“บิ๊กตู่” นัด คสช.-ครม.ถกสรุปผลงาน-แก้ไขคำสั่งมาตรา 44 รมต.แห่ยื่นใบลาออกไปนั่ง ส.ว.เกือบ 20 คน เหลือสิบกว่าคนอยู่ทำหน้าที่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ วิป สนช.แนะสมาชิกไขก๊อกเนิ่นๆ ปลอดภัยไว้ก่อน กกต.ดีเดย์ประกาศรับรองผล ส.ส.เขต ส่วนบัญชีรายชื่อปล่อยไปก่อนค่อยสอยทีหลัง ศาล รธน.นัดเลขาวุฒิสภาส่งบันทึกการประชุมคลี่ปมวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อนค.มั่นใจ “ธนาธร” ได้เข้าสภา “เรืองไกร” เบรก กกต.ชะลอรับรองผล ให้รอฟังคำวินิจฉัยศาล รธน.ก่อน ศึกชิงเก้าอี้หัวหน้า ปชป.มันหยด จับคู่เดินแต้มกันหนัก “จุรินทร์” แท็กทีม “เฉลิมชัย” “กรณ์” แตะมือ “ชัยวุฒิ” “อภิรักษ์” ผนึก “สาทิตย์” รอวัดใจสมาชิก

เกาะติดสถานการณ์การเมือง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ในวันที่ 7-8 พ.ค.นี้ จากนั้นจะเป็นการประกาศรายชื่อบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว. โดยมีรายชื่อบุคคลทั้งรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ สมาชิก สนช. อดีต สปช. อดีต สปท.ร่วมอยู่ด้วย

...

คสช.–ครม.นัดถกสรุปผลงาน

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 7 พ.ค.จะมีประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ปรารภว่าไม่ได้ประชุมร่วมกันเป็นทางการมานานแล้ว ดังนั้นหลังเสร็จสิ้นภารกิจงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก น่าจะสรุปการทำงานร่วมกันอีกสักครั้ง และจะได้มีการพิจารณาถึงการออกมาตรา 44 เพื่อลบล้างคำสั่งและประกาศ คสช. ที่ไม่จำเป็นตั้งแต่ปี 2557 ความจริงแล้วการประชุม คสช.เมื่อวันที่ 30 เม.ย. พิจารณาเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี อยากให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายหรือไอยูยู เพราะเดิมทีไม่คิดจะยกเลิก แต่ พล.อ.ฉัตรชัยเสนอขอให้ยกเลิกคำสั่งโดยขอให้มีเงื่อนไขเล็กน้อย จึงต้องหารือแก้ไขคำสั่งมาตรา 44 ที่จะออกมาลบล้างคำสั่งและประกาศ คสช.

รมต.จ่อยื่นใบลาออกเพิ่มนั่ง ส.ว.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม ครม. วันที่ 7 พ.ค. จะเป็นการประชุม ครม.ครั้งสุดท้ายของรัฐมนตรีบางคนที่แสดงเจตจำนงไปเป็น ส.ว. เพราะต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีก่อนที่จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในวันที่ 10 พ.ค. หากการพิจารณารายชื่อเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเป็นระยะเวลา 3 วัน หลังจาก กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 พ.ค. มีรายงานข่าวว่า วันที่ 7 พ.ค.จะมีรัฐมนตรียื่นใบลาออกอีกเกือบ 10 คน หลังมีข่าวรัฐมนตรีบางคนยื่นใบลาออก และได้ทยอยเก็บของออกจากห้องทำงานไปบ้างแล้ว โดยรัฐมนตรีที่มีชื่อจะไปเป็น ส.ว. อาทิ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ นายอุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม รักษาราชการแทน รมว.อุตสาหกรรม นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รมช.ต่างประเทศ

เหลือสิบกว่าคนอยู่ทำหน้าที่ต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากเป็นไปตามนี้จะเหลือรัฐมนตรีทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง นางชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ รักษาราชการแทน รมว.พาณิชย์ และในการประชุม ครม.จะพิจารณาผู้ที่มารักษาราชการแทน รมว.อุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม โดยมีรายงานข่าวว่านายกฯ จะนั่งรักษาการเอง

