจะทำให้ตัวเลข ส.ส.เขตพื้นที่ และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เปลี่ยนแปลง และเป็นเงื่อนไขเปิดทางให้ “งูเห่า” จากพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ ฝ่ายที่ลงสัตยาบันหลวมๆหนุนขั้ว “ทักษิณ”

เลื้อยออกจากรู สลับข้างย้ายขั้วมาหนุน “นายกฯลุงตู่”

ตามฟอร์มการเมืองแบบไทยๆ ใครก็อยากอยู่กับฝั่งรัฐบาล

เอาเป็นว่าสถานการณ์มาถึงตรงนี้ แม้แต่นายสามารถ แก้วมีชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ยอมรับสภาพกันเป็นนัย ถ้าไม่มีเหตุแทรกซ้อนใดๆคงพอคาดเดาได้ว่าใคร จากพรรคไหนจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ส่วนรัฐบาลจะมีเสถียรภาพพอหรือไม่ จะอยู่ยาวหรืออยู่สั้นค่อยว่ากันอีกที

ทุกอย่างเป็นไปตามเส้นทางที่กติกากำหนดไว้

“ไฮโลเปิดถ้วยแทง” ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์

“นายกฯลุงตู่” ได้เบิ้ลเก้าอี้นายกฯรอบสองแทบจะแบเบอร์ แต่จุดสำคัญกว่านั้น ปัญหาใหญ่ โจทย์การบ้านยากๆที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเจอบนเก้าอี้นายกฯรอบสอง ที่ต้องเปลี่ยนสภาพจากผู้นำรัฐบาลทหาร มาเป็นผู้นำรัฐบาลเลือกตั้ง

ไม่มีขุนทหารรายล้อมเป็นเกราะกำบัง ต้องอยู่ท่ามกลางนักการเมืองเขี้ยวลากดิน

แถมไม่มีดาบอาญาสิทธิ์มาตรา 44 อยู่ในมือ

ขณะที่ขบวนการป่วน อาการ “ดื้อยา” ของฝ่ายต้านอำนาจท็อปบูตส่อหนักข้อขึ้นตามเงื่อนไขสถานการณ์ของผู้นำที่ลดโทนอำนาจพิเศษลงไป

หนทางที่เห็นอยู่ข้างหน้าเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม

ไม่ราบเรียบเหมือน “นายกฯลุงตู่ ภาคแรก”แน่

แต่เรื่องของเรื่อง มันก็มีมุมของผู้มีประสบการณ์ผ่านวิบากการเมืองมาโชกโชน อย่างที่ “สุริยะ” ประเมินสถานการณ์เลยว่า เสถียรภาพปริ่มน้ำไม่ใช่ปัญหาสำคัญ

ถ้ารัฐบาลมีผลงานดี แก้ปัญหาความยากจนได้ ประชาชนก็มั่นใจ

รัฐบาลและพรรคร่วมก็จะอยู่ได้นาน

แต่ถ้ามีเสียงข้างมาก ต่อให้มากกว่า 300 เสียงแล้วเข้าไปทำเรื่องไม่ถูกต้องเหมือนในอดีต ก็อยู่ได้ไม่นาน ที่สุดก็ต้องมีประชาชนออกมาต่อต้าน

ปรากฏการณ์มีให้เห็นมาแล้วทั้งอดีตรัฐบาลไทยรักไทย เพื่อไทย “สุริยะ” ไม่ได้อ้างลอยๆ

แน่นอน เรื่องเนื้องาน ทีม “ลุงตู่” ได้เปรียบ เพราะเป็นการบริหารต่อเนื่อง เมกะโปรเจกต์ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) โครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟไทย-จีน รถไฟฟ้า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สารพัดโครงการประชารัฐ ฯลฯ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เอื้อต่อการพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศรองรับโลกยุคใหม่

“ลุงตู่” ภาคสอง โดยกัปตันทีมเศรษฐกิจคนเดิม “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ลุยต่อยอดได้เลย

แต่อีกจุดที่สำคัญ นั่นก็คือ “ภูมิคุ้มกัน” ความโปร่งใส

ท่ามกลางกระแสสังคมจับจ้องตาไม่กะพริบ

แบบที่เห็นการตั้ง 250 ส.ว. แค่มีชื่อของ “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย “นายกฯลุงตู่” แพลมๆ มา ยังเรียกเสียงโห่ฮา วิจารณ์กันขรมในประเด็นความเหมาะสม ผลประโยชน์ทับซ้อน

โฟกัส ครม.ใหม่ ก็จับจ้องไปที่พี่น้อง 3 ป. “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะยังได้ร่วมขบวนไปต่อกับน้องเล็กหรือไม่

พี่ๆน้องๆยังเป็นจุดอ่อนของ “นายกฯลุงตู่”

ขณะเดียวกันก็เริ่มมีกลิ่นน้ำเน่าที่โชยมากับเกมต่อรองพรรคร่วมรัฐบาล แบบที่มีข่าวพรรคภูมิใจไทยต้องการคุมกระทรวงคมนาคม เล็งขุมทรัพย์เมกะโปรเจกต์ แต่พรรคพลังประชารัฐยอมให้ไม่ได้ เพราะจะเกิดภาพผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้บริหารพรรคภูมิใจไทยที่เป็นบริษัทรับเหมารายใหญ่ มีสัญญาสัมปทานกับรัฐ

นั่นก็เลยตามมาด้วยข่าว “ตัวแปร” ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา เดินเกมบีบ ตั้งขั้วที่ 3 กดดัน ขู่จะหันไปจับมือกับขั้วเพื่อไทย เปิดทางให้ “ทักษิณ” ชิงพลิกขั้วอำนาจ

พฤติการณ์นักการเมืองยุคพระเจ้าเหา ขัดกับสถานการณ์ห้วง “เปลี่ยนผ่าน” สำคัญของประเทศ

ท้าทาย “สัญญาณพิเศษ” ที่ขึ้น “บัญชีดำ” นักการเมืองพันธุ์เก่า ตัวก่อวิกฤติบ้านเมือง

สารพัดปมท้าทายมาตรฐานความโปร่งใส ถ้า “นายกฯลุงตู่” สามารถบริหารจัดการอำนาจได้ดี ยึดผลประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง โชว์ภาวะผู้นำที่เปลี่ยนผ่านจากทหารไปสู่รัฐบาลนักการเมืองเต็มขั้นได้อย่างเนียนๆ

ทำให้เกิด “ภาพลักษณ์” หล่อๆ หนุน “เสถียรภาพ” เสียงปริ่มน้ำ

การอยู่ยาวครบเทอมจะไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด.

“ทีมการเมือง”