งดงาม ศักดิ์สิทธิ์ ทรงคุณค่าเชิงอารยธรรม

ตามฉากพระราชพิธีสำคัญ สะท้อน “พลังแฝง” ของระบอบประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความผูกพันของประชาชนไทยกับสถาบันสูงสุด

“ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” กระตุกพวก “ประชาธิปไตยนิยม”

ในจังหวะที่โหมดการเมืองดำเนินคู่ขนานไปอย่างเงียบๆ ตามโปรแกรมที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประชุมกันในวันอาทิตย์ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเร่งพิจารณาสำนวนการร้องเรียนทุจริตเลือกตั้ง

“ชัก” ใบส้ม ใบเหลือง ใบแดง แจกผู้โชคดีทางบ้าน

ให้จบก่อนคิวที่ประกาศแล้วจะมีการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม ต่อด้วยการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อในวันที่ 8 พฤษภาคม ก่อน “เดดไลน์” ที่รัฐธรรมนูญล็อกไว้ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม

และโดยเงื่อนไขสถานการณ์ นั่นก็ล้อต่อเนื่องกันกับจังหวะที่รัฐมนตรีนับสิบรายในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่รู้ตัวชัวร์แล้วว่า ไม่ได้ “ตั๋ว” ไปต่อกับรัฐบาล “นายกฯลุงตู่” รอบสอง จึงได้ทยอยลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เก็บของออกจากห้องทำงาน

เคลียร์คุณสมบัติส่วนตัว เตรียมสลับฉากไปนั่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ว่ากันว่าจะเหลือรัฐมนตรีประมาณ 10 คน อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ฯลฯ

อาศัยช่วงการเมืองนิ่ง ชิงเหลี่ยมเล่นเร็ว ตามปฏิทิน “ไทม์ไลน์” ที่รู้กันในหมู่คณะรัฐมนตรีและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะมีการทูลเกล้าฯถวายรายชื่อ ส.ว. 250 คน ในวันที่ 10 พฤษภาคม

...

วันที่ 23 พฤษภาคม อาจจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา

และคาดกันว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 พฤษภาคม

จากนั้นจะทูลเกล้าฯถวายรายชื่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 มิถุนายน โดยคาดว่า ครม.ใหม่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 18 มิถุนายน

“ไทม์ไลน์” ล็อกวันเวลาชัดขนาดนี้

ถ้าไม่มีเหตุ “ฟ้าผ่าเปรี้ยง” กลางวันแสกๆ ขายบ้านแทงได้ ยังไงนายกฯก็ต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์

แม้จะมีจุดที่น่าเอะใจ ยิ่งกระบวนการชัดเจนว่า “ลุงตู่” ได้ไปต่อ มันก็ล้อกระแสข่าวปล่อยข่าวลือ ปล่อยปริศนาอักษรย่อ โยนชื่อจริงกันโต้งๆ

อ้างพวกขึ้นทางด่วน “ลอยฟ้า” ตัดหน้ายึดเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” คนนอก

ไม่บอกกล่าวเหตุผลที่มาที่ไป ตัดบทสั้นๆแค่ “ลุงตู่” ไม่ได้ไปต่อ

เพราะการเมืองขึงพืด จัดตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

ปั่นกระแสเสมือนหนึ่งว่า การเมืองมาถึงทางตัน ทั้งๆที่โดยสถานการณ์มันยังเปิดกว้างอีกหลายประตู ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส.ทั้ง 2 ระบบ ตามสูตรคำนวณ แบบจัดสรรปันส่วนผสม จะทำให้สมการเปลี่ยนไปแค่ไหนจากตัวเลขที่ต่างฝ่ายต่างปั่นแต้มปาร์ตี้ลิสต์กันแบบคิดเองเออเอง เข้าข้างตัวเอง

หรือถึงที่สุด ถ้าขั้วหนุน “นายกฯลุงตู่” รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ แต่ได้เสียง 250 ส.ว.บวกกับแต้มพรรคพลังประชารัฐ ดันขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย “ยุบสภา” วัดดวงกันใหม่อีกรอบ

เดินตามระบอบ ยึดกติการัฐธรรมนูญ เลือกตั้งไม่ได้ถึงทางตัน

เรื่องของเรื่องว่ากัน ณ เบื้องนี้ ตามสถานการณ์หลังวันที่ 8 พฤษภาคม นายกฯกับ ครม.ที่เหลืออยู่ 10 กว่าคน จะต้องประคองเกมบริหารรอรัฐบาลใหม่

พร้อมๆกับการฟอร์ม ครม.กันไป ต่อรองกันไป

โดยเงื่อนไขสถานการณ์โยงกับผลการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกหัวหน้าคนใหม่ในวันที่ 15 พฤษภาคม จะทำให้กลไกการจัดตั้งรัฐบาลเดินหน้า

ถ้าฝ่ายที่หนุนร่วมรัฐบาลกับ “ลุงตู่” ชนะ ก็เป็นข่าวดีประเทศไทย

เพราะจุดสำคัญ เงื่อนไขเร่งด่วนแบบที่เห็นๆกัน ตามรูปการณ์ที่รัฐมนตรีส่วนใหญ่ลาออกไปเป็น ส.ว. เหลือนายกฯกับ ครม.แค่ 10 กว่าคน บริหารแบบประคองตัวไปเท่านั้น

ถ้า ครม.ใหม่เกิดช้า การบริหารประเทศเดินเครื่องไม่เต็มสูบ

ตามสถานการณ์นับจากวันเลือกตั้งเดือนมีนาคมที่ความมั่นใจนักลงทุนเริ่มชะงัก จนถึงเดือนมิถุนายน ตามปฏิทินต้องมีรัฐบาลใหม่ นั่นหมายถึงเศรษฐกิจจะนิ่งเกือบครึ่งปี

หนีไม่พ้นโดนฝรั่งต่างชาติกดตัวเลขจีดีพีหดวูบแน่

แต่ทั้งหมดทั้งปวง จุดสำคัญเพื่อให้ทันกับกระบวนการที่นายกรัฐมนตรีของไทย ต้องทำหน้าที่ในฐานะประธานประชุมอาเซียนซัมมิตในช่วงวันที่ 22–23 มิถุนายน 2562

มันคือ “เส้นตาย” ต้องมี ครม.ก่อนเป็นประธานประชุมผู้นำอาเซียน.

ทีมข่าวการเมือง