วิป สนช.แนะปลอดภัยไว้ก่อน

นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึงการประชุม สนช.นัดพิเศษ วันที่ 7 พ.ค. เพื่อพิจารณาทบทวนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับการปรับคำของกระทรวงการอุดมศึกษาว่า คาดว่าจะเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของ สนช. ก่อนที่ กกต. เตรียมประกาศรับรองความเป็น ส.ส.ในวันที่ 8 พ.ค. แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สนช.อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนถึงก่อนวันเปิดประชุมรัฐสภานัดแรก ตามข้อหารือของ สนช. จะไม่มีการประชุมใดๆหากไม่จำเป็น ส่วนกระแสข่าว สนช.หลายคนเตรียมยื่นใบลาออกในวันที่ 7 พ.ค. เพื่อเตรียมไปรับตำแหน่ง ส.ว.นั้น ไม่ทราบรายละเอียด ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ สนช. พ้นวาระก่อน 1 วันที่จะมีการเปิดประชุมสภานัดแรก หรือรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ส่วนตัวมองว่าเพื่อไม่ให้การไปดำรงตำแหน่งอื่นของ สนช.มีปัญหา หรือเพื่อความปลอดภัย สามารถลาออกจากตำแหน่งเก่าได้ก่อน เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของสมาชิก ไม่ทราบว่าจะมีใครยื่นใบลาออกบ้าง หรือมีชื่อใครถูกเลือกบ้าง

กกต.ดีเดย์รับรองผล ส.ส.เขต

วันเดียวกันที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการประชุม กกต.เพื่อพิจารณาแนวทางการประกาศรับรองการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ โดยสำนักงาน กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้งได้นำผลคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีคะแนนลำดับที่ 1 ของแต่ละเขตมานำเสนอ ให้ที่ประชุมตรวจทานความเรียบร้อยและความสมบูรณ์ของข้อมูล และวันที่ 7 พ.ค.เวลา 10.30 น. กกต. จะประชุมอีกครั้งเพื่อตรวจทานความเรียบร้อยเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นช่วงบ่ายจะแถลงข่าวประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตอย่างเป็นทางการร้อยละ 95 ซึ่ง กกต. จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการเลือกตั้งของแต่ละเขตที่ได้รับการรับรอง

รับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อไปก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคำร้องคัดค้านการรับรองผล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่ กกต.จะประกาศในวันที่ 8 พ.ค.นั้น ยังคงมีแนวโน้มว่า กกต.จะประกาศรับรองผลไปก่อน รวมถึงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูก ร้องคัดค้านกรณีถือหุ้นสื่อ ก็จะถูกประกาศรับรองผล ไปก่อนด้วย

ศาล รธน.นัดส่งบันทึกการประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลรัฐธรรมนูญว่า วันที่ 7 พ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญนัดให้เลขาธิการวุฒิสภา จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณามาตรา 128 และเอกสารที่เกี่ยวข้องมายื่นต่อศาล ส่วนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมคณะ กรธ. ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128มาให้ศาลเช่นกัน เพื่อให้ศาลพิจารณาลงมติในวันที่ 8 พ.ค. ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่

อนค.มั่นใจ “ธนาธร” ได้เข้าสภา

ขณะที่นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณี กกต. อาจประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ไปก่อน แล้วค่อยมาสอบทีหลังว่า กรณีดังกล่าวมีความพยายามให้คดีปกติเป็นเรื่องของการเมือง เพื่อสกัดไม่ให้นายธนาธรเข้าสู่สภา แต่เชื่อว่าเมื่อ กกต.ตรวจสอบและส่งเรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่มีปัญหาจนทำให้นายธนาธรต้องพ้นจากความเป็น ส.ส. เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยกรณีคู่สมรสรัฐมนตรีถือหุ้นในกิจการเอกชน เกินร้อยละ 5 คือ กรณีที่นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยาของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เนื่องจากมีการโอนหุ้นไปก่อนแล้ว กรณีนายธนาธรพบการโอนหุ้นทั้งหมดไปแล้วเช่นกัน แม้ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาจะเคยพิพากษาให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ขาดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. เพราะมีตำแหน่งในบริษัทก่อสร้าง ที่มีวัตถุประสงค์พื้นฐานว่าจะทำกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน ดังนั้นอาจนำมาพิจารณาเป็นเพียงรายงานประกอบเท่านั้น และเป็นกรณีเฉพาะรายเท่านั้น

ซัด “ปูเค็ม” แค่ป่วนปั่นกระแส

นายชำนาญยังกล่าวถึงกรณีนายทะเบียนพรรคอนาคตใหม่ ปฏิเสธการรับ ร.อ.ทรงกรด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรค ว่า กรณีดังกล่าวสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อนายธนาธร ได้ตามระเบียบของพรรค แต่เบื้องต้นพบว่า ร.อ.ทรงกรดนั้นมีความเป็นปฏิปักษ์กับพรรคชัดเจน เพราะเคยยื่นเรื่องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่มาแล้ว และตามระเบียบ ของพรรคกำหนดว่าบุคคลที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรค ต้องมีอุดมการณ์เดียวกันกับพรรค และไม่มีประเด็นที่เป็นปฏิปักษ์ ดังนั้นเรื่องดังกล่าวขอให้พิจารณาในรายละเอียด อย่ามองเพียงแค่ประเด็นการสร้างกระแสของผู้ประสงค์จะยื่นสมัครเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น

ติง กกต.รอฟังศาล รธน.วินิจฉัย

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นให้ตีความพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่ ในวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับที่ กกต. เคยยื่น ให้ตีความ แต่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าร้องผิดช่องทางนั้น แต่ กกต.กลับจะรีบรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เกรงว่าหาก กกต.รีบประกาศรับรองผลก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย อาจไม่เหมาะสม ไม่มีเหตุผลใดที่ กกต.รอไม่ได้ และ กกต.ควรตรวจสอบข้อร้องเรียนหลายร้อยเรื่องให้เป็นที่ยุติก่อน ทั้งกรณีการตรวจสอบผลคะแนนใหม่ กรณีคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. เรื่องการถือครองหุ้น ทุกคะแนนเสียงที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ถือว่ามีค่า หากแต่ละคะแนนยังตรวจสอบไม่ได้ว่าได้มาโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมหรือไม่ กกต.ไม่ควรประกาศผล เพราะคะแนน ส.ส.เขตผูกพันไปถึงการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาก กกต.ประกาศผลโดยไม่รอให้ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงยุติก่อน อาจถูกฟ้องร้องตามมาได้

ยื่นชะลอรับรองผล ส.ส.ไว้ก่อน

นายเรืองไกรกล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ยังมีว่าที่ ส.ส.เขต และว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อีก 10 คน เคยถือหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการสื่อสารมวลชน จะไปยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบเพิ่มเติมในวันที่ 7 พ.ค. พร้อมขอให้ชะลอการประกาศผลรับรอง ส.ส.ไว้ก่อน ให้รอฟังคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน และยังมีข้อมูลที่กำลังตรวจสอบกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอีกกว่า 50 คน ขอตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด กกต.ต้องรีบประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.เขตในวันที่ 7 พ.ค. ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 8 พ.ค. การประกาศรับรองผลก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ทำให้สังคมกังขาในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.

เชื่อกับดัก รธน.สร้างปัญหาอีกมาก

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีมีการร้องผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้นสื่อต่อ กกต.จำนวนมากนั้น มีความเชื่อมโยงกันระหว่าง ส.ส.แบบเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะคะแนน ส.ส.เขตต้องนำไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เรื่องร้องเรียนที่มีอยู่ยังไม่รู้ว่าจะมีปัญหามากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเอาบรรทัดฐานที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เคยสั่งเพิกถอนคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ก่อนหน้านี้ ก็น่ากังวลว่าหลายคนจะมีปัญหาถ้าอาศัยมาตรฐานเดียวกัน คะแนนที่จะนำมาคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อจะยังไม่นิ่ง เราไม่ทราบว่า กกต.คิดอย่างไร ต้องเร่งดำเนินการให้ชัดเจนซะก่อน ไม่เช่นนั้นจะยุ่งกันไปหมด นี่คือปัญหาที่เกิดจากการเขียนกติกาที่สับสน จนเกิดปัญหาวุ่นวายไปหมดในทางปฏิบัติ เชื่อว่าหลังจากนี้ด้วยกติกาที่เป็นอยู่ ยังมีปัญหาอีกมากที่เราคาดไม่ถึงรออยู่

“บิ๊กจิ๋ว” จัดวันเกิดชี้ทางออก ปท.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 15 พ.ค.นี้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี จะจัดงานฉลองวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 87 ปี โดยเวลา 06.30น. จะมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ที่บ้านนวมินทร์ กับครอบครัวคนใกล้ชิดเป็นการภายใน ช่วงเย็นจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ ออกการ์ดเชิญแขกที่สนิทสนมไปร่วมรับประทานอาหารค่ำ ที่โรงแรมสวนลุมไน้ท์บาซาร์ ถนนรัชดาภิเษก และจะใช้โอกาสนี้กล่าวสุนทรกถาถึงแนวทางที่จะเดินไปต่อของบ้านเมือง จากนั้นจะเป่าเค้กวันเกิดฉลองวันเกิด ร่วมร้องเพลงกับนักร้องกิตติมศักดิ์ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.อ.ชวลิต เคยเคลื่อนไหวเสนอแนวทางการตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจหรือรัฐบาลแห่งชาติมาแล้ว เพราะเชื่อมั่นว่าหลังการเลือกตั้งจะไม่มีพรรคการเมืองใดมีคะแนนเสียงมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ศึกชิง หน.ปชป.บี้กันมันหยด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคประชาธิปัตย์ ถึงความเคลื่อนไหวชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากทีมนายกรณ์ จาติกวณิช เปิดตัวนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ว่าที่ ส.ส.ตาก ร่วมทีมเป็นเลขาธิการพรรค ขณะที่ทีมนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค เปิดตัวนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรค ร่วมทีมเป็นเลขาธิการพรรค โดยแคนดิเดตทุกคนต่างใช้วิธีการนัดสมาชิกเป็นรายภาคหาเสียงภายใน ป้องกันปัญหาสร้างความแตกแยกไม่ให้ซ้ำรอยที่ผ่านมา ล่าสุดนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน หนึ่งในแคนดิเดตชิงหัวหน้าพรรค นัดสมาชิกกลุ่มภาคเหนือ ที่ร้านที เฮ้าส์ พระรามหก โดยมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ว่าที่ ส.ส.ตรัง อดีตแกนนำ กปปส. เป็นโต้โผใหญ่ช่วยรวบรวมสมาชิก นายสาทิตย์กล่าวยอมรับว่า สาเหตุที่ตอบรับร่วมทีมเป็นเลขาธิการพรรค เพราะเห็นว่านายอภิรักษ์แสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในพรรค 2 เรื่อง คือ 1.การฟื้นฟูพรรคหลังแพ้การเลือกตั้ง 2.การปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นทีมและสร้างความปรองดอง และมองมุมบวกกรณีที่นายอภิรักษ์ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะเชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่จะมีขึ้น มีอายุสั้น จะสามารถทุ่มเทฟื้นพรรค โดยไม่ต้องกังวลงานในสภาฯ

“อภิรักษ์” ชูฟื้นพรรคทำงานเป็นทีม

ขณะที่นายอภิรักษ์กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อสมาชิกภาคเหนือ ว่าจะมีนโยบายขับเคลื่อนพรรคไปสู่การปฏิรูป และเปลี่ยนแปลงพรรคให้ดีขึ้น เน้นผสานรอยร้าวความแตกแยก พร้อมวางแนวทางทำงาน ร่วมกันเพื่อให้พรรคมีความมั่นคง ส่วนประเด็นจะร่วมรัฐบาลสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯต่อหรือไม่ ยังไม่มีการพูดถึง เพราะมีมติพรรคแล้วว่าห้ามใช้ประเด็นนี้หาเสียง ส่วนทีมของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ก่อนหน้านี้นายถาวร เสนเนียม ว่าที่ ส.ส.สงขลา อดีตแกนนำ กปปส. ประกาศให้การสนับสนุน ยังไม่ยอมเปิดตัวคนที่จะมาเป็นเลขาธิการพรรค

“จุรินทร์” แท็กทีม “เฉลิมชัย”

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวว่า เหตุที่เลือกนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน มาเป็นเลขาธิการพรรคเพราะเข้าใจปัญหาเหมือนกันว่าจากนี้ไปการบ้านของพรรคไม่ได้มีเฉพาะแค่ภาคอีสานแล้ว เรายังมีการบ้านเพิ่มมาอีก 4 ข้อ คือ กทม. ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ เห็นตรงกันในแนวทางและวิธีการที่จะพัฒนาพรรค นายเฉลิมชัยเคยเป็นเลขาธิการพรรคมาก่อน ถือเป็นข้อดีมีประสบการณ์ และมีเสียงตอบรับในทิศทางที่ดี เชื่อว่าถ้ามีโอกาสกลับเข้ามาเป็นอีกครั้ง สามารถประสานงานกับสมาชิกทุกภาคได้ดี ถ้าตนมีโอกาสเป็นหัวหน้าพรรค การแสวงหาความร่วมมือสร้างความสามัคคีจะเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ให้ทุกคนมีที่ยืนช่วยกันทำงานให้พรรคเจริญก้าวหน้าต่อไป และในทีมมีการผสมผสานคนทุกรุ่น เพราะนี่คือจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องใช้จุดแข็งนี้มานำพาพรรคต่อไป แล้วเข้าไปนั่งในหัวใจของประชาชนอีกครั้งในระยะเวลาไม่นาน

“เสี่ยต่อ” ลั่นแนวทางตรงกัน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวว่า มีแนวทางทำงานเช่นเดียวกับนายจุรินทร์ เห็นพ้องกันว่าต้องสร้างความเชื่อมั่นฟื้นศรัทธาให้กลับมาอยู่ในใจประชาชน เชื่อว่าสุดท้ายสมาชิกทุกคนจะคิดได้ว่าเวลานี้เราไม่มีกลุ่ม ไม่มีพวก มีแต่พรรคที่เปรียบเสมือนบ้าน ทำอย่างไรให้บ้านเราแข็งแรง และคนในบ้านสามัคคี ขอให้มาร่วมซ่อมแซมบ้านให้แข็งแรงและอบอุ่น ให้เอาสิ่งที่ผ่านมาเป็นบทเรียนอย่าให้ซ้ำรอยเดิม การแข่งขันเมื่อจบแล้วทุกฝ่ายต้องยอมรับ ถ้าเราลดทิฐิและจับมือร่วมกัน เชื่อว่าเราจะเรียกฟื้นคืนศรัทธากลับมาได้ เมื่อถามว่าการเคยเป็นเลขาธิการพรรคมาก่อน จะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นหรือไม่ นายเฉลิมชัยตอบว่า ช่วงนั้นมีโอกาสทำงานแค่ระยะเวลาสั้น ครั้งนี้ต้องรอดูถ้าสมาชิกตอบรับให้ความไว้วางใจ เราต้องกอบกู้ประชาธิปัตย์ให้คืนความเชื่อมั่น ส่วนการจะทำให้พรรคชนะการเลือกตั้งนั้น ยังอีกยาวไกล และไม่ว่าใครจะ มาเป็นหัวหน้าพรรค ตนก็สามารถทำงานด้วยได้

ผู้ตรวจฯส่งตีความปมสรรหา ส.ว.

อีกเรื่อง นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ใช้ตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะนำคำร้องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 8 พ.ค. เพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย

ชี้เป้าประโยชน์ทับซ้อน พปชร.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นกรณีที่คณะราษฎรไทยแห่งชาติ นำโดยนายพลภาขุน เศรษฐญาบดี ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ขอให้ตรวจสอบการตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยอ้างว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และกรรมการทั้งหมดที่สื่อมีการเผยแพร่ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ และแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 269 (1) ที่กำหนดให้หัวหน้า คสช.ต้องตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง ต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ และจะทันตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้คัดเลือก ส.ว.ให้แล้วเสร็จ หรือไม่

อ่านข่าวล่าสุด เจาะลึกข้อมูลเลือกตั้ง 2562
https://www.thairath.co.th/election